13 ก.ย. 2020 เวลา 11:00 • ดนตรี เพลง
EP.24 : “ภูเก็ต กับการเข้าสู่ยุคแข่งขันของสื่อวิทยุ”
พ.ศ. 2530 ผมเริ่มจัดรายการ ภูเก็ต มีสถานีที่ออกอากาศภาค F.M. อยู่เพียง 3 แห่ง
1. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของกรมประชาสัมพันธ์ ส.ว.ท. F.M. 96.75 MHz ขณะนั้นสัญญาณการกระจายเสียงยังรับได้ไม่ค่อยชัดเจน และรูปแบบรายการเน้นวิธีจัดโดยเจ้าหน้าที่ของสถานีฯเอง มี Studio อยู่บน “เขารัง” ผมจึงไม่ได้ขึ้นไปติดต่อ
 
2. สถานีวิทยุกระจายเสียงของกองปราบปรามกรมตำรวจ ส.ส.ส. F.M. 95.00 MHz สมัยนั้นสัญญาณการกระจายเสียงยังรับได้ไม่ค่อยชัดเจน รูปแบบรายการส่วนใหญ่เป็นเทปส่งมาจากส่วนกลางได้ยินโฆษณา “ห้างขายยาแก่นนคร” บ่อยมากและผมก็ไม่ได้เข้าไปติดต่อ ด้วย Studio ก็อยู่บนเนินเขาเหมือนกัน ทางขึ้นเขารังด้านข้างโรงพยาบาลวชิระ
 
3. สถานีวิทยุกระจายเสียงจากทหารเรือ ส.ทร. 3 F.M. 88.00 MHz ตอนนั้นถือว่าสัญญาณการกระจายเสียงรับได้ชัดเจนที่สุดบนหน้าปัดวิทยุ รูปแบบรายการก็หลากหลาย เปิดให้นักจัดรายการท้องถิ่นได้มีโอกาสมากขึ้น และที่สำคัญ Studio ไม่ต้องขึ้นเขา ผมจึงเดินทางได้สะดวกกว่าอีก 2 แห่ง
ก่อนที่ผมจะเล่าต่อไปถึงการทยอยเกิดของสถานีวิทยุภาค F.M. หลายแห่ง และนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมขอชวนฟังเพลงนี้ก่อนครับ
“The Spirit Of Radio” เป็น Single จากอัลบั้ม “Permanent Waves”
เมื่อ ค.ศ. 1980 ของวง Trio ที่ผมชอบมากและมักนำงานของพวกเขา
มาเปิดในคืนวันอาทิตย์ ช่วงรายการ “Sunday Special” ชื่อว่าคณะ
“Rush” เป็น Progressive rock จาก Canada ครับ
กลางปี พ.ศ. 2531 เกาะภูเก็ต เริ่มมีสถานีวิทยุที่ออกอากาศภาค F.M. ทยอยเพิ่มขึ้นทีละแห่งๆ อีกถึง 4 สถานี เริ่มจาก :
1.สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมอุตุนิยมวิทยา ส.อ.ต. F.M. 107.25 MHz
2.สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมไปรษณีย์โทรเลข 1 ป.ณ. F.M. 89.00 MHz
3.สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมการรักษาดินแดน ร.ด. F.M. 102.25 MHz
4.สถานีวิทยุกระจายเสียงองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย อ.ส.ม.ท.
F.M. 101.50 MHz
ที่สถานีวิทยุ ส.อ.ต. 107.25 MHz นั้นมี Studio อยู่ในเมืองภูเก็ต ถนนถลาง ใกล้ย่านเมืองเก่า ถือว่าเดินทางสะดวกที่สุด ผมมีโอกาสได้เข้าไปจัดรายการ ด้วย อา “ชายเนตร เนตรหาญ” ผู้อาวุโสของวงการฯ กรุณาจ้างผมช่วยจัดวันละ 1 ช.ม. เวลาประมาณ 11 โมงเช้า โดยมีเงินเดือนให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปิดแต่เพลงไทย ผมตกลงเพราะว่าต้องการรายได้เพิ่ม เพื่อรวบรวมไปจ่ายค่าเวลาที่ ส.ทร. F.M. 88.00 MHz ถ้าผมจำไม่ผิดสปอนเซอร์ของอาเขามี “อุทยานอาหารไทนาน” กับ “ห้างทองหยี่เต้ง” เพลงไทยที่ผมเลือกเปิด เช่น
-ศรีไศล สุชาตวุฒิ
-นัดดา วิยะกาญจน์
-จำรัส เศวตาภรณ์
-กุ้ง กิตติคุณ เชียรสงค์
-สุชาติ ชวางกูร
-เดอะฮอทเปปเปอร์ซิงเกอร์ส
-จันทนีย์ อูนากูล ...เป็นต้น
มีนักร้องไทยที่ผมชอบเสียง และขอเชิญฟังความไพเราะไปด้วยกัน คือ
“สุภัทรา อินทรภักดี” กับงานดนตรีประณีต ฝีมือ “อาจารย์ดนู ฮันตระกูล”
ผู้ร่วมสร้างสรรค์ กับบทเพลงชวนฝัน ชื่อ “ฉันจะฝันถึงเธอ” ครับ
ผมจัดรายการเพลงไทยอยู่ได้ไม่กี่เดือน ก็จำเป็นต้องหยุด
อา“บุญธรรม”ภรรยาของ อาชายเนตร แกบอก "ลูกค้ารายใหญ่ถอนค่าโฆษณา" แกต้องคืนเวลาให้สถานีฯ เลยจำเป็นเลิกจ้างผม แกยังระบายให้ฟังอีกว่า “เดี๋ยวนี้คนจัดรายการกันเยอะ สถานีก็เพิ่มขึ้น แก่งแย่งสปอนเซอร์กันจนไม่เห็นหัวคนเก่าคนแก่อีกแล้ว”
ที่บ้านอาชายเนตร ถนนสุรินทร์ ซอย 4 ผมเห็น อาบุญธรรม แกขะมักเขม้นกับ
การอบขนม “เต้าส้อ” ลูกเล็กๆ ใส่กล่องกระดาษสีขาวพื้นๆ ปั้มหมึกสีน้ำเงินชื่อ
ว่า “แม่บุญธรรม” ดูแล้วเป็นขนมที่ธรรมดามาก..
แต่รสชาตินั้น อร่อยถูกปากผมเป็นที่สุด ไส้เค็ม ที่เข้มข้นถึงพริกไทย ผมหา
เต้าส้อ ที่ไหนเทียบไม่ได้
ปัจจุบัน “เต้าส้อ แม่บุญธรรม” นั้นขึ้นชื่อ กลายเป็น
ของฝากสำคัญของเกาะภูเก็ตไปแล้ว และมีสาขาเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งด้วยกัน..
ส่วนผมนั้นยังไงก็กลับไปซื้อกับมือ อาบุญธรรม ที่สุรินทร์ ซอย 4 ครับ
ผมมีเพลงของ “จรัล มโนเพ็ชร” ที่มักหยิบมาเปิดเป็นกำลังใจให้ตัวเองอยู่บ่อยๆ เรามาฟังไปด้วยกันนะครับ “รางวัลแด่คนช่างฝัน”
“คุณตี๋” เป็นผู้จัดการส่วนธุรกิจ ในนาม “บริษัท สมาร์ท บอม จำกัด” ที่ประมูลได้เวลาของ สถานี ส.อ.ต. มาจัดสรร เขาก็พอจะฟังเพลงสากลอยู่บ้าง และติดตาม “Saturday Music” กับ “Sunday Special” ของผมที่ F.M. 88.00 MHz อยู่ เขาสนใจและอยากให้ผมได้มีเวลาทำรายการเพื่อสร้างสีสัน ที่ F.M. 107.25 MHz บ้าง จึงเสนอเวลาให้ผมในราคาที่พิเศษกว่าปกติ
พอดีผมมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าอยู่แล้วว่าจะทำให้ ภูเก็ตมี รายการวิทยุ
สำหรับนักท่องเที่ยว จึงตัดสินใจ ซื้อเวลา 19.00 – 22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์
มาผลิตรายการ ภาคภาษาอังกฤษ โดยมีขั้นตอน คือ
1. ผมคะยั้นคะยอให้ “พี่เทพ” ที่นับถือเป็นพี่และสนับสนุนผมมาตลอด ความ
ที่พี่เขามีภาษาอังกฤษดีมาก จบปริญญาโทมาจากเมืองนอก เพียงแค่ไม่มั่นใจ
ในการพูดแบบจัดรายการ ผมจึงใช้วิธีดังนี้
- เลือกข่าวจากหนังสือพิมพ์ “Bangkok Post” ทุกวันมา ให้พี่เขาอ่าน เป็น
ช่วง “update news”
- ให้สถานีรายงานอากาศ ส่งแฟกซ์มาเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน ให้พี่เขาอ่าน
เป็นช่วง “weather report”
- ข้อมูลท่องเที่ยวจาก free copy ภาษาอังกฤษ “South Thai” ให้พี่เขาอ่าน
เป็นช่วง “where to go”
- ให้ธนาคารส่งแฟกซ์ตารางแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศทุกวัน ให้พี่เขาอ่าน
เป็นช่วง “money exchange”
- ให้พี่เทพ เขียนสคริปต์ ที่แกจะต้องพูด สำหรับเปิดและปิดรายการ
- ส่วนผมจะเป็นคนกำกับ, เลือกเพลง และพูดแนะนำเพลง แทรกในระหว่างแต่
ละช่วงที่พี่เทพอ่าน
เพลงที่พี่เทพชอบให้ผมเปิด คือ “Moonlight Shadow” ผลงานของศิลปินแนว “New Age” ชื่อ “Mike Oldfield” ขอเชิญรับฟังครับ
2. ผมทำใบปลิว โฆษณาให้ติดตามรายการ เป็นภาษาอังกฤษ ไปติดและแจกตามบาร์เบียร์ทั่วป่าตองและสถานที่สำคัญต่างๆที่นักท่องเที่ยวต้องไป ตอนนั้นผมใช้ชื่อรายการว่า “Radio Phuket”
3. ซื้อข่าวจาก CNN ในสมัยนั้นสถานีข่าวจากต่างประเทศยังไม่ได้เข้าถึงตัว เราได้อย่างทุกวันนี้ ภูเก็ตเลยมีธุรกิจหนึ่งชื่อว่า “Road Runner” ของชาวอเมริกันที่มีภรรยาคนไทย เขาจะรับข่าวจาก CNN มาเป็นม้วน video เทป สัปดาห์ละครั้ง แล้วมาก็อปปี้ส่งต่อให้ตามบ้านที่บอกรับสมาชิก ได้ไปเปิดติดตามข่าวของสัปดาห์ก่อนหน้า CNN กำลังดังและผมก็เป็นสมาชิก ผมต้องไปหาที่เปิด video นั้น ตามร้านซ่อมเครื่องเสียงเพื่อจะได้ดูภาพเหตุการณ์ข่าวที่น่าสนใน แล้วขอให้เขาตัดบันทึกแต่เสียงช่วงนั้นใส่ลงใน cassette เทป เพื่อนำไปเปิดในรายการที่ตั้งเป็น ช่วง “CNN breaking news”
พ.ศ. 2532 “Radio Phuket” ที่ สถานี ส.อ.ต. F.M. 107.25 MHz เป็นรายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษ รายการแรกของเกาะภูเก็ต และเป็นรายการแรกที่สื่อสารโดยตรงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยตัวรายการนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ มีผู้ฟังชาวต่างชาติ โทรศัพท์เข้ารายการทั้งขอเพลงและพูดคุยมากมาย ที่มาเยี่ยมถึงสถานีก็มี ยังจำได้ว่าโทรศัพท์สายหนึ่งเป็นฝรั่งพูดให้กำลังใจว่า “ไม่นึกว่าจะได้ยินสิ่งนี้ บนเกาะเล็กๆล้อมรอบด้วยทะเล ห่างมาคนละซีกโลก..จงทำมันต่อไป”
ผมขอบอบเพลง “Rockin’ All Over The World” ให้กับเขาคนนั้น เวอร์ชั่นนี้
เป็นของ “Status Quo” วงร็อกจากอังกฤษ ครับ
แต่เมื่อมาดูในด้านของธุรกิจแล้ว “Radio Phuket” นั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
สปอนเซอร์เข้ารายการน้อยมาก ไม่คุ้มกับค่าเวลาเดือนละหลายหมื่น และต้นทุนในการผลิตรายการก็ค่อนข้างสูง ตอนนั้นผมคิดว่าเราควรทำต่อ ให้เวลาอีกสักหน่อย ทิศทางน่าจะมีความเป็นไปได้ เลยเจรจาต่อรองยืดการจ่ายค่าเวลากับ “คุณตี๋” ออกไปอีก
การเกิดขึ้นของ สถานีวิทยุ 1 ป.ณ. F.M. 89.00 MHz ที่ตามติดมาขณะนั้น ทำให้ผมต้องคิดใหม่ ด้วยฝ่ายธุรกิจที่ประมูลเวลามา ต้องการยึด Rating จากสถานีอื่นๆ โดยมอบหมายให้ พี่ขุนกับพี่อ๋วน ซึ่งเก่งอยู่แล้ว เป็นผู้ดูแลคุมการผลิตรายการเองทั้งหมด และมีผลกระทบกับ “Radio Phuket” อย่างจัง เพราะช่วงกลางคืน แกให้ฝรั่งมานั่งจัดเลย (ผมจำชื่อไม่ได้) ที่สำคัญเขาใช้วิธี ดักจับสัญญาณของสถานีข่าว BBC ออกอากาศแบบ Live ทุกๆชั่วโมง ตรงนี้ทำให้ผมต้องถอดใจ เพราะข่าว CNN ของผมนั้นแห้งมาเป็นสัปดาห์แล้ว มันมองไม่เห็นทางที่จะสู้ได้เลย
Radio Phuket F.M. 107.25 MHz จำเป็นต้องบอกลาผู้ฟังอย่างอาลัย ทิ้งไว้ซึ่งความทรงจำดีๆ กับหนี้สินก้อนโต ระหว่างผมกับ คุณตี๋ บริษัท สมาร์ทบอม จำกัด
การเกิดเพิ่มขึ้นของสถานีวิทยุแต่ละแห่ง นั้นมีเรื่องราวให้ได้นำมาเล่าขาน
จะเป็นอย่างไรต่อไป ขอได้โปรดติตาม สำหรับครั้งนี้ผมลาด้วยงานไพเราะ
ของคณะ “Dire Straits” กับเพลง “Why Worry ?” สวัสดีครับ
โฆษณา