18 ก.ย. 2020 เวลา 17:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ครั้งแรกกับการค้นพบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแคระขาวใกล้แบบเผาขน
มันก็ไม่ใช่เสมอไปที่ดาวเคราะห์จะโคจรรอบดาวแม่ที่มีขนาดใหญ่กว่ามัน เพราะดาวเคราะห์ก๊าซที่มีขนาดพอ ๆ กับดาวพฤหัสดวงนี้โคจรรอบอยู่ดาวแคระขาวที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับโลกเท่านั้น
กลายเป็นพี่เบิ้มดวงนี้โคจรรอบดาวแม่ที่มีขนาดเล็กเท่า ๆ กับโลก
โดยล่าสุดดาวเทียมเพื่อการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ Transiting Exoplanet Survey Satellite หรือ TESS และกล้องโทรทัศน์อวกาศ Spitzer ของ NASA ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่
ซึ่ง TESS ตรวจพบก่อนโดยอาศัยการสังเกตการหรี่แสงของดาวแม่เมื่อดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้า ก่อนที่จะยืนยันการค้นพบด้วยกล้อง Spitzer อีกครั้ง
คู่หูตามล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ TESS และกล้องโทรทัศน์อวกาศ Spitzer
ซึ่งดาวเคราะห์ WD 1856 b ที่ตรวจพบใหม่นี้มีความพิเศษที่น่าสนใจ เพราะมันโคจรใกล้กับดาวแคระขาวที่เป็นดาวแม่ของมันในระยะที่ใกล้มากอย่างที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน โดยมีคาบการโคจรรอบดาวแม่แค่วันครึ่งเท่านั้น
โดยดาวแคระขาว WD 1856 ดวงนี้มีมวลประมาณครึ่งหนึ่งของดวงอาทิตย์แต่มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 1.4 เท่า ในขณะที่ WD 1856 b มีขนาดใหญ่ประมาณดาวพฤหัส
กลายเป็นดาวยักษ์โคจรรอบดาวแคระ
ดาวแคระขาว WD 1856 นี้อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวมังกร ห่างจากโลกไปประมาณ 80 ปีแสง
1
ซึ่งเคยมีอดีตคล้ายกับดวงอาทิตย์ของเราก่อนจะขยายตัวกลายเป็นดาวยักษ์แดงกลืนกินเกือบทุกสิ่งในรัศมีขณะเข้าสู่ช่วงปลายชีวิตของมัน และจะยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระขาวที่มีมวลเหลือเพียง 20% และมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับโลก
ภาพเปรียบเทียบขนาดของ WD 1856 ก่อนกลายเป็นดาวแคระขาว
ดังนั้นแล้วดาวเคราะห์ WD 1856 b หากจะเหลือรอดผ่านช่วงที่ดาว WD 1856 กลายเป็นดาวยักษ์แดงนั้นมันควรจะอยู่ห่างจากตำแหน่งปัจจุบันออกไปอย่างน้อย 150 เท่า
วงเล็กกลางรูปคือวงโคจรของ WD 1856 b ในปัจจุบัน ส่วนวงใหญ่คือวงโคจรที่ควรจะเป็น
โดยหนึ่งในสาเหตุของการที่เจ้า WD 1856 b มีวงโคจรใกล้อย่างในปัจจุบันนั้นนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเจ้า WD 1856 b อาจถูกดันหรือดึงเข้าสู่วงโคจรปัจจุบันโดยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบดาวนี้ที่ยังไม่ถูกตรวจพบ
ยังมีดาวเคราะห์ปริศนาดวงอื่นอยู่ด้านนอก?
หรืออาจเกิดจากแรงโน้มถ่วงจากระบบดาวคู่ที่อยู่ใกล้เคียงอย่าง G229-20 A/B ที่ค่อย ๆ ส่งอิทธิพลต่อการโคจรของดาวเคราะห์ในระบบดาวนี้หลังจากที่ WD 1856 กลายเป็นดาวแคระขาว
หรืออาจเกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวปริศนาที่เคยเคลื่อนที่ผ่านระบบดาวนี้เมื่อหลายล้านปีก่อนดึงจากเจ้า WD 1856 b เข้ามาใกล้กับดาวแม่ของมัน
อีก 2 สาเหตุที่ทำให้ WD 1856 b อยู่ในวงโคจรปัจจุบัน
แต่ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม การเฝ้าสังเกตุระบบดาวนี้อาจทำให้เราพอจะนึกภาพในอนาคตที่อาจเป็นไปได้ของระบบสุริยะของเรา ที่อาจเหลือแค่ดาวยูเรนัสโคจรอยู่ใกล้กับสิ่งที่เหลืออยู่ของดวงอาทิตย์
และไม่แน่ว่าดาวเทียม TESS และกล้องโทรทัศน์อวกาศ Spitzer อาจจะค้นพบอะไรที่น่าทึ่งกว่านี้อีกก็เป็นได้ คงต้องรอติดตามกันต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา