Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Gourmet Story
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2020 เวลา 00:32 • ไลฟ์สไตล์
”สลัดแขก” - อาหารที่รวมวัฒนธรรมหลายเชื้อชาติ
เราพูดถึงอาหารที่ทำจากหมูเห็ดเป็ดไก่และก็อาหารแป้งกันมาก็หลายตอน วันนี้เรามาพูดถึงอาหารประเภท "ผัก” กันดีกว่านะครับ รับประทานผักเพื่อสุขภาพกันบ้าง เราทุกคนรู้ดีว่าพืชผักทั้งหลายนั้นเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย จะได้ไม่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือที่เรียกกันว่า “โรค NCD” ถ้าคุณหมอรู้ว่าคนไข้เป็นแฟนคลับของ “Gourmet Story” ด้วยเดี๋ยวจะยิ่งไปกันใหญ่
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://food.grab.com/
พอพูดถึงอาหารผัก แทบทุกคนก็จะนึกถึงสลัด ซึ่งวันนี้เราก็จะมาคุยกันเรื่องของสลัดจริง ๆ ที่ไม่ใช่โจรสลัด แต่ทว่าเป็นสลัดอย่างหนึ่งที่อาจจะแตกต่างจากสลัดอย่างอื่น สลัดที่ว่านั้นก็คือ “สลัดแขก”
อาหารจานนี้ก็ทำขึ้นได้ง่ายแสนง่าย มีผักกาดหอมเป็นหลัก ตามด้วยหอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ และแตงกวา(บางคนก็บวกด้วยแครอทหั่นฝอย) มีครื่องประกอบอีกเล็กน้อยคือเต้าหู้กับไข่ต้มเท่านั้น ราดน้ำสลัดที่ทำจากถั่วลิสงและเครื่องแกงเหมือนกับน้ำจิ้มสะเต๊ะ โรยหน้าด้วย potato chips ก็เป็นอันเสร็จพิธี
สลัดแขกเป็นอาหารผักที่ “Gourmet Story” ชอบมาก เวลาเบื่อน้ำสลัดแบบฝรั่งพวก Ceasar, Thousand Island, Vinaigrette, French และ ฯลฯ ก็จะมากินสลัดแขกซึ่งน้ำสลัดไม่เหมือนใคร อร่อยกว่ากันเยอะเลย
ส่วนประกอบของสลัดแขกอย่างหนึ่งที่หน้าแปลกใจไม่น้อยก็คือ “เต้าหู้” เพราะเต้าหู้เป็นอาหารของคนจีน แต่ทำไมไปอยู่ในสลัดแขกของคนอิสลามได้? เราเคยพูดถึง “ข้าวพระรามลงสรง” ว่าเป็นอาหารจีนที่รับเอาวัฒนธรรมของคนอิสลามมา (ดู
https://www.blockdit.com/articles/5eff442cf35ba7160004af54
)
ในทำนองกลับกัน สลัดแขกก็อาจจะเป็นอาหารของคนอิสลามที่รับเอาวัฒนธรรมของคนจีนมาก็ได้ แลกเปลี่ยนกันไปมา ความจริงอาหารอิสลามที่ใส่เต้าหู้อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ก๋วยเตี๋ยวแขก” อันนี้ค่อนข้างจะชัดเจนเพราะคำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” ก็เป็นคำภาษาจีนอย่างแน่นอน
“สลัดแขก” อาจจะมีที่มาของการผสมผสานมากกว่านั้นด้วยการเป็นสลัดหรืออาหารผักของฝรั่ง แถมยังมี potato chips โรยหน้าเสียอีก ถ้าเป็นอย่างที่คิดเอาเองนี้จริง “สลัดแขก” ก็จะเป็นอาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมของหลายเชื้อชาติทีเดียว
Gado-gado ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.recipetineats.com/
ที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาก็มีสลัดอย่างหนึ่งคล้ายกับสลัดแขกเรียกว่า Gado-gado ส่วนประกอบของ Gado-gado นั้นจะประกอบด้วย ผักนึ่งหรือผักต้มหลายชนิดเช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ถั่วแถบยาว(string bean) ถั่วงอก และ ฯลฯ มีมันฝรั่งต้ม ไข่ต้ม ปิดท้ายด้วยเต้าหู้ทอด และก็มักจะใส่ถั่วหมักแห้งที่เรียกว่า tempeh ไว้ด้วย ที่สำคัญก็คือ น้ำสลัดซึ่งเป็นน้ำจิ้มสะเต๊ะทำจากถั่วลิสงเหมือนกัน เป็นอาหารขึ้นชื่อชนิดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียทีเดียว
ขณะเดียวกัน อาหารอินโดนีเซียก็ยังมีสลัดผักสดอีกชนิดหนึ่งชื่อ Karedok ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในเกาะชวาตะวันตก ประกอบด้วยผักต่าง ๆ คล้ายกับ Gado-gado แต่เป็นผักสด ราดด้วยน้ำสลัดที่เป็นน้ำจิ้มสะเต๊ะเหมือนกัน มีข้าวเกรียบโรยหน้าเหมือน potato chips จะเรียกว่าเป็น Gado-gado version ผักสดก็ได้
Karedok กับสลัดแขกคงจะเป็นญาติกันเพราะมีส่วนประกอบคล้ายกันหลายอย่าง ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดมีประชากรหลายร้อยล้านคน วัฒนธรรมมุสลิมของคนมาเลเซีย บรูไน ตลอดจนคนไทยในภาคใต้ก็คงรับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย
ส่วนผสมของ Karedok มีของไทยหลายอย่าง ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.tasteatlas.com/karedok
พูดถึง Gado-gado แล้วก็ทำให้นึกถึงอาหารพื้นบ้านของคนสงขลาอีกอย่างหนึ่งคือ “เต้าคั่ว”
“เต้าคั่ว” คล้ายกับ Gado-gado ตรงที่ประกอบด้วยพืชผักซึ่งได้แก่ ผักบุ้ง ถั่วงอก และแตงกวา แต่ไม่มีผักใบเขียวอย่างผักกาดหอมหรือกะหล่ำปลี มีเต้าหู้ทอด และไข่ต้ม แต่ที่พิเศษกว่าคือ มีกุ้งชุบแป้งทอดและเส้นหมี่ขาวใส่มาด้วย(บางสูตรก็มีใส่เนื้อหมู หูหมู หรือไก่) และน้ำสลัดของเต้าคั่วนั้นจะมิใช่น้ำจิ้มสะเต๊ะที่ทำจากถั่วลิสง แต่เป็นน้ำรสหวานที่ทำจากน้ำตาลโตนดผสมกับน้ำปลา ใส่น้ำเล็กน้อยแล้วเอาไปเคี่ยวให้เหนียว กับน้ำจิ้มพริก และกระเทียมตำ ดองน้ำส้มใส่เกลือนิดหน่อย เวลาจะทานก็เอาของทุกอย่างผสมกันแล้วก็ราดน้ำจิ้มทั้ง 2 อย่างลงไปคลุกเคล้ากันให้ครบรสทั้งหวาน เปรี้ยว เค็ม และเผ็ดนิด ๆ ให้รสชาติแปลกใหม่ไปอีกอย่างหนึ่ง
เต้าคั่ว ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.bloggang.com/
เต้าคั่วนั้นว่ากันว่าเป็นอาหารของชาวบ้าบ๋าย่าหยา(Baba-Nyonya) คือกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน และสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาโดยเป็นการนำเอาส่วนดีระหว่างจีนกับมลายูมารวมกัน โดยชื่อ "เปอรานากัน" ( Peranakan) ซึ่งมีความหมายว่า "เกิดที่นี่"
ใครเคยไปประเทศสิงคโปร์ ก็จะมีพิพิธภัณฑ์เปอรานากัน แสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเปอรานากันหรือบ้าบ๋าย่าหยานี้
ในเว็บบล็อก
Bloggang.com
เรื่องการทำอาหารของคุณระพีพรรณ เทพคุณ (พี่บีบิ๊ห์ บ่งบ๊ง) ได้บอกไว้ว่า “เต้าคั่ว หรือ ท่าวคั่ว …...จังหวัดสงขลาเรียก เต้าคั่ว, ภูเก็ตเรียก อูแช่ สุราษณร์ธานีเรียก ผักบุ้งไต่ราว, สตูลเรียก ปัสมอส อื่น ๆ ชื่อเรียกต่าง ๆ ก็ว่ากันไป”
อันว่าเต้าคั่วนี้เป็นอาหารโปรดของท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษอาวุโสทีเดียว เหตุก็คงจะเป็นเพราะท่านเป็นคนสงขลา หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐออนไลน์” ฉบับวันที่ 28 พ.ค. 2562 ลงเรื่อง "จานโปรดป๋าเปรม" เถ้าคั่ว-ข้าวยำ 2 ร้านสุดธรรมดา ใครมาสงขลาต้องลอง” โดยกล่าวถึงเต้าคั่วไว้ว่า
“....สำหรับจานโปรดเจ้าประจำที่ถูกปากถูกใจ "ป๋าเปรม" พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรียกได้ว่าทานมาตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น ทางทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ พาไปเปิดข้อมูลอาหาร 2 อย่างที่ป๋าชอบมาก ฝีมือชาวบ้านธรรมดาๆ ตั้งขายง่ายๆ แต่ป๋าติดใจไม่รู้ลืม
…………………………………………………………
เมนู "เถ้าคั่ว" หรือ เต้าคั่ว มีเฉพาะที่จังหวัดสงขลาที่เดียว ร้านนี้ชื่อว่าร้านป้าจวบ ตั้งอยู่บนถนนยะหริ่ง ตำบลย่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นร้านพื้นๆ ไม่ได้ติดแอร์หรูหราแต่ป๋าชอบกินมากๆ โลเกชั่นร้านตั้งอยู่ในถนนสายเก่าแก่ ติดอยู่กับถนนนางงามซึ่งเป็นถนนดังในสงขลา เมนู "เถ้าคั่ว" ไม่ได้หมายความว่าอาหารในจานต้องผ่านการคั่ว แต่เป็นเส้นหมี่ มีผักลวกนานาชนิด กุ้งชุปแป้งทอดกรอบๆ และหมูสามชั้น รวมไปถึงเต้าหู้ ราดด้วยน้ำหวานๆ คล้ายๆ น้ำจิ้มไก่ แต่รสชาติอร่อยกว่ามาก ก่อนทานต้องราดด้วยพริกน้ำส้ม …..
เถ้าคั่วในจังหวัดสงขลา มีหลายร้านหลายเจ้าซึ่งอร่อยเกือบทุกร้าน แต่เป็นที่รู้กันดีว่าป๋าเปรม จะชอบมาทานร้านนี้จนเรียกกันติดปากว่า "เถ้าคั่วป๋าเปรม" ทางร้านจะมีภาพป๋าเป็นป้ายใหญ่ติดไว้ด้านหน้า และป๋ายังถูกใจในรสชาติมาจวบจนวันนี้…..”
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://clubaroy.com/
จะเห็นได้ว่า แม้แต่อาหารจานผักอย่างสลักแขกที่แสนจะธรรมดาก็ยังมีเรื่องราวและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย เรื่องของอาหารจึงมีเรื่องราวให้เล่าสู่กันฟังได้อยู่เสมอ
วันนี้คุณกินสลัดหรือยังครับ?
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นความรู้ เล่าสู่กันฟัง
เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
https://www.blockdit.com/pages/5ec8e61ec4d9510ca73a2d34
4 บันทึก
25
12
5
4
25
12
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย