16 ก.ย. 2020 เวลา 08:30 • การศึกษา
คะ ค่ะ นะคะ เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักและคิดถึง วันนี้เรามาพบกันช่วงกลางเดือนมิถุนายน คุณครูลิลลี่ก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะนำเอาเรื่องอะไรมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ดี ว่าแล้วก็ลองไปเปิดอ่านตามแหล่งโซเชียลต่างๆ อ่านไปอ่านมาก็ให้ไปสะดุดกับข้อความหลายๆ ข้อความในโลกโซเชียล ที่เห็นแล้วขัดหูขัดตาเป็นที่สุด นั่นก็คือ เรื่องง่ายๆ ของคำง่ายๆ ที่ใช้กันมากที่สุด นั่นก็คือคำว่า คะ และ ค่ะ โดยรวมไปถึง นะคะ ด้วย เพราะมีหลายครั้งที่เราจะเห็นคำว่า นะค่ะ ปนเปเข้ามาให้น่ารำคาญความรู้สึกของคุณครูภาษาไทยยิ่งนัก ว่าแล้วคุณครูลิลลี่ก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้จะไม่ขอไปไหนให้ไกลตัว แต่ขออนุญาตหยิบเอาเรื่องราวใกล้ๆ ตัวนี่แหละมาตีแผ่ และแบไต๋ให้ใช้กันได้อย่างถูกต้องเสียที ก่อนที่คำซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่ปล่อยให้ใช้กันไปอย่างผิด ๆ
ก่อนอื่นเราลองมาดูกันนะคะว่าคำเหล่านี้คำไหนสะกดถูก คำไหนสะกดผิด ลองดูนะคะ เช่น สวัสดีคะ ขอบคุณนะค่ะ ไปไหนค่ะ ขอโทษน่ะค่ะ บางคนบอกว่าดูหน้าตาการสะกดแล้วก็ไม่น่าจะมีคำไหนผิด ซึ่งจริงๆ แล้ว ผิดหมดค่ะ
เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าถึงเวลาที่เราต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่แล้วค่ะ คุณครูว่าเราต้องเริ่มจากการเขียนก่อนค่ะ หลายคนคงสงสัยว่า คำว่า คะ ค่ะ นะคะ เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่ บางคนเขียน "ค๊ะ" ใส่ไม้ตรีก็มี ซึ่งใครที่สงสัยเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูหลักภาษาไทยพื้นฐานนะคะ ไปดูที่เรื่องของ "อักษรสูง-อักษรต่ำ" และ "คำเป็น-คำตาย" รวมไปถึงการผันวรรณยุกต์ ตามปกติแล้วเราผันวรรณยุกต์ 5 เสียงกันจนชิน เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เพราะตัว "ก" ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นอักษรกลาง และเป็นคำเป็น เราเลยผันได้ 5 เสียงเต็มๆ แต่สำหรับ "ค" นั้น ตามหลักภาษาจัดให้เป็น "อักษรต่ำ" และถ้ามาผสมสระอะ เป็นคำว่า "คะ" ซึ่งนั่นเราถือว่าเป็น "คำตาย" เนื่องจากมีสระเสียงสั้น เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่า คำว่า "คะ" เป็นอักษรต่ำด้วย และเป็นคำตายด้วย การผันวรรณยุกต์จึงผันได้เพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น คือ "ค่ะ" (เสียงเอก) กับ "คะ" (เสียงตรี) ดังนั้น ถ้าเห็นที่ไหนเขียน "ค๊ะ" หรือ "นะค๊ะ" เติมไม้ตรีละก็ อันนี้ผิดแน่นอนค่ะ เพราะอักษรต่ำอย่าง "ค" จะผันด้วยไม้ตรีไม่ได้โดยเด็ดขาด อันนี้จำไว้เลยนะคะ
ทีนี้มาดูวิธีการใช้กันค่ะ คำว่า "คะ" ใช้กับประโยคที่ต้องการแสดงเสียงสูง อาจเป็นประโยคคำถามหรือเรียกด้วยความสุภาพ เช่น ไปไหนกันคะ ดูได้ไหมคะ คุณคะเชิญทางนี้ เป็นต้น
ส่วนคำว่า "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ รักค่ะ เกลียดค่ะ เชิญค่ะ จบค่ะ
และสุดท้าย คำว่า “นะคะ” จะใช้กับประโยคบอกเล่า หรือตอบรับเช่นกัน เช่น ขอบคุณมากนะคะ คิดถึงนะคะ เดินทางปลอดภัยนะคะ อันนี้บอกเลยว่า มีแต่ “นะคะ” คำว่า “นะค่ะ” ไม่มีค่ะ
คราวนี้เราลองมาดูการใช้ และวิธีการใช้จากในราชบัณฑิตกันสักหน่อยนะคะ คุณครูไปค้นมาเพิ่มเติมให้ ได้ความดังนี้ค่ะ ในเรื่องของคำลงท้ายหมายถึงคำที่ใช้ลงท้ายคำหรือประโยค ในภาษาไทยมีคำลงท้าย 2 ประเภท คือ คำลงท้ายที่ใช้แสดงความสุภาพ และคำลงท้ายที่ใช้แสดงสถานะของเหตุการณ์
คำลงท้ายที่ใช้แสดงความสุภาพในภาษาไทยใช้แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย คำลงท้ายที่ใช้ทั่วไป ผู้ชายใช้ว่า ครับ ผู้หญิงใช้ว่า ค่ะ เช่น ดิฉันไปค่ะ บางทีก็ใช้ในเชิงรับ เช่น ไปครับ ไปค่ะ หรือใช้ลงท้ายคำ “ละ” เป็น “ละครับ” “ละค่ะ” และถ้าหากว่าด้วยเรื่องของคำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ในการแสดงความสุภาพก็ยังมีอีกหลายคำ คือ คำว่า คะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ทานไหมคะ หรือใช้ลงท้ายร่วมกับคำว่า “นะ” เป็น “นะคะ” เช่น น่ารักนะคะ หรือใช้ลงท้ายคำว่า “ล่ะ” เป็น “ล่ะคะ” เช่น แล้วอันนี้ล่ะคะ นอกจากนั้นยังมีคำว่า “ขา” ที่ใช้ขานรับ เช่น ขา ได้ยินแล้วค่ะแม่ หรือใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น พ่อขาไปด้วยกันไหมคะ
ยังมีอีก 2 คำที่ผิดบ่อย ๆ คือ จ้ะ กับ จ๊ะ ที่เป็น ไม้โท กับ ไม้ตรี อันนี้จะเป็นคำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้กับคนที่สนิทสนมกันและใช้อย่างไม่เป็นทางการ คำว่า จ้ะ ใช้ในเชิงรับ เช่น ไปจ้ะ คำว่า จ๊ะ ใช้ในเชิงถาม เช่น ไปไหนจ๊ะ ส่วนคำว่า จ๋า ใช้ขานรับ หรือใช้ต่อท้ายคำเรียกขาน เช่น แม่จ๋า หนูคิดถึงแม่จ้ะ
เอาล่ะค่ะ ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เขียนให้ใช้กันได้อย่างถูกต้อง จริงๆ สิ่งหนึ่งที่คุณครูลิลลี่มั่นใจก็คือ อ่านเปล่งเสียง หรือ การออกเสียง ทุกคนออกเสียงถูกต้องแน่นอน แต่พอสะกดหรือพิมพ์ กระทั่งเขียน ก็จะมีติดนิสัย หรือไปตามความเคยชินกันบ้าง เพราะฉะนั้นเขียนมาให้อ่านกันแบบนี้แล้ว ก็ตั้งสติก่อนเขียน ใจเย็นๆ ก่อนพิมพ์ อย่าปล่อยให้ใจพาผิดไปแบบทุกครั้งอีก “นะคะ” จะได้ใช้กันไม่ผิด “ค่ะ” และ สวัสดีค่ะ
instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา