Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประเสริฐ ยอดสง่า
•
ติดตาม
15 ก.ย. 2020 เวลา 23:53 • การศึกษา
บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร
บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร เป็นชุมชนที่ผ่านมิติธรณีวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ การตั้งถิ่นฐานของบรรพชนก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์นำหน้าโดยอารยธรรมทวารวดี เปลี่ยนมือมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม ส่งต่อไปยังอาณาจักรล้านช้าง เข้าสู่อารยธรรม แห่งรัตนโกสินทร์ตอนต้น จวบจนปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสกลนคร
บ้านท่าวัด ชุมชนริมฝั่งหนองหาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ชุมชนบ้านท่าวัด ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีเรื่องราวน่าสนใจหลากหลาย ที่ภาษาการท่องเที่ยวใช้คำว่า "จุดขาย” (Gimmick) องค์ประกอบทางธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ "หนองหาร” เป็นหลักฐานสำคัญทางธรณีวิทยาที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกตั้งแต่ยุคที่เป็นทะเล และยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดิน จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "หลุมยุบ” (Sinkhole) และความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบของทรัพยากรประมงน้ำจืด เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชุมชนรอบข้างมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จวบจนถึงยุคสมัยของเราๆท่านๆในปัจจุบัน เรื่องราวการกำเนิดหนองหารในภาพลักษณ์ของนิยายอมตะแบบจักรๆวงศ์ๆที่ตื่นเต้นเร้าใจ เล่าขานได้ชั่วลูกชั่วหลาน ของ "ท้าวผาแดง และนางไอ่คำ” ที่ผสมผสานระหว่างศาสนาความเชื่อ และการชิงรักหักสวาทระหว่างมนุษย์ธรรมดากับพญานาคผู้ทรงอิทธฤทธิ์
จนทำให้แผ่นดินล่มสายกลายเป็นทะเลสาปหนองหารหลวง ขณะเดียวกันก็ยังมีนิยายทำนองเดียวกันแต่เป็นอีกเวอร์ชั่นคือเรื่อง "พญาสุระอุทก” กับพญานาคธนมูล และฟานด่อน ที่สะท้อนยุคขอมเรืองอำนาจ หลักฐานทางโบราณคดี ที่ยืนยันว่าที่นี่มีการตั้งถิ่นฐานของบรรพชนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภายใต้ชื่อของ "วัฒนธรรมบ้านเชียง” ที่ทั่วโลกรู้จักดีในนามของมรดกโลก แสดงว่าดินแดนแห่งนี้เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้คนมาไม่น้อยกว่าห้าพันปี จากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญของสถาบันชิคาโก สหรัฐอเมริกา พบว่าโบราณวัตถุที่นี่มีอายุเก่าแก่ราว 5,500 ปี สิ่งที่หลงเหลืออยู่ของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และคำจารึก แสดงให้เห็นชัดเจนว่าชุมชนแห่งนี้เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอารยธรรมทวารดีที่นำพุทธศาสนามายังดินแดนแห่งนี้เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว และต่อเนื่องมายังยุคขอมเรืองอำนาจซึ่งมีทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู เรื่อยมายังยุคอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง ที่นำวัฒนธรรมและภาษาลาวเข้ามาฝังรากลึกในดินแดนแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน เจดีย์ หรือภาษาลาวล้านช้างเรียกว่า "พระธาตุ” ที่บ้านท่าวัด แม้ว่าสร้างในสมัยปัจจุบันแต่ก็สะท้อนให้เห็นอิทธิพลที่ยังไม่เสื่อมคลายของอาณาจักรล้านช้าง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เด่นชัดเห็นได้แต่ไกล สมกับเป็น Landmark ของสถานที่ เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายในราว ค.ศ.1432 หรือ พ.ศ.1975 อาณาจักรล้านช้างได้เข้ามาแทนที่ โดยมีศูนย์กลางอยูที่เมืองหลวงพระบาง
ดินแดนในภาคอีสานตอนบนจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของล้านช้าง และเป็นที่มาของวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งถึอศาสนาพุทธนิกายเถรวาท พูดภาษาลาว และสร้างเจดีย์ในรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า "พระธาตุ” มารู้จักกับบ้านท่าวัด ปัจจุบันบ้านท่าวัด แบ่งออกเป็น 2 หมู่ คือบ้านท่าวัดเหนือ หมู่ที่ 3 และบ้านท่าวัดใต้ หมู่ที่ 9 ตั้งอยู่ที่ริมหนองหาร ทางฝั่งด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองสกลนคร ขึ้นกับตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร ในราวยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นบริเวณบ้านท่าวัดกลายเป็นบ้านเมืองร้าง การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านท่าวัดที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 170 กว่าปีที่แล้ว โดยเป็นการอพยพเข้ามาของกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ เริ่มต้นจากเผ่าย้อ เผ่ากะเลิง ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร ห่างจากบ้านท่าวัดไปประมาณ 7-8 กม. โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งหนองหารบริเวณคุ้มวัดใต้ในปัจจุบันเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ ภายใต้การนำของนายเชียงนนท์ ต้นตระกูลของสกุล "นนท์สะเกต” จากนั้นมีอีก 2-3 ครอบครัวย้ายตามมา ได้แก่ต้นตระกูลของ หอมจันทร์ และสาขันธ์โคตร กลุ่มต่อมาเป็นเผ่าผู้ไท กะโส้ และลาว จากบ้านหนองผือ อำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งประสบกับความแห้งแล้งติดต่อกันหลายปี ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณคุ้มวัดเหนือ จากเสียงเล่าลือถึงความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีผู้คนจากทุกสารทิศ เช่น ชนเผ่าลาวจากอุบลราชธานีอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นและสืบเนื่องจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของหมู่บ้านแห่งนี้ จึงขอท้าวความตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาเรื่อยจนถึงยุคของจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ยุคดึกดำบรรพ์ หลายร้อยล้านปีก่อนดินแดนภาคอีสานทั้งหมดเป็นทะเล และถูกยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดินเรียกว่า "แอ่งโคราช และแอ่งสกลนคร” ราว 250 - 70 ล้านปีที่แล้ว ตรงกับยุคของไดโนเสาร์ที่มีชื่อทางวิชาการว่า เมโซโซอิก (Mesozoic) ดินแดนแถบนี้จึงมีหินเกลือสะสมอยู่ใต้ดินจำนวนมาก หลายแห่งหินเกลืออยู่ตื้นกลายเป็นพื้นที่ดินเค็ม หลายแห่งก็มีอุตสาหกรรมสูบเอาน้ำเค็มขึ้นมาตากแห้งทำเกลือสินเทาว์ เช่น อำเภอ คำตากล้า และอำเภอวานรนิวาส ขณะเดียวกันก็มีการขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์มากมายทั่วภาคอีสาน ที่จังหวัดสกลนครก็มีฟอสซิลจำนวนมากบริเวณบ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม
จากการที่มีหินเกลือสะสมอยู่ใต้ดินตื้นๆจำนวนมากบริเวณที่เป็นหนองหารในปัจจุบัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เรียกว่า "หลุมยุบ” (Sinkhole) กลายเป็นทะเลสาปตื้นๆขนาดใหญ่ และแปรสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงโดยลำน้ำก่ำ ในฤดูฝนมีน้ำขังเอิ่อล้นเป็นบริเวณกว้าง ส่วนฤดูแล้งน้ำไหลลงแม่น้ำโขงกลายเป็นบึงชื้นแฉะ หรือ”ป่าบง ป่าทาม” เหมือนกับบริเวณอำเภอ ศรีสงคราม ต่อมาในช่วงรัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ.ศ.2484 – 2496 ได้มีการสร้างประตูควบคุมระดับน้ำชื่อว่า "ประตูน้ำก่ำ” ต่อมาราว พ.ศ.2535 ได้สร้างประตูน้ำใหม่โดยใช้เงินกู้จากประเทศญี่ปุ่น ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นภาชนะดินเผา และเครื่องใช้ต่างๆ บวกกับการส่งตัวอย่างไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้รู้ว่าชุมชนที่บ้านท่าวัดมีอายุไม่น้อยกว่า 5,500 ปี ตรงกับยุควัฒนธรรมบ้านเชียงตอนต้น ซึ่งกำหนดอายุไว้ตั้งแต่ 5,600 – 3,000 ปี ยุคทวารวดี เป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางแล้วว่า อารยธรรม "ทวารวดี” มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย เข้ามายังประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่ 11 มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณจังหวัดนครปฐม และราชบุรี ส่วนในภาคอีสานศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "ฟ้าแดดสงยาง” อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และแผ่อิทธิพลมายังบริเวณบ้านท่าวัดในระยะต่อมา ด้วยอิทธิพลของอารยธรรมทวาราวดีทำให้ดินแดนบริเวณนี้เข้าสู่ "ยุคประวัติศาสตร์” เป็นครั้งแรกด้วยการมีศาสนาพุทธ และใช้อักขระแบบอินเดียโบราณ แม้ว่าเรายังค้น ไม่พบหลักฐานว่าผู้คนที่บ้านท่าวัดในยุคนั้นมีหน้าตาอย่างไร แต่จากหลักฐานเทียบเคียงจากศิลาจารึกและ รูปสลัก ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ทำให้ทราบว่าคนชั้นสูงที่มีอำนาจปกครองน่าจะเป็นชาวต่างถิ่นที่มีเชื้อสายอินเดีย ส่วนผู้คนทั่วไปประเภทชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆท่านๆ น่าจะเป็นคนในท้องถิ่นที่ยกระดับจากวัฒนธรรมบ้านเชียงและชุมชนที่ตั้งหน้าตั้งตาหาอยู่หากินไปวันๆโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก มาเป็นผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธ และดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองที่มีกฏระเบียบ มีรูปแบบการอยู่อาศัยเป็นตัวเมือง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเมืองราชธานี หลักฐานทางโบราณคดี เป็นแท่งเสมาสกัดจากหินทรายในรูปแบบศิลปะยุคทวารวดี ตั้งแสดงอยู่ที่บ้านท่าวัดเหนือ แสดงว่าบริเวณนี้ต้องเป็นศาสนสถานของพุทธนิกายเถรวาท ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 11 และเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันมาจนถึง พุทธศตวรรษ ที่ 15 จากนั้นอารยธรรมขอมก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ดินแดนหนองหารแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม เป็นที่น่าคิดอย่างหนึ่งว่า อารยธรรมทวารวดีที่แผ่เข้ามายังบริเวณริมหนองหารเมื่อพันกว่าปีที่แล้วจะต้องมีปัญหากับคนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนหรือไม่ เพราะดินแดนแห่งนี้ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าแต่มีการตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานในยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งนักวิชาการตั้งชื่อบรรพชนเหล่านี้ว่า "วัฒนธรรมบ้านเชียง" ในความเห็นส่วนตัวผมเชื่อว่ามีปัญหาแน่ๆเพราะสัญชาติญาณของมนุษย์ไม่ว่าจะมีอารยธรรมหรือบ้านป่าเมืองเถื่อนย่อมมีสิ่งเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ "หวงแหนในสมบัติ และดินแดน" เรื่องนี้ยังไม่มีการค้นคว้าอย่างเป็นทางการและยังไม่พบจารึกที่แสดงถึงการต่อสู้แย่งชิงดินแดน ผมขอยกตัวอย่างการเข้ายึดครองดินแดนในทวีปอเมริการะหว่างชาวยุโรปกับชนเผ่าพื้นเมือง มีการต่อสู้ด้วยอาวุธแต่ชาวยุโรปมีเทคโนโลยีทางทหารที่ดีกว่าจึงเป็นฝ่ายชนะและได้ครอบครองดินแดนเหล่านั้นเป็นอาณานิคม ส่วนเจ้าของเดิมก็ถูกเปลี่ยนฐานะเป็นประชาชนชั้นสองไปโดยปริยาย เป็นไปได้ว่าผู้เข้ามาใหม่ที่นักวิชาการตั้งชื่อว่า "ทวารวดี" มีอารยธรรมและระบบการเมืองการปกครองที่เพียบพร้อม จึงเอาชนะเจ้าของถิ่นเดิมไม่ยากนักและที่สุดชาวพื้นเมืองก็ถูกกลืนกลายเป็นประชาชนในอาณัติที่ต้องเข้าระบบการปกครองตามระเบียบ อย่างไรก็ตาม ผมก็มีอีกแง่มุมหนึ่งคือผู้มาใหม่เป็นชาวพุทธนิกายเถรวาทที่ยึดหลักธรรมะไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าฟัน อาจจะเปิดการเจรจาแบบสันติวิธีให้อยู่ร่วมกันได้ และก็ช่วยเหลือถ่ายทอดความรู้พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพื้นเมืองให้ดีขึ้น ที่สุดก็กลายเป็นสังคมเดียวกันและนับถือศาสนาพุทธอย่างถ้วนหน้าในรุ่นลูกรุ่นหลาน ยุคขอมเรืองอำนาจ เป็นที่ทราบดีว่าดินแดนหนองหารแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใต้อิทธิพลของอารยธรรมเขมรโบราณ หรือรู้จักกันอีกนัยหนึ่งว่า "ขอม” เราจึงมีโบราณสถานศิลปะขอมหลายแห่ง เช่น พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุดุม และพระธาตุเชิงชุมซึ่งถูกอิทธิพลศิลปะลาวล้านช้างสร้างรูปทรงพระธาตุคล่อมตัวปราสาทของเดิม จากข้อมูลการค้นคว้าทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า อิทธิพลของอาณาจักรขอมเข้ามาสู่ดินแดน หนองหาร ราวพุทธศตวรรษ ที่ 15 – 16 (พ.ศ.1400 – 1500) โดยเข้ามาแทนที่อารยธรรมทวารวดี ผู้คนก็ได้รับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ไปเป็นศาสนาฮินดูสลับกับศาสนาพุทธนิกายมหายาน ขณะเดียวกันการสร้างตัวเมืองริมฝั่งหนองหารก็เลียนแบบสถาปัตยกรรมของเมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอม มีคูเมืองรูปทรงสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าบริเวณบ้านท่าวัดถูกใช้เป็นที่ทำการเกษตรเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ พระพุทธรูปนิกายมหายาน ในรูปแบบพระโพธิสัตว์ศิลปะขอม สกัดจากหินทราย ตั้งแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒธรรม บ้านท่าวัดเหนือ เข้าใจว่าสร้างในสมัยของพระเจ้าสุริยะวรมัน ที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์ขอมที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน หรือไม่ก็ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธอีกพระองค์หนึ่ง ยุคอาณาจักรล้านช้าง ปลายพุทธศตวรรษ ที่ 19 อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงและอาณาจักรล้านช้างได้เข้ามาแทนที่ กษัตริย์ที่สำคัญของล้านช้างได้แก่เจ้าฟ้างุ้ม มีเมืองหลวงอยู่ที่นครหลวงพระบาง และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เวียงจันทร์
จากการค้นคว้าทางโบราณคดีพบว่าอิทธิพลของล้านช้างทำให้บริเวณบ้านท่าวัดเจริญขึ้นมาอย่างมาก และได้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง "ศรีเชียงใหม่หนองหาร” ศิลาจารึกอักษรไทน้อย ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีเชียงใหม่ บ้านท่าวัดใต้ แสดงถึงอารยธรรมของอาณาจักรล้านช้าง ที่ทำให้บ้านท่าวัดเจริญขึ้นเป็นเมือง ในราวพุทธศตวรรษ ที่ 22 โดยจารึกนี้ได้ระบุศักราช 998 ตรงกับปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ.2179 ยุคอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในช่วงปลายยุคอาณาจักรล้านช้างต่อเนื่องกับยุคต้นของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ อาจเกิดความไม่สงบขึ้นในดินแดนบ้านท่าวัด ทำให้กลายเป็นเมืองร้างไปช่วงหนึ่ง ต่อมาประมาณ 170 กว่าปีที่แล้วได้มีการอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ของชนเผ่าต่างๆ ดังนี้ การตั้งถิ่นฐานบ้านท่าวัดตั้งขึ้นบริเวณศรีเชียงใหม่ เริ่มต้นเมื่อประมาณ ๑๗๐ กว่าปี โดยมีร่องรอยของการตั้งชุมชนโบราณในอดีตให้ปรากฏเห็นในปัจจุบันคือ ฐานสถาปัตยกรรมที่ใช้วัสดุศิลาแลงของสิ่งก่อสร้างคงหลงเหลืออยู่ เป็นหลักฐานว่าที่บ้านท่าวัดมีผู้คนมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว โดยผู้คนที่อยู่บริเวณท้องถิ่นใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งก่อนและในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็ได้มีบุคคลที่อยู่ห่างออกไปได้ทยอยอพยพเข้ามาแล้วก็ได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าวัดเป็นหลักฐานว่าที่บ้านท่าวัดมีผู้คนมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้กล่าวว่าชุมชนแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๓ กลุ่ม ดังนี้คือ ชนกลุ่มแรก ได้แก่พวกเผ่าย้อ เผ่ากะเลิงจากบ้านงิ้วด่อน และคูสนามซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร จากบ้านท่าวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๗-๘ กม. ชนกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตอนใต้ของบ้านท่าวัด ริมฝั่งหนองหารโดยการนำของตาเชียงนนท์ซึ่งเป็นหัวหน้า เป็นต้นสกุลนนท์สะเกตด้วยเหตุผลที่ว่า บริเวณหนองหารแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์กว่าที่อยู่ก่อนครั้งแรกก็มี ๒-๓ ครอบครัวแล้ว ก็ติดตามกันเข้ามาและก็ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งหนองหาร ซึ่งเป็นคุ้มท่าวัดใต้ในปัจจุบัน เป็นต้นตระกูล นนท์สะเกต หอมจันทร์ สาขันธ์โคตร ชนกลุ่มที่สอง ได้แก่ พวกผู้ไทย กะโซ่และลาว จากบ้านหนองผือจากอำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านท่าวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๒๐ กม. เป็นชนกลุ่มที่สองที่พากันอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งหนองหารตอนเหนือบริเวณนี้จึงเรียกว่าคุ้มเหนือหรือคุ้มหนองผือหรือคุ้มผือด้วยเหตุที่พวกอพยพเข้าเป็นชาวบ้าน หนองผือเหตุผลที่อพยพเข้ามาก็เนื่องจากถิ่นฐานเดิมเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันมาหลายปี ขาดน้ำในการทำไร่ทำนาทำเกษตรไม่ได้ผล แต่พอทราบข่าวจากการลงมาหาปลาในน้ำหนองหาร แล้วกลับไปเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณหนองหารให้ฟังว่า ถ้าอยากอยู่ดีกินดีให้ไปอยู่เมืองศรีเชียงใหม่เป็นบ้านเก่าเมืองหลัง (เมืองฮ้าง) ในน้ำมีปลาในป่ามีสัตว์ แข้ก็หลาย คุ้มเหนือเป็นคุ้มที่มีคนอพยพเข้ามามากที่สุด พวกอพยพเข้ามาตอนแรกมียายบัว (พวกโซ่) ตาสีแพง ตาทิดสา ตาจันโท คำมั่นหล้า ยายพา ยายวันนา เป็นต้นตระกูล ทุมเชียงเข้ม ดาโอภา นานาวัน มูลทองสุข ดาบสมเด็จ มนต์อินทร์ ในปัจจุบัน ชนกลุ่มที่สาม กลุ่มชาติพันธุ์ลาวในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีพวกลาวจาก บ้านสร้างมิ่ง จังหวัดอุบลราชธานี อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าวัดหลังกลุ่มที่สอง เพียงไม่กี่ปี สาเหตุคือถิ่นเดิมเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันหลายปีเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่สอง ตอนแรกเข้ามาไม่มีนามสกุล โดยเข้ามาหักล้างถางพงจับจองที่ดินตั้งหลักแหล่งระหว่างคุ้มเหนือกับคุ้มใต้ ซึ่งต่อมาบริเวณดังกล่าวเรียกว่าคุ้มกลาง ต้นตระกูลของสกุลฮัมภาราช และดาบสีพาย จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้จึงได้กลายมาเป็นชุมชนบ้านท่าวัด ปัจจุบันได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒ หมู่คือ หมู่ ๓ และหมู่ ๙ ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร (พูลสวัสดิ์ มูลตองคะ : ๒๕๕๑) ส่วนนามสกุลที่อพยพเข้ามาภายหลัง ทั้ง ๓ กลุ่ม นี้คือกลุ่มบ้านท่าวัดน้อย มาจากจังหวัดศรีสะเกษ มาตั้งอยู่คุ้มเหนือก็มี แต่อยู่ไม่ได้เนื่องจากไม่ถนัดกับพื้นที่ทำมาหากิน จึงได้อพยพไปอยู่บ้านศรีวิชา นอกจากนี้ยังมีตระกูลชมชายผลมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าวัดนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุของการคมนาคม หนีสภาพความแห้งแล้ง ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต จึงได้มีการแสวงหาแหล่งที่อยู่ใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งพื้นที่แห่งใหม่ที่บ้านท่าวัดนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้หนาแน่น มีสัตว์ป่าและปลามากมายในหนองหาร มีน้ำสมบูรณ์ตลอดปี การอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่อยู่ใหม่ที่บ้านท่าวัดจะเห็นว่ามีกลุ่มคนสามกลุ่มคนที่เข้ามาตาม ทั้งนี้โดยชาวย้อสกลได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มใต้เป็นอันดับแรก ส่วนชาวบ้านหนองผือเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มเหนือเป็นอันดับที่สอง และพวกลาวจากจังหวัดอุบลเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มกลางเป็นอันดับสุดท้าย ปัจจุบันได้มีการอพยพผสมผสานกันทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มคน และสามารถดำรงชีวิตอยู่รวมกันได้อย่างผาสุก บ้านท่าวัดในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่ผสมผสานระหว่างชนเผ่าต่างๆที่ได้หลอมรวมกันเป็นราษฏรส่วนหนึ่งของจังหวัดสกลนคร ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีแต่ดั่งเดิมของตนไว้ ปัจจุบันหมู่บ้านท่าวัดได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ โดยการสนับสนุนของจังหวัดสกลนครร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ที่ไปท่องเที่ยวที่นี่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ 1.ธรรมชาติอันงดงามของบรรยากาศหนองหาร ทั้งยามเช้าและยามเย็น และหากได้มีการนั่งเรือชมทิวทัศน์ทางน้ำด้วยแล้ว จะได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้งได้ชมวิถีชีวิตการประมงของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ตลอดจนดอนที่อยู่กลางน้ำ 2.วัดเก่าแก่ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน อย่างวัดกลางศรีเชียงใหม่ และวัดบ้านท่าวัดเหนือ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคล้านช้าง อีกทั้งยังได้นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำบุญ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว อนึ่ง พิพิธภัณฑ์วัดกลางศรีเชียงใหม่ ได้จัดสร้างขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่ได้ทรงเสด็จนำคณะครูอาจารย์ และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มาศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2532 และจังหวัดสกลนครได้สนองพระราชดำริ จัดสร้างพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2534 3.สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาชนิดต่างๆ และงานฝีมือของท้องถิ่น จำพวกเสื่อกก ผ้าทอ กระติบข้าว รวมทั้งได้สัมผัสกับอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านตามฤดูกาล 4.แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนอื่นๆที่สามารถเชื่อมโยงกันทางเรือรอบๆหนองหาร ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของนิทานแห่งความรักอันลือลั่น ในเวอร์ชั่น ท้าวผาแดงและนางไอ่คำ บวกกับนิทานอมตะในเรื่องของพระยาสุระอุทก กับพญานาคธนมูล ซึ่งทั้งสองเรื่องลงเอยที่การกำเนิดหนองหาร และดอนต่างๆ ที่เราๆท่านๆเห็นในปัจจุบัน 5.สำหรับท่านที่สนใจในปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาก็จะได้สัมผัสกับผลพวงของ "หลุบยุบ” ที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เมโสโซอิก เมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว
youtube.com
บ้านท่าวัด ชุมชนริมฝั่งหนองหาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์
กดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ ช่อง #น้องมิ่ง_รัตนาภรณ์ https://www.youtube.com/channel/UC_gyWaMVh8EjAmYysJbMwDw?view_as=subscriber #บ้านท่าวัด #วัดกลางศรีเชียงใหม่
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย