18 ก.ย. 2020 เวลา 07:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โลกมีส่วนทำให้ดวงจันทร์ "ขึ้นสนิม"
นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ดวงจันทร์ซึ่งไม่มีชั้นบรรยากาศ รวมทั้งไม่มีน้ำในรูปของเหลวและมีออกซิเจนเพียงน้อยนิด จะมีแร่ธาตุจำพวกเหล็กออกไซด์หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "สนิม" อยู่เป็นจำนวนมากในบางจุดได้ ซึ่งปรากฏการณ์ประหลาดนี้อาจมีสาเหตุบางส่วนมาจากอิทธิพลของโลกเราที่มีต่อดาวบริวารนั่นเอง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย และห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับดันไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซาในสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวลงในวารสาร Science Advances โดยระบุว่าการที่ดวงจันทร์มี "แร่เหล็กแดง" หรือแร่ฮีมาไทต์ (Hematite) ซึ่งเป็นสนิมชนิดหนึ่ง ตรงบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวนั้น น่าจะมาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน
สาเหตุประการแรกได้แก่การที่สนามแม่เหล็กโลกนำพาออกซิเจนจากโลกไปยังดวงจันทร์ได้ โดยล่องไปตามเส้นแรงแม่เหล็กส่วนที่ขนานกันเป็นแนวตรงแคบ ๆ ดูคล้ายหางของสนามแม่เหล็กโลก หรือที่เรียกว่าแมกนีโตเทล (magnetotail) ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดสนิมเกาะได้มากกว่าในด้านที่ดวงจันทร์หันเข้าหาโลก แทนที่จะเป็นด้านตรงข้ามหรือด้านไกลของดวงจันทร์
ในอดีตยุคดึกดำบรรพ์ ออกซิเจนที่พบบนดวงจันทร์นี้อาจเคลื่อนย้ายมาจากโลกได้มากกว่าในยุคปัจจุบัน เนื่องจากดวงจันทร์เคยตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกับโลกยิ่งกว่านี้เมื่อหลายพันล้านปีก่อน แต่ทุกวันนี้กำลังเคลื่อนห่างออกไปในอัตราปีละเกือบ 4 เซนติเมตร
แผนที่แสดงการกระจายตัวของแร่ฮีมาไทต์บริเวณขั้วทั้งสองของดวงจันทร์
สาเหตุประการที่สองซึ่งทำให้มีแร่ธาตุเป็นสนิมบนดวงจันทร์ได้ อาจเป็นเพราะส่วนหางของสนามแม่เหล็กโลกเข้ามาสกัดลมสุริยะที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนจากดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้อะตอมของไฮโดรเจนซึ่งเป็นตัวรีดิวซ์ (reducing agent) ไม่สามารถให้อิเล็กตรอนแก่โลหะ เพื่อลดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ที่ทำให้เกิดสนิมได้
ส่วนปัจจัยประการสุดท้ายที่ทำให้ขั้วของดวงจันทร์ขึ้นสนิมนั้น อาจมาจากน้ำแข็งที่พบใต้แอ่งหลุมบนด้านไกลของดวงจันทร์เอง โดยอุกกาบาตที่พุ่งชนดวงจันทร์อยู่เสมอ น่าจะทำให้เศษน้ำแข็งขึ้นมาปะปนกับฝุ่นละอองบนพื้นผิวหรือเรโกลิธ (regolith) และได้รับความร้อนจากการชนเป็นครั้งคราว จนเกิดการละลายและทำปฏิกิริยากับแร่เหล็ก ซึ่งทำให้กลายเป็นสนิมในที่สุดนั่นเอง
ข้อมูลจาก : BBC NEWS
โฆษณา