16 ก.ย. 2020 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
สายการบินปรับตัวอย่างไร เพื่อต่อชีวิตในวิกฤตครั้งนี้
เปิดกลยุทธ์ดิ้นหนีตายของ การบินไทย - ไทยแอร์เอเชีย
การดิ้นหนีตายของธุรกิจในยามเข้าตาจน หลายครั้งทำให้เราได้เห็นกลยุทธ์ใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ เพื่อที่จะหาช่องทางสร้างรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอด โดยหนึ่งในเคสที่น่าสนใจลองเจาะลึกดูในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นการปรับตัวของอดีตสายการบินแห่งชาติ “การบินไทย”
ก่อนจะไปถึงเรื่องของการปรับตัวว่ามีการทำอะไรบ้างนั้น ต้องย้อนกลับไปถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด - 19 ที่พาให้เกิดการพังพินาศไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินอย่างที่ทุกคนทราบกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการล็อคดาวน์ การปิดเมือง ก็ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศหยุดชะงัก การท่องเที่ยวเป็น 0 ถึงขนาดที่ว่านายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกปากว่า อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก ด้วยสถิติปี 2562 มีผู้โดยสารรวมเส้นทางการบินในประเทศกับต่างประเทศถึง 165 ล้านคนต่อปี คิดเป็นเที่ยวบินกว่า 1.43 ล้านเที่ยวบิน แต่พอโควิดระบาด จึงต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสารใหม่ใน 5 ปีข้างหน้า หากเป็นไปในทางที่เลวร้ายสุด ตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2563 จะอยู่ที่ 52 ล้านคน หรือลดลง 60% จากปีก่อน
1
ตัวเลขนี้ก็สอดคล้องกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ยอมรับว่า การท่องเที่ยวไทยถึงขั้น “โคม่า” หนักมากเฉพาะช่วงล็อคดาวน์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 70% โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 7 - 8 ล้านคนเท่านั้น
แม้ว่าตอนนี้ศาลล้มละลายกลางจะตัดสินให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่การปรับตัวของธุรกิจการบินไทย ก็ต้องพยายามหาทางขยับตัวดิ้นหนีตายกันสุดพลังมาสักพักใหญ่แล้ว ดูได้จากอะไรบ้างนะเหรอ?
เริ่มต้นด้วยประกาศ “โครงการ Together We Can” เพื่อลดปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเป็นมาตรการปรับลดเงินเดือนพนักงาน และค่าตอบแทนแบบขั้นบันได ระหว่าง 10 - 50% ในช่วงแรก และขยายเวลายาวออกไปอีกด้วย ซึ่งในระยะหลังที่สถานการณ์หนักข้อขึ้น ก็ปรับระดับขึ้นเป็น 40 - 70% ตั้งแต่บุคลากรระดับ EVP ที่เป็นสัญญาจ้าง ลดลง 70% ระดับ EVP ลดลง 50% และระดับ VP ลดลง 40% ซึ่งคำนวนออกมาแล้วพบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายไปเดือนละ 3,693,969 บาท
ส่วนพนักงานที่อยู่ในกลุ่มเงินเดือนและค่าตอบแทน ให้เพิ่มจำนวนวันลาโดยไม่รับค่าจ้าง ดังนี้
💥 ไม่เกิน 20,000 บาท ปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทนลง 10% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 1 วัน ซึ่งปรับลดไปได้ 3.33% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 1,217,876 บาท
💥 20,001 - 30,000 บาท ปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทนลง 10.01 - 15.00% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 2 วัน ปรับลดไปได้ 6.67% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 5,122,380 บาท
💥 30,001 - 40,000 บาท ปรับลดเงินเดือน 15.01 - 17.50% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 3 วัน ปรับลดไปได้ 10.00% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 9,428,529 บาท
💥 40,001 - 60,000 บาท ปรับลดเงินเดือน 17.51 - 21.66% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 5 วัน ปรับลดไปได้ 16.67% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 46,510,280 บาท
💥 60,001 -1 00,000 บาท ปรับลดเงินเดือน 21.67 - 27.00% ลาไม่ได้รับค่าจ้างได้ 6 วัน ปรับลดไป 20% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 72,064,488 บาท
💥 100,001 - 150,000 บาท ปรับลดเงินเดือน 27.01 - 31.33% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 8 วัน ปรับลดไป 26.67% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 18,298,112 บาท
💥 150,001 - 200,000 บาท ปรับลดเงินเดือน 31.34 - 33.50% ลาไม่รับค่าจ้างได้ 9 วัน ปรับลดไป 30% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 23,521,446 บาท
💥 200,001 บาทขึ้นไป ปรับลดเงินเดือน 33.51% ขึ้นไป ลาไม่รับค่าจ้างได้ 10 วัน ปรับลดไป 33% ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 81,310,366 บาท
1
เมื่อนำสัดส่วนของการปรับลดเงินเดือนของพนักงานทุกคนมารวมกันจะช่วยบริษัทประหยัดรายจ่ายได้เดือนละ 257,473,477 บาท ซึ่งถ้าเปรียบเป็นคนป่วยขั้นโคม่า มาตรการลดรายจ่ายข้างต้นทั้งหมดนี้ก็เหมือนเป็นการห้ามเลือดให้ไหลช้าลงเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ร่างกายฟื้นตัวได้ก็ต้องงัดกลยุทธ์หารายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรให้รอดก่อน ซึ่งท่อน้ำเลี้ยงที่พอจะหาได้ก็ไปตกอยู่ที่ฝ่าย "ครัวการบิน" อันเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้บริการ
1
การบินไทยเลยเปิดให้บริการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น “Line man” โดยงัดแคมเปญ “อิ่ม อร่อย อยู่บ้าน” มารับกับเทรนด์การสั่งซื้ออาหารที่เพิ่มขึ้นตอนเจอโควิดหนักๆ โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อเบเกอรี อาหาร เทคโฮม บ็อกเซ็ต รวมทั้งบรรดาเครื่องดื่มหลากหลาย จากร้านพัฟแอนด์พาย
เมื่อมีกระแสการตอบรับที่ดีจากแฟนคลับ ก็ขยับตัวขยายธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการรุกธุรกิจด้านอาหาร เปิดภัตตาคารการบินไทย ซึ่งมีการจำลองบรรยากาศเครื่องบินที่มาพร้อมกับสโลแกน “Royal Orchid Dining Experience” หรือ “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” โดยครั้งนี้ ถือว่าพลิกเกมหารายได้ใหม่เพิ่ม ให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศเสมือนว่าได้รับประทานอาหารบนเครื่องบินของการบินไทยให้หายคิดถึงกัน
ถามว่าจำลองบรรยากาศเหมือนขนาดไหน?...ก็เล่นใหญ่ถึงขนาดยกบันไดขึ้น - ลงเครื่องบินจริงๆ ที่ใช้บริการผู้โดยสารจากสนามบินมาไว้ที่สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต
1
ถัดมาบริเวณทางเข้าด้านในก็มีกัปตัน และแอร์โฮสเตส จิตอาสามาคอยต้อนรับ จนหวนคิดถึงบรรยากาศเดินเข้าเครื่องบินจริงๆ
ส่วนภายในก็จะมีเชฟนานาชาติของบริษัท มาคอยปรุงอาหารระดับพรีเมียมให้ได้รับประทาน แม้แต่เก้าอี้ โต๊ะ ของใช้ต่างๆ ที่นำมาตกแต่งล้วนเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินที่ได้ปลดระวางแล้ว แถมมีกิมมิกเล็กโดยให้ลูกค้าสแกน QR ดูด้วยว่า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบตกแต่งนั้นมาจากชิ้นส่วนไหนของเครื่องบินรุ่นอะไรอีกด้วย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนจากการเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินมาสู่ภัตตาคารจำเป็น จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยสามารทำยอดขายในส่วนของครัวภาคพื้นกลับคืนมาได้แล้ว 100% และเมื่อโมเดลนี้มันเวิร์ค ก็เตรียมแผนจะขยายไปยังสำนักงานของการบินไทยในสาขาอื่นๆ ทั้ง สีลม และหลานหลวง รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆ อีกด้วย
เมื่อครัวการบินทำได้สำเร็จ ฝ่ายอื่นๆ ย่อมขยับตัวตามไปด้วย โดยอีเว้นท์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดแพ็กเกจ “บินตามฝันกับห้องจำลองการบิน” หรือ Flight Simulator สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะมีประสบการณ์ด้านการขับเครื่องบินแบบเสมือนจริง เพื่อเร่งหารายได้เสริมในช่วงที่บริษัทฯ ยังไม่ได้ทำการบินตามปกติ โดยจะใช้ห้องฝึกมาตรฐานในระดับสากล ที่ปกติแล้วผู้มีสิทธิ์เข้าใช้สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะสำหรับการฝึกนักบินของการบินไทยเพียงเท่านั้น โดยการันตีว่าระบบมีความเสมือนจริงที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
และถ้าหากว่าประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กรได้อีกทาง แม้อาจจะไม่มากเท่ากับการเปิดการบินตามปกติ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนั่นเอง
ถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่ยังอยู่ภายใต้องค์กรแห่งนี้ ที่ออกมาช่วยกันทำทุกวิถีทางให้องค์กรยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ซึ่งผู้ที่สนใจอยากจะลิ้มชิมอาหารจากครัวการบินไทย ที่ปกติแล้วชนชั้นประหยัดอย่างเราๆ อาจไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสอาหารจากชั้นธุรกิจ หรือชั้นหนึ่ง ก็จะได้มีโอกาสลองชิมอาหารในชั้นที่เหล่านี้ในราคาที่จ่ายไหวแน่นอน เพราะปกติแล้วก็คงยากที่คนทั่วไปจะจ่ายเงินค่าโดยสารเพื่อนั่งคลาสที่สูงกว่าชั้นประหยัด และได้ชิมอาหารที่ดีกว่าการมาในกล่องฟรอยด์แบบที่เราคุ้นเคยบนชั้นประหยัดนั่นเอง และไปให้กำลังใจพนักงานที่ยังยืนหยัดต่อสู้ เพราะเท่าที่รู้หลายคนก็เป็นจิตอาสามาช่วยองค์กร เพราะยังรักในอาชีพของตัวเอง และแค่การได้มาทำหน้าที่เหมือนที่เคยทำตอนที่ยังบินอยู่บนท้องฟ้าได้นั้น แค่นี้พวกเขาและเธอก็มีความสุขที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว
ส่วนสายการบินอื่นๆ ในไทย อย่าง “ไทยแอร์เอเชีย” ก็มีเปิดบริการเดลิเวอรี่กับ Grab อาหารยอดฮิตบนเครื่อง เช่น เย็นตาโฟหม้อไฟผัดแห้ง ข้าวไก่เทริยากิ ข้าวผัดกระเพราไข่เจียว ข้าวเหนียวมะม่วงทูโก รวมถึงเมนูเอ็กคลูซีฟสุดฮิตจาก “แอร์เอเชีย Santan” (ผู้ผลิตเมนูอาหารของสายการบิน) นั่นคือ "ชานมไข่มุกบุก" Boba Thai Milk Tea ที่มีจุดเด่นคือบุกรูปเพชร มาพร้อมขนาดบิ๊กไซส์ 1 ลิตร หวังเกี่ยวกระแสชานมไข่มุกที่เติบโตในขณะนี้ด้วย
ด้านกลยุทธ์การเอาตัวรอดของไทยแอร์เอเชียก็งัดทุกกลเม็ดเด็ดพราย ที่เด่นๆ ก็คงหนีไม่พ้น "ตั๋วบินบุฟเฟต์” ซึ่งเรียกกระแสเงินสด ตุนเงินเข้ากระเป๋าจนทำรายได้เข้ามาหลักร้อยล้าน แม้จะตามมาด้วยปัญหาอย่างที่เห็นในโซเชียล แต่ก็ถือว่าเป็นแนวคิดของผู้บริหารที่น่าสนใจ เพราะเลือกที่จะไม่ปลดคน ไม่ลดคน เก็บทุกคนไปด้วยกัน เรื่องนี้ถือว่าได้ผลตอบรับหลายต่อมาก โดยต่อที่หนึ่งคือได้ใจพนักงาน อีกต่อที่ผู้บริหารมอง มาจากแนวคิดผู้เหลือรอดคนสุดท้าย “Last Man Standing” เชื่อว่าหากสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ จะทำให้เแอร์เอเชีย มาผงาดเป็นสายการบินที่แข็งแกร่งในอาเซียน พนักงานพร้อมหมด จะบอกว่าอาวุธครบมือในยามที่คนอื่นเสียขุนพลก็คงไม่ผิด เพราะการปั้นพนักงานใหม่ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกมหาศาล
วิกฤตโควิดที่กระทบต่อสายการบินครั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายต่างปรับตัว ดิ้นรนหนีตายกันถ้วนหน้า แต่ที่น่าสนใจคือ สายการบินใดจะอยู่รอดถึงวันที่ภัยโควิด - 19 สิ้นสุดลง และธุรกิจการบินจะกลับมาโลดแล่นบนน่านฟ้าได้อย่างสวยงามอีกครั้งหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันยาวๆ ต่อไปอีกหลายปีหลังจากนี้
ส่วนใครที่สมน้ำหน้าธุรกิจหรือคนในอาชีพนี้ ก็จงเตรียมตัวเองให้ดีเพราะโควิดมันไม่เลือกโจมตีว่าจะเป็นธุรกิจใด อาชีพไหน สักวันมันอาจจะถึงคิวของตัวคุณก็ได้ที่ต้องได้รับผลกระทบบ้าง...
“ในเมื่อเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราติดกันหมดค่ะ” เฌอเอมกล่าว
โฆษณา