17 ก.ย. 2020 เวลา 16:57 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ฝูงบินรบหลบไป ฝูงเครื่องบินโดยสารกำลังจะมา
ด้วยอาศัยแรงบันดาลใจการการบินของฝูงนก รูปแบบการบินเครื่องบินโดยสารแบบรวมฝูงอาจจะนำมาใช้ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในการบินและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
3
บินไปเป็นฝูงเหมือนฝูงนกบิน
เมื่อ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้เปิดตัว fello'fly รูปแบบการบินของเครื่องบินโดยสารระยะไกลในรูปแบบการบินตามกันเหมือนฝูงนก
อย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์สารคดีภาพฝูงนกบินอพยพเป็นระยะทางไกล ๆ ข้ามทวีปผ่านระยะทางหลายพันกิโลเมตร หนึ่งในรูปแบบที่เห็นกันชินตาคือการบินตามกันเป็นรูปตัว V
รูปแบบการบินมาตราฐานของฝูงนกที่เห็นกันทุกวัน เช้า-เย็น
ซึ่งการบินตามกันนั้นนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามันช่วยลดการใช้แรงในการบินให้กับเหล่าสมาชิกในฝูงที่บินตามมาด้านหลังในแนวรูปตัว V ได้
โดยในการบินอพยพย้ายถิ่นฐานของฝูงนกนั้น ตัวที่บินนำฝูงจะต้องเป็นตัวที่ออกแรงมากกว่าในการนำร่องแนวการบิน ดังนั้นพวกมันจึงใช้การบินสลับตำแหน่งของตัวที่บินนำฝูงอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลัดกันพัก
ทั้งนี้วิทยาศาสตร์เบื้องหลังนี้เกิดจากกระแสลมวนที่เกิดจากปลายปีก ซึ่งจะมาช่วยเสริมแรงยกให้กับนกตัวที่อยู่ด้านหลัง ทำให้ช่วยผ่อนแรง
ซึ่งกับเครื่องบินก็เหมือนกัน หากบินตามด้วยระยะที่เหมาะสมแล้ว กระแสลมวนที่เกิดจากเครื่องบินลำหน้าก็จะช่วยพยุงเครื่องที่บินตามหลังมาในแนวกระแสลมวน ซึ่งช่วยลดกำลังเครื่องที่ใช้ลงได้ 5-10% เลยทีเดียว
ซึ่งโครงการ fello'fly ของ Airbus นี้จะใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบนำร่องและการติดต่อกับหอบังคับการบิน
1
โดยใช้ข้อมูลเส้นทางบินของเที่ยวบินที่บินในเส้นทางเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ทำการบินมาเจอกันในจุดนัดพบก่อนทำการบินแบบฝูงบินในการบินข้ามมหาสมุทรหรือเส้นทางบินไกล ๆ
บินมารวมฝูงกันก่อนบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเส้นทางบินหลัก
ซึ่งการบินที่ให้ได้ผลของฝูงบิน Airbus แบบ A350 นั้นเครื่องลำหลังต้องบินอยู่ต่ำกว่าประมาณ 1,000 ฟุต และห่างประมาณ 3 กิโลเมตร จึงจะได้ผลของแรงยกจากลมวนปลายปีกจากเครื่องลำหน้า
จะเห็นได้ว่าการบินรักษาระยะห่างขนาดนี้ตลอดเส้นทางบินนั้น นักบินเครื่องลำหลังคงจะเหนื่อยอยู่
ดังนั้น fello'fly ของ Airbus จึงมีตัวช่วยสำหรับนักบินคือระบบปรับเส้นทางบินตามเครื่องบินลำหน้าโดยอัตโนมัติ
ซึ่งในขั้นตอนแรกที่เรียกว่า Pre-OPTI นั้นจะทำการปรับเส้นทางบินเพื่อให้เครื่องเข้าไปด้านหลังเยื้องไปด้านข้างของเครื่องลำหน้าตามที่คำนวนไว้
ก่อนจะทำการปรับเพดานบินเพื่อให้เครื่องเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับแรงยกจากลมวนปลายปีกของเครื่องบินลำหน้า
ทั้งนี้การบินในรูปแบบฝูงบินนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะหากเข้าใกล้เกินไปเครื่องลำหลังจะเข้าไปอยู่ในบริเวณลมหมุนรุนแรงซึ่งอาจทำให้เครื่องเสียการควบคุมได้
ดังนั้นการรักษาระยะให้พอดีที่จะไม่เจอลมหมุนรุนแรงกับและยังได้รับแรงยกที่ต่อเนื่องนั้นจึงเป็นหัวใจสำคัญของเทคนิคนี้ และระบบควบคุมอัตโนมัตินี้จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของนักบินได้
Airbus มีแผนทำการบินทดสอบภายในปีนี้ด้วยเที่ยวบินที่ประกอบด้วยเครื่องบิน Airbus A350 จำนวน 2 ลำ ซึ่งหากผลทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ก็จะมีการเริ่มนำมาใช้ในเที่ยวบินจริงภายในปี 2021
ซึ่งการที่ประหยัดเชื้อเพลิงลงไปได้ 5-10% นี้หากมีการใช้งานได้เต็มที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 3-5 ล้านตันเลยทีเดียว
พัฒนาการต่าง ๆ โดยอาศัยการเลียนแบบธรรมชาตินั้นมีมาอยู่เรื่อย ๆ และ fello'fly ก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่แค่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้สายการบิน แต่อาจมาใช้ช่วยสู้โลกร้อนได้
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา