13 ก.ย. 2020 เวลา 16:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราจะเอากรรไกรตัดกระจกได้หรือเปล่า??
คงรู้กันว่าไม่มีทางที่จะเอากรรไกรตัดกระจกแผ่นบาง ๆ ให้เป็นรูปร่างตามที่เราต้องการได้เหมือนตัดแผ่นกระดาษ แต่ยูทูปเบอร์ท่านนี้มีวิธี
วิธีการที่ว่าก็คือเอาลงไปตัดในน้ำครับ แม้จะไม่ได้ขอบเรียบกริบเหมือนเราตัดกระดาษแต่ก็ไม่เหมือนถ้าเราลองตัดแผ่นกระจกในอากาศแน่นอน
ไม่ต้องลองก็พอจะนึกออกกันนะครับว่าถ้าเอากรรไกรไปตัดแผ่นกระจกบาง ๆ ผลจะออกมาเป็นยังไง
เป๊ะ แผ่นกระจกแตกกระจาย
แต่ถ้าหากเอาแผ่นกระจกลงไปตัดใต้น้ำ ค่อย ๆ ตัดเล็มไปเรื่อย ๆ แม้ว่าแผ่นกระจกจะแต่ออกเป็นเศษเล็กเศษน้อย แต่ก็จะไม่มีการแตกออกเป็นแผ่นใหญ่จนเสียรูปที่เราอยากจะตัด
ค่อย ๆ เล็มขอบไปทีละนิดได้ ซึ่งถ้าตัดในอากาศคงจะทำแบบนี้ไม่ได้
และสุดท้ายเขาก็สามารถตัดแผ่นกระจกเป็นแผ่นกลมได้ แม้ว่าขอบจะไม่ได้เนียนกริบนัก
ตัดได้เป็นแผ่นกลมแบบนี้ได้ด้วย
ทั้งนี้วิทยาศาสตร์เบื้องหลังนั้นไม่ใช่เพราะว่าน้ำช่วยกดหรือยึดกระจกไม่ให้แตกออกเป็นแผ่นใหญ่แต่อย่างใด
แต่ตรงกันข้ามเลย เพราะมันเป็นเรื่องของพันธะเคมีระหว่าง ซิลิคอน ออกซิเจนและน้ำ ซึ่งเมื่ออยู่ใต้น้ำแล้วแผ่นกระจกจะแตกง่ายขึ้นกว่าในอากาศมากจากการที่น้ำเข้าทำปฏิกิริยากับซิลิคอนออกไซด์ในกระจก
จุดแดงตรงกลางคือรอยแตกเล็ก ๆ ที่ทำให้ไฮโดรเจนไอออนในน้ำสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับออกซิเจน
และเจ้าโมเลกุลน้ำที่เกิดในรอยแตกนี้ก็จะไปรบกวนการจับยึดกันของอะตอมออกซิเจนและซิลิคอนที่อยู่ใกล้เคียง
และสุดท้ายไฮโดรเจนก็จะไปแย่งจับกับออกซิเจนทำให้พันธะของซิลิคอนออกไซด์อ่อนแอลงเกิดเป็นรอยแตกต่อเนื่องขนาดจิ๋วเพิ่มมากขึ้น
นั่นจะทำให้ขอบแผ่นกระจกแตกง่ายกว่าในอากาศมาก ๆ และเป็นสาเหตุให้แผ่นกระจกไม่แตกเป็นแผ่นใหญ่เพราะรอยแตกไม่มีโอกาสขยายใหญ่จนทำให้แผ่นกระจกแตกเป็นแผ่นใหญ่ได้
และด้วยเหตุนี้เราจะออกแรงน้อยลงถึง 20 เท่าในการตัดเล็มขอบแผ่นกระจกเมื่อเทียบกับในอากาศ
หัวธนูแก้วของชาวอินเดียนแดงโบราณ
ซึ่งเทคนิคนี้บรรพบุรุษของเราก็รู้และนำมาใช้ในการทำเครื่องมือต่าง ๆ เช่นหัวธนูแก้วของชาวอินเดียนแดงก็ใช้การสกัดชิ้นแก้วในน้ำให้เป็นหัวธนูหรือปลายหอก
พอดีได้อ่านคอมเม้นใต้คลิปในยูทูป มีคนสงสัยว่าถ้าเอาไปจุ่มตัดในของเหลวอื่นที่ไม่ใช่น้ำ เช่นเอาไปจุ่มตัดในน้ำมันละจะให้ผลเหมือนกันหรือเปล่า?
ก็น่าคิดนะ ซึ่งก็มีคนมาตอบว่าไม่น่าจะตัดได้เหมือนในน้ำเพราะมันเป็นเรื่องของการทำปฏิกิริยาระหว่าง ไฮโดรเจน-ออกซิเจน-ซิลิคอน แต่ถ้าเป็นของเหลวอื่นที่มีไฮโดรเจนไอออนก็ไม่แน่
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ไปลองเองที่บ้านนะครับ เพราะยังไงก็แก้วก็คือแก้ว แตกแล้วมีคมบาดเราได้อยู่ดีแม้จะอยู่ในน้ำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา