18 ก.ย. 2020 เวลา 02:03
[ งบประมาณปี 64 คือ การพบว่า ศัตรูตัวจริงของประเทศไทย คือ รัฐราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพ ]
ถ้าเรารวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมดของประเทศไทย ทั้งราชการส่วนกลาง 3.3 ล้านล้านบาท และ ที่ส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ และถูกแบ่งให้อีกเกือบ 5 แสนล้านบาท จะพบครับว่า 80% คือ 2.9 ล้านล้านบาทของการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณ อยู่กับคนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพ จึงเกิดปัญหาของ การใช้งบประมาณ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า ไม่ตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่
กลายเป็นราชการส่วนกลาง หรือ ระดับกรม เป็นผู้ดำเนินงานในเกือบทุกภารกิจหลัก ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดคือ อธิบดีของแต่ละกรม ที่ล้วนนั่งอยู่ที่กรุงเทพ เป็นผู้จัดทำคำของบประมาณ สำหรับแก้ปัญหาและตอบสนองกับความต้องการของคนทั้งประเทศ
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย ที่อธิบดีแต่ละคนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพ จะมารู้ความต้องการของคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย หรือเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด และกลายมาเป็น ภารกิจของสำนักงบประมาณ ที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน ที่สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณ ให้คุ้มค่าและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่ เพราะสำนักงบประมาณ มีบุคคลากรเพียง 1,000 คน และ 80% ก็นั่งอยู่ที่กรุงเทพเหมือนกัน
ซึ่งมันคือภารกิจที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่คนที่มีอำนาจในการทำคำขอและจัดสรรงบประมาณ และล้วนนั่งอยู่ที่กรุงเทพ จะทำให้ภาษีของประชาชนกลายเป็นงบประมาณที่ตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่
งบประมาณปี 64 คือ สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด ว่าในขณะที่ประชาชน เดือดร้อน รายได้รัฐบาลลดลง คำของบประมาณมากมายที่ยังคงเหมือนปีงบประมาณปกติ และผมอยากยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ งบประมาณสำหรับก่อสร้าง ซ่อมแซมสำนักงาน ของหน่วยงานราชการ ที่สามารถเลื่อนหรือชลอ โครงการไปได้แน่ๆในงบปี 64 ถ้าตัดงบเหล่านี้ในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ อว. และท้องถิ่น ออกไปแล้ว ผมพบว่า งบสำหรับก่อสร้างสำนักงานอยู่ที่ 24,050 ล้านบาท ในงบปี 64 และเพิ่มมาจาก 15,366 ล้านบาท ในงบปี 63 หรือ เพิ่มขึ้นเกือบ แปดพันล้าน ในปีงบประมาณที่ ประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ดังนั้นนี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดจากงบประมาณ ปี 64 ที่สะท้อน ปัญหาของระบอบรัฐราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพได้เป็นอย่างดีที่สุด ว่าเมื่อ 80% ของการใช้งบประมาณและภาษีของประชาชน อยู่ที่การตัดสินใจของคนที่กรุงเทพ อยู่ที่รัฐราชการรวมศูนย์ ที่ไม่สนใจใยดี ต่อความเดือดร้อนของประชาชน หน่วยงานเหล่านี้เลยยังคงทำงบประมาณเหมือนกับในปีงบประมาณปกติ
และผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพ ที่ผมยกตัวอย่างถึงทั้งหมด ล้วนไม่มีความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่เลย พวกเค้าเลยไม่ต้องรับผิดรับชอบต่อการใช้ภาษีของประชาชน ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่มีอย่างจำกัด
หนทางเดียวที่จะยุติรัฐราชการรวมศูนย์นี้ได้ คือ การกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณให้แต่ละท้องถิ่น เป็นผู้จัดสรรงบประมาณหลัก ให้ตอบสนองกับความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้เอง ให้คนพื้นที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพราะข้อเท็จจริงที่แน่นอนที่สุด คือ ไม่มีใครที่จะเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่ และจะตั้งใจพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ได้ดีเท่ากับคนในท้องถิ่นตัวเอง และทำได้ดีกว่าคนที่นั่งอยู่ที่กรุงเทพแน่นอน
และกลไกที่สำคัญที่สุด คือ การแบ่งให้สัดส่วนงบประมาณระหว่าง ส่วนกลางและท้องถิ่น อยู่ที่ ครึ่งต่อครึ่ง หรือ 50% เพื่อให้ท้องถิ่นมีทรัพยากรที่เพียงพอ และเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนแทนราชการส่วนกลาง
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ หนทางเดียว คือ พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีระยะเวลาเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การกระจายงบประมาณระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น อยู่ที่ ครึ่งต่อครึ่ง ให้มีการกำหนดสูตรเพื่อคำนวนงบประมาณสำหรับภารกิจของท้องถิ่นที่ชัดเจนและวัดผลได้ ให้มีการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณที่ไปพร้อมกัน เพื่อยุติปัญหาของการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นแต่ไม่โอนงบประมาณมาให้
แต่เมื่อดูจากงบประมาณปี 64 3.3 ล้านล้านบาท ฉบับนี้ ผมคงต้องสรุปว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยให้ความสำคัญกับการบริหารงานระดับท้องถิ่นเลย รัฐบาลที่ประมาณการรายได้ท้องถิ่นมากกว่าความเป็นจริง เกิน 10% มาตลอด 6 ปี รัฐบาลที่นำงบผ่านหัว ทั้ง อสม. เบี้ยผู้สูงอายุ นมโรงเรียน เป็นรายได้ของท้องถิ่นทั้งๆที่ท้องถิ่นไม่มีโอกาสตัดสินใจ รัฐบาลที่แม้แต่การแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นยังให้กรมสรรพากรเก็บค่าหัวคิว รัฐบาลแบบนี้ ไม่มีทางที่จะสนับสนุนการกระจายอำนาจได้จริง รัฐบาลชุดนี้ คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด ของการทำให้งบประมาณและภาษีของประชาชน 3.3 ล้านล้านบาท ให้เกิดความคุ้มค่าและตอบสนองต่อความต้องการกับประชาชนทุกพื้นที่
โฆษณา