18 ก.ย. 2020 เวลา 03:00 • การเมือง
หลักการจีนเดียวคืออะไร? ทำไมจีนอื่นห้ามเป็นประเทศ?
123RF
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ถ้าคุณผู้อ่านเคยไปทำวีซ่าเพื่อที่จะเดินทางไปไต้หวัน อาจเคยเห็นและสงสัยว่า ทำไมออฟฟิศของไต้หวันที่ตั้งอยู่ในประเทศของคุณ ไม่ได้ใช้คำว่าสถานทูตไต้หวัน หรือสถานทูตสาธารณรัฐจีน แต่ตั้งชื่อเป็นสํานักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าประเทศไทยเคยมีสถานทูตสาธารณรัฐจีนอยู่จนถึงปี 1975 หรือ 2518 แต่หลังจากรัฐบาลนั้น รัฐบาลไทยก็เลือกจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ ที่เราเรียกกันติดปากว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น ตามนโยบายจีนเดียว ไทยจึงต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าไต้หวัน และในปัจจุบันก็มีเพียงไม่ถึง 20 ประเทศที่ยังมีสถานทูตของสาธารณรัฐจีนตั้งอยู่ และในประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ก็เพราะนโยบายจีนเดียวเช่นกัน
WIKIPEDIA PD
จุดเริ่มต้นของนโยบายจีนเดียวเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศจีน ซึ่งตอนนี้ยังเป็นสาธารณรัฐจีน ก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียง ไคเชก และพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมา เจ๋อตง สุดท้ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ชนะสงคราม เจียง ไคเชกและพรรคก๊กมินตั๋งก็เลยหนีจากแผ่นดินใหญ่ไปตั้งหลักที่ไต้หวัน และย้ายทั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนไปที่ไต้หวันด้วย ส่วนเหมา เจ๋อตงก็ตั้งระบอบใหม่ที่เรียกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาในปี 1949 ตั้งแต่วันนั้นในโลกนี้ก็มีสองจีน นั่นก็คือสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่บนแผ่นดินใหญ่ ทั้งสองจีนก็ต่างย้ำว่าในโลกนี้มีประเทศจีนเพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือก็คือตัวเอง และสักวันหนึ่งฝ่ายตนก็จะชนะและผนวกดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่งมารวมกับตัวเอง แนวคิดนี้เรียกว่าหลักการจีนเดียว หรือ One China Principle ซึ่งก็คือ ในโลกนี้มีประเทศจีนเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นจีนไหน ทั้งไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของจีน
ในช่วงสงครามเย็นโลกถูกแบ่งออกเป็นสองค่าย ซึ่งก็คือค่ายเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเป็นประเทศที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาอย่างยาวนาน หลังจากคอมมิวนิสต์จีนได้เป็นรัฐบาลที่ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว สหภาพโซเวียตก็รับรองทันที แล้วพยายามจะให้จีนคอมมิวนิสต์ได้ที่นั่งในสหประชาชาตแทนจีนไต้หวัน และย้ำอยู่เสมอว่าการให้จีนไต้หวันเป็นตัวแทนของประเทศจีน เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันฝ่ายสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน แม้ไม่อยากตามใจสหภาพโซเวียต แต่จริงๆ ก็ไม่สนใจจะช่วยรัฐบาลของเจียง ไคเชกสักเท่าไหร่ สรุปว่าปล่อยให้สองฝั่งของสู้กันเอง แล้วคอยดูว่าใครจะชนะ ในห้วงเวลานั้น ไต้หวันจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกคอมมิวนิสต์จีนข้ามมายึดกลับไปได้ตลอดเวลา แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นจนทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่อประเทศจีน เหตุการณ์นั้นก็คือ สงครามเกาหลี
ในปี 1950 คิม อิล-ซุง ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ก็ได้เข้ารุกรานเกาหลีใต้โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสหภาพโซเวียต คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงตอบโต้ด้วยการลงมติอนุญาตให้ส่งทหารเข้าไปช่วยเกาหลีใต้ โดยขาดเสียงจากสหภาพโซเวียต เพราะสหภาพโซเวียตกำลังคว่ำบาตรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอยู่ จึงไม่ได้ร่วมประชุมด้วยเหตุประท้วงเรื่องผู้แทนของจีนหรือนโยบายจีนเดียว
การเกิดขึ้นของสงครามเกาหลี ในมุมมองของสหรัฐอเมริกา คือฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังจะขยายอิทธิพลทั่วโลก และทหารและความช่วยเหลือต่าง ๆ จากสหประชาชาติจำเป็นต้องผ่านช่องแคบไต้หวันเพื่อให้ไปถึงคาบสมุทรเกาหลี ไต้หวันจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้ทรูเมนตัดสินใจว่าจะไม่ให้คอมมิวนิสต์จีนข้ามช่องแคบและยึดไต้หวันได้โดยสั่งการให้กองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาไปประจำการที่ช่องแคบไต้หวัน เพื่อปกป้องและดูแลความสงบเรียบร้อย
WIKIPEDIA PD
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยืนยันที่จะปกป้องไต้หวันไม่ให้ตกเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะช่วยเจียงไคเช็คให้กลับไปปกครองแผ่นดินใหญ่ เพราะดูยังไงก็ไม่คุ้มค่า การสูญเสียน่าจะสูงและความเป็นไปได้ที่จะชนะค่อนข้างต่ำ ทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดของสหรัฐอเมริกาก็คือ ให้แยกกันอยู่ไปแบบนี้แหละ และเผื่อว่าเจียง ไคเชกแพ้คอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาจริง ๆ สหรัฐอเมริกาก็ยังมีการประกาศเผื่อไว้ด้วยว่า สถานภาพของไต้หวันนั้นยังไม่ได้ถูกกำหนด ควรรอให้สถานการณ์ในภูมิภาคสงบก่อนแล้วค่อยตกลงกันอีกครั้งที่สหประชาชาติ ซึ่งก็ทำให้เจียงไคเช็คไม่พอใจเป็นอย่างมากเพราะสถานการณ์ดังกล่าวขัดกับหลักการจีนเดียวของสาธารณรัฐจีน แต่ในขณะเดียวกันเจียงไคเช็คก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่น สุดท้ายก็ต้องยอมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาไปพลาง ๆ ก่อน รัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋งจึงสามารถอยู่ที่ไต้หวันต่อไปได้
ทางฝั่งของสหประชาชาติ เมื่อรับจีนไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกภายใต้หลักการจีนเดียว ก็หมายความว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ จีนคอมมิวนิสต์ก็จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกไม่ได้ เพราะยืนยันนโยบายจีนเดียวเช่นกัน สถานการณ์ก็ตึงเครียดกันไปแบบนี้อยู่ถึง 10 ปี การประชุมสหประชาชาติก้ต้องมีการอภิปรายกันเรื่องความเป็นตัวแทนของจีนทุกปี ประเทศในค่ายของสหรัฐอเมริกาพยายามเลื่อนการโหวตรับรองเรื่องดังกล่าวออกไปทุกปี แต่ประเทศสมาชิกที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนของจีนตามนโยบายจีนเดียว ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
123RF
เมื่อรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของจีนในสหประชาชาติไม่ได้ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่จริงๆ ก็เป็นผลให้ที่ประชุมระหว่างประเทศไม่สามารถพิจารณาหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับจีนได้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 สหรัฐอเมริกาก็พยายามจะชักชวนเจียง ไคเชก ให้ยอมรับตัวแทนของคอมมิวนิสต์จีนเข้ามามีที่นั่งในสหประชาชาติ หากยอมรับแนวคิดนี้ โลกก็จะมีสองจีน คือจีนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ และจีนที่อยู่ไต้หวัน แนวคิดนี้เรียกว่านสองจีน หรือ Two-Chinas แต่เจียง ไคเชกปฏิเสธแนวคิดนี้และย้ำหลักการจีนเดียว คือในโลกนี้มีเพียงสาธารณรัฐจีนเป็นจีนเดียวเท่านั้น และทั้งไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นของสาธารณรัฐจีน สหรัฐอเมริกาทำอะไรไม่ได้ ก็เลยให้จีนไต้หวันเป็นตัวแทนจีนเดียวในสหประชาชาติต่อไปอีกสิบปี
สถานการณ์โลกไม่เคยหยุดนิ่ง ในทศวรรษที่ 1970 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตัดสินใจถอนทหารออกจากสงครามเวียดนาม และได้คำแนะนำจากเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศว่า โซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์กำลังทะเลาะกันอยู่ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สหรัฐฯจะจับมือกับจีนคอมมิวนิสต์เพื่อให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลในกัมพูชาเพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียตที่จะได้เวียตนามไปแน่ ๆ หลังจากอเมริกาถอนทหารออก ดังนั้นสิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือสหรัฐอเมริกายอมรับจะให้คอมมิวนิสต์จีนเข้าไปเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนจีนไต้หวัน
123RF
ก่อนการประชุมสหประชาชาติ อเมริกาก็เอาแนวคิดสองจีนกลับไปคุยกับเจียง ไคเชกอีกครั้งเรื่องที่ว่า จะให้ทั้งสองจีนอยู่ในสหประชาชาติกันต่อไปได้ไหม แต่มาถึงจุดนี้แล้ว แม้ว่าเจียง ไคเชกจะอยากยังไงก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะว่าประเทศที่สนับสนุนจีนคอมมิวนิสต์มีจำนวนมากขึ้นทุกปี และฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ยอมที่จะละทิ้งหลักการจีนเดียว หรือให้จีนไต้หวันอยู่เป็นจีนอีกประเทศ สุดท้ายเจียง ไคเชกไม่อยากเสียหน้า จึงให้ตัวแทนของจีนไต้หวันประกาศถอนตัวออกจากสหประชาชาติเอง สหประชาชาติก็มีมติโอเคทันที และให้จีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเป็นสมาชิกแทนจีนไต้หวัน หลังจากนั้น นิกสันก็ไปจับมือกับเหมา เจ๋อตง และในปี 1978 สหรัฐอเมริกาก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไต้หวันอย่างเป็นทางการ จากแนวคิดสองจีน เปลี่ยนเป็นนโยบายจีนเดียว หรือ One-China Policy อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
WIKIPEDIA PD
แต่จริงๆ นโยบายจีนเดียวตอนนี้ กับหลักการจีนเดียวที่ทั้งสองจีนเน้นย้ำ เป็นคนละเรื่องกัน นโยบายจีนเดียว จริงๆ ก็คือกติกาในกรณีที่ประเทศใดประเทศนึงจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนไต้หวัน ก็คือต้องเลือกข้าง ถ้ารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นจีนแล้ว ก็จะต้องตัดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน เพราะในโลกนี้มีจีนเดียว ส่วนดินแดนของจีนนี้เป็นอย่างไร ไม่เกี่ยวกับนานาประเทศ แต่เงื่อนไขของหลักการจีนเดียวที่ทั้งสองจีนเน้นย้ำ เกี่ยวกับแนวคิดของดินแดน คือทุกส่วนของประเทศจีนขาดกันไม่ได้ แยกออกจากกันไม่ได้ แนวคิดนี้จึงไม่ได้ใช้แต่กับไต้หวัน แต่หลักการจีนเดียวยังถูกนำมาใช้กับ ซินเจียง ทิเบต และฮ่องกงด้วย
ตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่ได้รับการรับรองเป็นตัวแทนของประเทศจีนที่แท้จริง แต่ในองค์กรหว่างประเทศต่างๆ บางองค์กร เช่นสหประชาชาติ ก็ไล่จีนไต้หวันออกไป ให้จีนแผ่นดินใหญ่มารับที่นั่งแทน บางองค์กรยอมรับให้ไต้หวันอยู่ต่อ แต่ต้องเปลี่ยนชื่อ จะใช้ชื่อเป็นสาธารณรัฐจีนต่อไปไม่ได้ เพราะสาธารณรัฐจีนเคลมว่าตัวเองเป็นจีน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เราก็เลยจะเห็นทีมไต้หวันใช้ชื่อว่า Chinese Taipei ก็คือ “ไทเป จีน” โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นของจีนไหน
ในยุคปฎิรูปประชาธิปไตยช่วงทศวรรษ 1980 นั้น ไต้หวันเริ่มมีพรรคฝ่ายค้าน พรรคหลักก็คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ Democratic Progressive Party เน้นว่าไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นคนละประเทศกัน แล้วเฉิน ฉุ่ยเปี่ยน ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคนี้ก็ได้ชนะการเลือกตั้งในปี 2000 และ 2004 ทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจมาก มีการตรากฎหมายชื่อ Anti-Secession Law หรือ กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน ในกฎหมายเน้นย้ำหลักการจีนเดียว และระบุว่า ถ้าเกิดอะไรก็ตามที่จะทำให้ไต้หวันแยกออกจะประเทศจีน จีนจะใช้กำลังทหารเพื่อต่อต้านการแยกตัวของไต้หวัน หลังจากนั้นฝ่ายชาตินิยมจีนก็เริ่มโทษฝ่ายที่สนับสนุนเอกราชไต้หวันว่าสร้างความวุ่นวาย ความไม่สงบ อยากพาไต้หวันไปสู้ในสงคราม
WIKIPEDIA PD
หลังๆ เฉิน ฉุ่ยเปี่ยนก็ถูกกล่าวหาการกระทำทุจริต ด้วยความกลัวที่จะเกิดสงครามและความเกลียดต่อเฉิน ฉุ่ยเปี่ยนในสังคม พรรคก๊กมินตั๋งได้ชนะการเลือกตั้งแล้วกลับมาตั้งรัฐบาล นำไต้หวันไปเข้าอยู่กับจีนอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันจีนก็พยายามขยายอิทธิพลทางการเมืองในไต้หวันโดยทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิด Sunflower Student Movement หรือ ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ในปี 2014 เป็นขบวนการที่นำโดยคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นรุ่นที่นิยามตัวเองเป็นคนไต้หวัน ไม่ใช่คนจีน และเชื่อในประชาธิปไตย ไม่ยอมอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการของจีน
ต่อมาในปี 2016 ไช่ อิงเหวิน นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลไช่ อิงเหวินย้ำหลักการประชาธิปไตย และแถลงจุดยืนต่อต้านจีนและหลักการจีนเดียวอย่างแรง ช่วงนี้ยิ่งให้กำลังใจกับประท้วงในฮ่องกง และย้ำว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่จีนเคยสัญญากับฮ่องกงและอยากจะเอามาใช้กับไต้หวันนั้นไม่มีอยู่จริง ไต้หวันควรเป็นประเทศที่แยกออกจากจีน และเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม จีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ชอบไช่ อิงเหวินแน่ๆ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้วางข้อบังคับต่างๆ ในการร่วมงานระหว่างประเทศของไต้หวัน และการไปมาหาสู่ระหว่างจีนกับไต้หวัน เช่น ให้สายการบินทั่วโลกเปลี่ยนชื่อไต้หวันเป็น Taiwan, Province of China ซึ่งก็แปลตรง ๆ ว่า ไต้หวัน จังหวัดหนึ่งของจีนและบังคับให้บริษัทต่างชาติที่อยากไปทำธุรกิจในจีนต้องแถลงจุดยืนสนับสนุนหลักการจีนเดียว มีการยกเลิกการอนุญาตกับนักท่องเที่ยวจีนไม่ให้ไปเที่ยวไต้หวัน โดยอ้างว่าเป็นความผิดของรัฐบาลไช่ อิงเหวินที่ไม่อยากอยู่ดีๆ กับจีน
WIKIPEDIA @總統府
ขณะเดียวกันในไต้หวัน นอกจากเสียงชาตินิยมจีน ฝ่ายที่ใกล้ชิดกับจีนก็เริ่มมีกระแสที่บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตของคนทั่วๆ ไป ประชาธิปไตยกินไม่ได้ ประเทศจีนไม่มีประชาธิปไตยก็เจริญเอาๆ เราไม่ควรไปหาเรื่องจีน ไม่งั้นเศรษฐกิจจะแย่ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋งเน้นย้ำนโยบาย “เศรษฐกิจมาก่อน” และหลีกเลี่ยงการแถลงจุดยืนในประเด็นจีน - ไต้หวัน
ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วาทกรรม “ประชาธิปไตยกินไม่ได้” ถูกนำมาใช้ในการแย่งชิงอำนาจ ซึ่งก็เป็นวาทกรรมที่ถูกใช้อยู่เสมอโดยเฉพาะในช่วงหลังที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษกิจของโลก เราก็คงไม่ขอสรุปว่าวาทกรรมนี้มีเหตุผลเชื่อถือได้จริงหรือไม่ อยากให้คุณได้ตัดสินใจเองด้วยข้อมูลและเหตุผลมากกว่า
(ส่วนผลการเลือกตั้งไต้หวัน 2020 ที่ผ่านมา ก็เป็นชัยชนะของฝ่ายพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP ส่งให้ ไช่ อิงเหวิน เป็นประธานธิบดีไต้หวันสมัยที่ 2 ต่อไปในที่สุด)
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา