Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนตามใจ ทำตามชอบ
•
ติดตาม
11 ก.ย. 2020 เวลา 23:09 • ประวัติศาสตร์
🍄สุดสัปดาห์พาเที่ยวไทย🍄ตอนที่ 2
“ วัดเชิงท่า กับเกร็ดชีวิตวัยเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
จากวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ ตุ๊กตุ๊กทัวร์ พาเราโลดแล่น ผ่านถนนสายเล็กๆ ที่มีต้นไม้เขียวครึ้มสองข้างทาง ถนนขรุขระ รถก็กระดอนขึ้นๆลงๆบ้าง ต้องนั่งชิดเข้าข้างใน และจับราวไว้ดีๆค่ะ😀
รถจอดที่ท่าน้ำเล็กๆ มีลานโล่ง กวาดสายตาไปทางซ้ายเห็นหมู่เจดีย์เก่า ที่หันหน้าสู่ ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี
ข้างหน้าเราคือ ศาลาการเปรียญที่ทอดยาวขนานไปกับแนวแม่น้ำ มีทางเดินเล็กๆคั่นอยู่
“ถึงแล้วค่ะ ศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า!”
ภาพจาก https://go.ayutthaya.go.th/แนะนำที่เที่ยว/วัดเชิงท่า-อยุธยา/
มาอยุธยาหลายครั้ง ไม่เคยได้ยินชื่อวัดนี้มาก่อนเลยค่ะ สงสัยไหมคะว่าทำไมถึงชื่อวัดเชิงท่า ?ฟังเหมือนอยู่ตีนท่าหรือ ไว้เชิงให้ท่ากันแน่?
เรื่องนี้หลวงจักรปรานี ได้เขียนไว้ใน นิราศทวารวดี ดังนี้
“ผู้ใหญ่เขาเล่ามาก็น่าเชื่อ ว่าครั้งเมื่อเมืองสนุกยังสุขสม มีเศรษฐีมีมั่งตั้งรวบรุม เงินตวงตุ่มเหลือล้นพ้นประมาณ มีบุตรสาวเล่าก็ไม่ให้ใครเห็น จึงสร้างเป็นปรางค์มาศราชฐาน อันนี้ไว้ให้ธิดาอยู่มานาน แต่หญิงพาลตามชายสูญหายไป เศรษฐีแสนแค้นคะนึงถึงลูกสาว ไม่ได้ข่าวคอยท่าน้ำตาไหล จึงอุทิศปรางค์มาศปราสาทชัย อันนี้ให้เป็นวิหารทำทานทุน ให้เรียกวัดคอยท่ามาชัดชัด กลับเป็นวัดเชิงท่านึกน่าหุน “(1)
สรุปว่าเศรษฐีสร้างเรือนหอใหญ่สวยงามรอท่า หวังว่าลูกสาวจะนำลูกเขยเข้ามาอยู่ในบ้าน แต่สุดท้าย“คอยท่า” น้ำตาไหล ลูกสาวหนีตามผู้ชายไป เศรษฐีจึงยกเรือนนี้ให้กับวัดที่ตนสร้างขึ้น ตั้งชื่อว่าวัด “คอยท่า” ต่อมา
กลายเป็นวัด “เชิงท่า”
1
ศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า อยุธยา
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างเมื่อไร
แต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างพุทธศักราช ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ มีหลักฐานว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาปานเป็นราชทูต กลับจากประเทศฝรั่งเศสแล้วได้ปฏิสังขรณ์วัดเชิงท่า และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโกษาวาส
วัดเชิงท่าจึงน่าจะสร้างก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“เห็นท่าน้ำที่วัดนี้ไหมคะ ?” พี่อ้อยชี้ไปที่ท่าน้ำ
“สมัยก่อนบริเวณแถบนี้เป็นชุมชนชาวจีน และเด็กเชื้อสายจีนก็จะมาบวชเณรที่วัดนี้”
“เด็กชายสินก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้มาบวชเณร และศึกษาวิชาต่างๆที่วัดเชิงท่านี้ เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ทองดีตั้งแต่อายุ 9 ปี “
“จนเมื่ออายุ 13 ปี เด็กชายสินผู้มีสมองที่ฉลาดปราดเปรื่อง ได้ตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนให้เณรน้อยใหญ่มาเล่นการพนัน
ในที่สุดพระอาจารย์ทองดีจับได้ จึงลงโทษทุกคน แต่ลงโทษสินหนักที่สุด โดยจับเอามือไปมัดคร่อมไว้ที่บันไดท่าน้ำของวัดนี้แหละ”
“แล้วเกิดอะไรขึ้นคะ?” พวกเราหูผึ่งคอยฟังเรื่องเล่าต่อ
“พระอาจารย์ก็ลืมสิคะ ...ขึ้นไปสวดมนต์จนถึงเวลาดึก จึงนึกขึ้นได้ว่าผูกลูกศิษย์ไว้ที่ท่าน้ำ ป่านนี้เป็นช่วงน้ำขึ้น น้ำจะท่วมมิดหัวหายใจหายคอออกไหม...”
ทั้งพระทั้งเณรวิ่งวุ่นจุดไต้ ไปออกันที่ท่าน้ำ ชะเง้อ ส่องดูสิว่า เด็กชายสิน ยังอยู่ดีหรือเปล่า...ทั้งบันไดทั้งคนหายไปจากท่าแล้ว..🙁
ทุกคนเดินเลาะริมตลิ่งไปเรื่อยๆ...จนพบสินลอยคอ ยังมีชีวิตอยู่! มือยังมัดกับขั้นบันได ซึ่งหลุดลอยออกมาจากท่าน้ำ ทำให้รอดพ้นจากการจมน้ำตายอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
เด็กชายสินผู้นี้ เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้กลับมาบวชเป็นภิกษุที่วัดนี้อีก 3 ปี และต่อมาก็ได้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้นำทัพเข้ามากอบกู้อิสรภาพหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 นามว่า
“🙏สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”🙏
หน้าจั่วของ ศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า อยุธยา
“สังเกตเห็นไหมครับว่า จั่วของศาลาการเปรียญแห่งนี้ แปลกกว่าที่อื่นอย่างไร?” ถึงคิวของอาจารย์วทัญญูบ้างค่ะ ท่านชี้ขึ้นไปข้างบนหลังคาให้พวกเราแหงนคอขึ้นไปมองตามอีก
“สามเหลี่ยมหน้าจั่ว ยื่นออกมาข้างนอก แล้วมีเสา2 ต้นทะลุหลังคาออกมารองรับค่ะ” นักเรียนเริ่มจะมองออก...แล้วหมายความว่าอย่างไรล่ะคะ?
“ลักษณะแบบนี้เรียกว่า มุขเด็จ”
“เอ้อ...อาจารย์คะ คนสมัยก่อนเขาก็มี มุกเด็ด เป็นทีเด็ดอะไรแบบนี้หรือคะ”
“โอ๊ะ..โอ๊ะ ไม่ใช่มุกเด็ด อย่างนั้นครับ “ อาจารย์ยิ้ม😀...” เด็จ ที่มาจาก คำว่าเสด็จ น่ะครับ เป็นมุขที่อยู่บนทางรับเสด็จ ถ้ามีแบบนี้ที่อาคารไหน แสดงว่าที่นั่นมีความสำคัญมากๆ “ ....
เราเดินเข้าไปข้างในศาลากันดีกว่าค่ะ..ทางเข้าเทียบได้กับชั้นสองของศาลา ใต้ถุนฐานเป็นซุ้มโค้ง โปร่งให้ลมผ่านได้ อย่าลืมก้าวให้พ้นธรณีประตูด้วยนะคะ..เขาห้ามเหยียบค่ะ ..ไม่รู้ว่าทำไม😀
ภายในศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า อยุธยา
พอเราก้าวเข้าไปแล้วเดินอ้อมมาดูด้านหน้า..ก็ต้องเบิกตาโพลง..ว้าว! เหมือนหลุดเข้าไปในอดีตกาลสมัยแม่การะเกดเลยค่ะ❣️
นั่งลงกับพื้นกระดานไม้...ซึมซาบบรรยากาศ ศาลาเพดานสูง เสากลม 14 ต้นเขียนลายไทยก้านแย่ง มีภาพเทพพนม
“ศาลานี้มีขนาด 5 ห้อง หรือคือ5 ช่วงเสานั่นเองครับ เราจะนับช่วงเสาที่ลงมาจากเพดานเต็มๆ ไม่นับส่วนที่เอียงๆ “อาจารย์วทัญญูเริ่มเล่า
2
สังเค็ดจำหลักไม้ ประดับกระจก
“สังเค็ดที่ตั้งอยู่กลางศาลาเป็นที่นั่งของพระสงฆ์ 4 รูป เป็นเอกลักษณ์งานไม้แกะสลักของอยุธยาแท้ๆเช่นกันครับ”
2
“ดูที่ทรงหลังคาก่อนเลย สังเกตไหมครับว่า ทรงหลังคาที่ซ้อนกัน มีส่วนโค้งงอนขึ้น ซึ่งแรกเริ่มมาจากงานผ้าที่ขึงให้งอนอ่อนช้อนขึ้นมาได้ พอเอามาทำเป็นงานไม้ ยิ่งต้องมีความละเอียดในการฝานไม้ให้โค้งได้รูปสวย” นักเรียนมองตาม รู้สึกเคลิบเคลิ้ม หลงใหลในฝีมือช่างศิลป์ที่เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด
“ส่วนฝ้าเพดานของสังเค็ดก็ทำจากไม้ไผ่ นำมาสานขัดแตะ”
“เห็นที่ฐานมีกระจกสีประดับไหมครับ เขาเรียกว่า กระจกเกรียบ “
“อุ๊ย! เหมือนข้าวเกรียบเลยหรือคะ”
“ไม่ใช่ครับ กระจกเกรียบ เป็นการทำกระจกแบบสมัยอยุธยา ที่จะทำเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยฉาบด้านหลังด้วยตะกั่ว แต่ละชิ้นจึงขนาดไม่คงที่ หนาบางไม่เท่ากัน ช่างต้องค่อยๆเอามาประดับประติดประต่อกันให้สวยงาม จะมีกระจกสีขาวกับเขียว”
งานประดับกระจกที่ฐานสังเค็ด
มูลี่ไม้ที่เก่าแก่ที่สุด ที่ยังใช้งานได้
ที่ผนังมีช่องหน้าต่าง 7 ช่อง มีแผงไม้เรียงกันเป็นบานเกล็ด คล้ายกับมู่ลี่ในปัจจุบัน
ด้านทิศเหนือมีอาสนะสงฆ์ยกพื้นสูง มีไม้สลักลายกั้นไว้ สามารถยกถอดออกมาได้
อาสนะสงฆ์
คราวนี้ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายดูจิตรกรรมฝาผนังกันค่ะ ถึงแม้จะลบเลือน ก็มีบางส่วนที่ยังมองเห็นภาพได้ เช่น ภาพเขียนบนบานประตูด้านนอกและด้านใน เขียนเป็นภาพเซี่ยวกางกับทวารบาล ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว
แต่มีภาพอยู่หนึ่งภาพ ที่เขียนลงบนบานประตูด้านใน ทางด้านทิศใต้เป็นลักษณะภาพเขียนแบบจีน
พี่อ้อยให้พวกเราดูสังเกตที่ภาพวาดในภาพวาดชิ้นนี้อีกทีค่ะ
ปริศนาภาพวาดเล็กๆที่ตั้งบนฐานไม้สีแดงนี้ คือภาพตึกที่ไหน? เป็นตึกทรงสมัยใหม่ อยู่ริมน้ำ ต้องเป็นท่าเรือที่ไหนสักแห่งหนึ่งแน่ๆ
แต่ศิลปินผู้วาดซึ่งน่าจะเป็นคนจีน เขาจะเคยเห็นตึกแบบนี้ที่ไหน นอกจากเขาจะเคยเห็นด้วยตาของตนเอง
ซูมเข้าไปอีกค่ะ เป็นตึก 13 ห้องที่อยู่ริมท่าเรือ มีธงชาติ 4 ผืนโบกสะบัดอยู่
ได้พยายามไปค้นหาว่าภาพนี้ตรงกับภาพจริงที่ไหนไหม ก็ยังค้นไม่เจอค่ะ กูเกิ้ลยังไม่ฉลาดพอ😀 เห็นจะต้องกลับไปถามอาจารย์วทัญญู กับพี่อ้อยก่อนนะคะ ว่าตึกนี้มีอยู่จริงที่ไหน ฟังแว่วๆว่าไฟไหม้ไปแล้ว ในปี....จดไม่ทันค่ะ
เราก็จะรู้ว่า ศิลปินผู้วาดภาพนี้จะต้องเกิดก่อนปีนั้นๆ และพอบอกได้ว่าภาพนี้เขียนขึ้นในสมัยใด....เฮ้อ!...เหนื่อยไหมคะ แต่สนุกนะคะ😍
🌺สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้คือ สายตาที่มองอย่างละเอียดละออ จะทำให้เราได้ข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติม🌺
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ศาลาการเปรียญ วัดเชิงท่า by เขียนตามใจ
แอบถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนังมาฝาก 2-3 ภาพค่ะ ภาพนี้น่าจะเป็นชีวิตประจำวันในตลาด มีคนขายกล้วย ขายปลา หญิงชายมาจับจ่ายใช้สอย การแต่งตัวของหญิง บางคนก็ผ้าสไบพาดอก บางคนก็เปลือยอก
มองออกไปทางช่องหน้าต่าง เห็นแม่น้ำลพบุรี by เขียนตามใจ
พี่อ้อยกำลังอธิบาย ให้สมาชิกฟังอย่างตั้งใจ
ระหว่างที่ฟังบรรยายช่วงท้ายๆ มีเสียงพระสวดมนต์ดังมาจากพระอุโบสถ แสดงว่า วัดเชิงท่านี้ยังมีพระสงฆ์อยู่
ออกจากศาลาการเปรียญปุ๊บ เขาก็ปิดประตูหน้าต่างปั๊บเลยค่ะ แสดงว่าได้เวลาเย็นย่ำ ใกล้ค่ำสุริยาจะลาลับแล้ว เรายังต้องไปวัดอีก 3 แห่งค่ะ
หมู่พระเจดีย์ วัดเชิงท่า อยุธยา by เขียนตามใจ
ขอบคุณ อาจารย์ วทัญญู เทพหัตถี ที่กรุณา ชี้ให้ชมความงามของศิลปะไทย ยุคอยุธยา
และ พี่อ้อย พิมพ์ประไพ ที่จัดทริป ในครั้งนี้ค่ะ🙏
🌸ยังไม่จบนะคะ เล่าต่อพรุ่งนี้ล่ะค่ะ 🌸
อ้างอิง
(1) หลวงจักรปาณี. นิราศทวารวดี. พระนคร : กรุงเทพการพิมพ์, ๒๕๑๒. หน้า ๒๒ - ๒๓ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราช ทานเพลิงศพ นายเอิบ ทังสุบุตร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๒)
2.
http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historicalpark/phranakhonsriayutthaya/ayutthaya-02/ayutthaya02-005/item/300-ayutthaya02-022
3.หนังสือเรื่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๗
1 บันทึก
14
10
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุดสัปดาห์พาเที่ยวไทย
1
14
10
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย