17 ก.ย. 2020 เวลา 04:43 • ปรัชญา
โยคะ กับ สติปัฎฐาน 4
การทำสมาธิได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากนักจิตวิทยาและถูกจัดไว้ในแผนการบำบัดอาการผิดปกติทางจิตหลากหลายแบบ แม้แต่คนทั่วไปที่ศึกษาเรื่องการทำสมาธิก็สามารถใช้เพื่อการผ่อนคลาย (Relaxation) ได้
แต่สำหรับพุทธศาสนาแล้วการทำสมาธิเป็นวิธีหลักของการ ‘ตื่นรู้’ อันเป็นเส้นทางสู่การพ้นทุกข์ โดยมีรูปแบบเฉพาะตัวที่ต่างจากการทำสมาธิของศาสนาหรือทฤษฎีอื่นๆ มีชื่อเรียกว่า ‘สติปัฎฐาน 4’
พอพูดถึงคำว่า “ตื่นรู้” บางคนอาจไม่เข้าใจว่า การนั่งหลับตาทำตัวนิ่งเหมือนก้อนหินจะทำให้ตื่นได้ยังไง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องของการปลีกวิเวก หนีจากโลกความเป็นจริง หรือแม้แต่เป็นเรื่องลึกลับแนวพลังพิเศษอะไรนั่นไป
จริงๆ แล้วการทำสมาธิก็คือวิธีที่จะกำจัดสิ่งรบกวนออกจากจิต เมื่อจิตไม่มีสิ่งรบกวน ก็จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริง สามารถทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่หลักของมัน นั่นก็คือการ ‘รู้’
ซึ่งการรู้แบบนี้ก็เหมือนการว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน คือไม่สามารถสอนด้วยวาจาแล้วคนจะเข้าใจได้ ผู้ที่อยากเข้าถึงจึงต้องปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น
ที่เรียกว่า ‘สติปัฏฐาน 4’ ก็เพราะแนวทางนี้ต้องใช้ ‘สติ’ กับ ‘ฐานทั้ง 4’ ประกอบด้วย
กาย – การมีสติระลึกรู้ในร่างกายซึ่งเป็นส่วนที่จับต้องได้ รู้สึกได้ด้วยประสาทสัมผัสทางกาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย อิริยาบทต่างๆ โดยที่ ‘อานาปานสติ’ หรือการระลึกรู้ถึง ‘การหายใจเข้าออก’ นับเป็นวิธียอดนิยมของการปฏิบัติในฐานนี้ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย ก็มักจะอยู่ในฐานนี้เช่นกัน
เวทนา – การมีสติระลึกรู้ในความรู้สึก ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ
จิต – การมีสติระลึกในสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต เช่น ความคิด อารมณ์ ณ ขณะนั้น
ธรรม – การมีสติระลึกรู้ต่อธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โดยเฉพาะธรรมชาติ 3 ประการ อันเป็นคุณลักษณะของทุกสิ่งตามหลักของพุทธศาสนาที่เรียกว่า ‘ไตรลักษณ์’ นั่นคือ เปลี่ยนแปลงเสมอ (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และไม่มีตัวตน (อนัตตา)
ในฐานทั้งสี่ที่ว่ามานั้น ฐานกาย น่าจะรับรู้ได้ง่ายที่สุดเพราะเป็นรูปธรรมในขณะที่ฐานอื่นๆ จะเป็นแนวนามธรรม ซึ่งต้องอาศัยทักษะระดับสูงขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะยากเกินความสามารถของคนปกติ
เราลองมาดูสถานการณ์นี้กัน
คุณเพิ่งลงเรียนโยคะเพราะเคยได้ยินมาว่ามันมีประโยชน์หลายอย่าง
วันนี้ครูฝึกให้คุณทำ ’12 ท่า สุริยนมัสการ’ คุณยืนตัวตรง ส้นเท้าชิด พนมมือไว้ระดับหน้าอก จากนั้นก็ยกแขนขึ้น แล้วค่อยๆ โน้มตัวไปด้านหลัง พยายามให้แขนชี้ไปด้านหลัง พร้อมกับหายใจเข้าอย่างช้าๆ ตอนนี้ไหล่คุณตึงนิดหน่อย แต่ยังสบายดีอยู่
จากนั้นครูฝึกให้คุณโน้มตัวลงกลับมาข้างหน้าโดยที่ขายังคงตึงอยู่ คุณเห็นคนอื่นๆ โน้มตัวจนศีรษะแตะที่หัวเข่า ปลายนิ้วมือสัมผัสกับพื้น (เฮ้ย!!ทำได้ไง) แต่คุณเพิ่งโน้มมาได้ครึ่งเดียวก็รู้สึกว่าน่องตึงเปรี๊ยะ ครูฝึกบอกคุณว่า
“ก้มอีกนิดได้มั๊ยค้า” คุณพยายามอีกนิด
แต่จากอาการตึงเริ่มกลายเป็นเจ็บแปล็บๆ แล้ว ครูฝึกยังบอกว่า
“พยายามอีกนิดค่า” คุณคิดในใจว่า “นังนี่ มันซาดิสต์หรือเปล่าเนี่ย”
ไม่เป็นไร คุณพยายามทำตามไปเรื่อยๆ คิดในใจว่า “ชั้นมาทำอะไรที่นี่ว้า”
จนถึงท่าที่ 12
คุณคิดว่า “เอาล่ะ เสร็จซะที” แต่ครูฝึกซาดิสต์นั่นก็ยังไม่ยอมสั่งเลิก
แขนคุณสั่นไปหมด คอก็ตึง ขาก็ตึง คืนนี้คงจะปวดตัวทั้งคืนเหมือนครั้งก่อน
คุณคิดว่า “โอ๊ย..ไม่เอาแล้ว คลาสนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายแล้วล่ะ”
เอาล่ะ...นั่นเป็นเหตุการณ์ก่อนที่คุณจะรู้เรื่อง ‘สติปัฏฐาน 4’
คราวนี้กลับมาสถานการณ์เดิมอีกครั้ง
คุณยังรู้สึกเหมือนเดิม อาการปวดตึงของร่างกายส่วนต่างๆ ความรู้สึกหงุดหงิด เบื่อ ยังเหมือนเดิม
แต่แทนที่คุณจะมีปฏิกริยาอะไรกับอาการและความรู้สึกเหล่านั้น คุณเปลี่ยนเป็นสังเกตพวกมันเฉยๆ คุณเริ่มจับได้ว่า
คุณรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว (กาย)
คุณรู้สึกเจ็บที่น่อง (กาย + เวทนา)
เมื่อคุณเจ็บคุณรู้สึกโกรธ และคิดไม่ดีกับครูฝึก (กาย + เวทนา + จิต)
แต่สักพักคุณก็จับได้ว่าแล้วทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรคงที่ คุณเปลี่ยนท่าไปเรื่อยๆ จากเจ็บตรงนี้เปลี่ยนไปเจ็บตรงนั้น สุดท้ายทุกอย่างก็จะหายไป เหมือนธรรมชาติของทุกสิ่งที่จะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (กาย + เวทนา + จิต + ธรรม)
ถ้าคุณใช้เวลาในคลาสโยคะ มีสติจดจ่อกับ ‘ปัจจุบัน’ ที่คุณเป็นอยู่ตามเหตุการณ์ที่สอง บอกได้เลยว่าคุณกำลังได้ประสบการณ์ของการปฏิบัติ ‘สติปัฏฐาน 4’ แล้ว อย่างน้อยโยคะคลาสที่สองของคุณก็คงให้ความรู้สึกที่ดีกว่าครั้งแรก
ครูฝึกคงไม่ใช่นังซาดิสต์ ความเบื่อหน่าย ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่สักพักก็หายไป
คุณรับมือเรื่องไม่น่าพอใจได้ดีขึ้น
และถ้าคุณทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
คุณอาจก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดทางศักยภาพของจิตนั่นคือ ‘การตื่นรู้' ได้เหมือนกัน
โฆษณา