18 ก.ย. 2020 เวลา 09:30 • ธุรกิจ
ความทะเยอทะยาน จะหมดไป
หากไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็น พฤติกรรม ได้
ทุกปรัชญา จะจางหายไป
หากไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็น อุปนิสัย ได้
ไม่ว่าจะระดับปัจเจกบุคคล หรือ ระดับองค์กร
ล้วนเริ่มต้นทำสิ่งใดก็จากความทะเยอทะยาน
ความปรารถนาให้สำเร็จดังเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทุกคนตระหนักว่า แค่ ความทะเยอทะยาน
และความตั้งใจเพียงอย่างเดียว
จะไม่สามารถนำพาไปยังความสำเร็จได้
 
จำเป็นต้องลงมือทำ และทำให้ได้อย่างต่อเนื่อง
จนเกิดเป็นพฤติกรรม แล้วพัฒนามาเป็นอุปนิสัย
ที่เรียกว่าพฤติกรรมแห่งความสำเร็จ หรือ อุปนิสัยแห่งความสำเร็จ
. . .
แต่บ่อยครั้งอุปสรรคที่มาขวางกั้นให้ล้มเลิก
การเกิดขึ้นของพฤติกรรมแห่งความสำเร็จนั้นก็คือ
'ความกลัวการล้มเหลว'
เหรียญมีสองด้าน
ด้านหนึ่ง คือ ความสำเร็จ ในขณะที่อีกด้าน คือ ความล้มเหลว
ถ้าอยากครอบครองเหรียญก็ต้องรับทั้งสองด้านให้ได้
ดังนั้น การรู้จัก เรียนรู้ ความล้มเหลว ให้คุ้นชิน
เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างพฤติกรรมความสำเร็จกันทีเดียว
ที่เมือง เฮลซิงบอรย์ ประเทศสวีเดน
มีพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว (Museum of Failure)
ที่รวบรวมเอาสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมจากทั่วโลกที่ไม่ประสบความสำเร็จจนค่อยๆ หายไปจากท้องตลาด มาแสดงให้คนทั่วไปเข้าชม
'เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก คุ้นเคยว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา'
แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้นำธุรกิจ มีชื่อเสียง ต่างก็มีผลงาน หลักฐานความล้มเหลว มามาก และมากพอจนสามารถจัดขึ้นมาเป็นพิพิธภัณฑ์ได้เลย
พฤติกรรมแห่งความสำเร็จ เมื่อทำซ้ำๆ ก็จะกลายเป็น อุปนิสัยแห่งความสำเร็จได้ คำๆนี้ใช้กับระดับบุคคลดูจะเหมาะสม
แต่ถ้าเป็นระดับองค์กร จะถูกเรียกว่า วัฒนธรรมแห่งความสำเร็จขององค์กรแทน เพราะเป็นการรวมพฤติกรรมและอุปนิสัยของคนจำนวนมากเข้าด้วยกัน เจ้าตัววัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ ตัวนี้มีความสำคัญต่อองค์กรมาก
ครั้งหนึ่งในปี 2006 ผู้ผลิตรถยนต์ Ford มีผลดำเนินงาน ขาดทุนมากกว่า10,000 ล้านดอลลาร์ อลัน มูลัลลี (Alan Mulally) ผู้นำบริษัทในเวลานั้น (ผู้บริหารคนแรกที่ได้รับเลือกโดยไม่ได้มาจากตระกูลฟอร์ด) ได้พบว่า ต้นตอปัญหาของการขาดทุนมา จาก วัฒนธรรมในองค์กรของฟอร์ดนั้นเอง
ทุกสัปดาห์มูลัลลีจะนัดประชุมสำคัญกับผู้บริหารระดับสูง เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาแผนธุรกิจ โดยมูลัลลีบอกให้ทีมผู้บริหารเตรียมรายงานแยกสี
สีเขียวคือ งานที่ไปได้ดี
สีเหลืองคือ งานที่มีปัญหาต้องการแก้ไข
สีแดง คือ งานที่ผิดพลาดล้มเหลว
ช่วงแรกของการเข้าประชุม ทีมบริหารเข้ามาประชุมด้วยรายงานสีเขียวมากมาย อย่างภาคภูมิใจ แทบไม่มีรายงานสีเหลืองหรือสีแดงเลย
ทั้งที่ตอนนั้นบริษัทกำลังอยู่ในภาวะประสบปัญหาขาดทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ !
เหตุการณ์นั้นทำให้มูลัลลี รู้ได้ทันทีว่า ทีมผู้บริหารของฟอร์ด มีวัฒนธรรมการทำงานในแบบ เมินความล้มเหลว มองข้ามความผิดพลาด บิดเบือนคำตำหนิ รายงานเอาใจนาย
เป็นวัฒนธรรมอันตรายที่สุดและเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้
มูลัลลีจึงแจ้งในที่ประชุมว่า บริษัทต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เขาได้อนุญาตให้ผู้บริหาร ซื่อสัตย์ต่อการประเมินผลงานที่ตนดูแลอยู่ อย่างตรงไป ตรงมา และจะไม่ตำหนิใดๆ
ผลคือการประชุมครั้งต่อๆไป สีของรายงานก็เริ่มเปลี่ยน สีเขียวน้อยลง สีเหลือง และสีแดงมีมากขึ้น จึงทำให้มูลัลลีได้ข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาให้กับฟอร์ดได้
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการทำงานในระดับผู้นำถ้าเปลี่ยนไป ก็จะส่งผลทำให้ วัฒนธรรมองค์กรโดยรวมเปลี่ยนตามได้
ดังนั้น ผู้นำ จึงต้องทำให้ทุกคน
กล้าลงมือทำ
กล้าผิดพลาด
กล้าเรียนรู้
กล้าใช้ประโยชน์ จากความล้มเหลว
 
ผู้นำสามารถเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานก่อน
โดยให้พนักงานรู้สึกถึงประโยชน์เมื่อพวกเขากล้าลงมือทำงานที่มีความเสี่ยงสูง
เช่น องค์กรเปลี่ยนจากการให้รางวัลเฉพาะผลงานนวัตกรรมใหม่ เป็น ให้รางวัลกับ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่
เปลี่ยนจุดโฟกัสการให้รางวัล จากมุ่งเน้นเพียงแค่ผลสำเร็จเพียงอย่างเดียว เปลี่ยน มาเป็น ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาด้วย นั้นก็จะส่งผลต่อจิตใจพนักงานให้มีความกล้าทำมากขึ้น
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ผู้นำต้องสร้างความไว้ใจเชื่อใจ เชื่อมั่น ให้พนักงานได้
 
ผู้นำต้องมีความจริงใจ ยอมรับในความกล้าหาญ การท้าทาย ขนบธรรมเนียมปฎิบัติเดิม จากพนักงานทุกคนได้
สนับสนุน กระตุ้น จูงใจพนักงานที่กล้าเสี่ยง
มอบโอกาสและทรัพยากรในการทำงานให้กับพนักงาน
กำจัดสิ่งที่พนักงานรู้สึกกังวลให้หมดไป
ร่วมรับผิดชอบและเรียนรู้ความผิดพลาดไปพร้อมกับพนักงาน
สิ่งเหล่านี้จึงสามารถสร้างความไว้ใจ เชื่อใจ เชื่อมั่น ให้กับทุกคนและสร้างวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จเกิดขึ้นได้
แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ที่ได้มันคุ้มค่ากับความพยายามอย่างแน่นอนหากสำเร็จ
แล้วทำไมวันนี้ ไม่ลองเสี่ยงลงมือทำ
เพราะถ้าองค์กรไม่มีพฤติกรรมแห่งความสำเร็จอยู่แล้ว
ยังไงก็ต้องปิดตัวลงในซักวันอยู่ดี
จริงไหมครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม หากชอบ ช่วยกดไลค์ให้กำลังใจแอดมินด้วยนะครับ และขอให้ทุกคนมีความสุข และได้พบกับคำตอบที่กำลังค้นหาครับ
แอดมินเพจ FB: Pick a book Fix your Life
ขอบคุณภาพ Photo by Eduardo Soares on Unsplash
โฆษณา