19 ก.ย. 2020 เวลา 15:53 • สุขภาพ
วัณโรค โรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็น
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อวัณโรคมากถึง 80,000 คน หนึ่งในนั้นอาจเป็นคนที่อยู่รอบตัวเรา วัณโรคในทุกอวัยวะจึงเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย
แต่พบมากที่สุดคือที่ปอด (pulmonary TB) โดยพบมากถึงร้อยละ 80 ของวัณโรคทั้งหมด เนื่องจากเชื้อวัณโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรก
1
วัณโรคนอกปอด มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน
วัณโรคนอกปอด (extrapulmonary TB) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20 ของวัณโรคทั้งหมด วัณโรคนอกปอดเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลังและข้อ เยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ ผิวหนัง มดลูก และในช่องปาก
โรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็น
วัณโรคติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในเสมหะไอ จาม หรือแม้แต่พูดคุยโดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะกระจายไปกับละอองเสมหะขนาดเล็กที่สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 30 นาที
ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30 จะติดเชื้อวัณโรคหลังจากสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป โดยเชื้อจะเข้าสู่ปอดและเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในถุงลมปอด
นอกจากปอดแล้ว เชื้อวัณโรคส่วนหนึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรคซี่งหากทำได้สำเร็จ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง
ปัจจุบัน มีผู้คนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกที่มีเชื้อวัณโรคซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงก็จะกลายเป็น ผู้ป่วยวัณโรค
ยิ่งใกล้ ยิ่งแออัด ยิ่งเสี่ยง วัณโรค
จุดเริ่มต้นของการเกิดวัณโรคไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใดก็ตามก็คือ การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ยิ่งอยู่ด้วยกันบ่อยและอยู่เป็นเวลานานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค โดยเฉพาะหากเป็นการอยู่ในที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น อยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานในออฟฟิศเดียวกัน
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในสถานที่ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นอย่างในเมืองใหญ่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคมากขึ้น
วัณโรค มีหรือไม่มีอาการก็ได้
ในระยะเริ่มแรกของโรค ทั้งผู้ป่วยวัณโรคปอดและนอกปอดส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคปอดได้แก่
ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ทั้งแบบไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ หรือไอมีเสมหะปนเลือด
มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงผิดปกติ
เหงื่อออกมากผิดปกติช่วงกลางคืน
เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
กินยาครบ วัณโรคก็หายขาดได้
วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค
โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งยังอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา เพื่อไม่ให้เชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะเพิ่มความยากและระยะเวลาในการรักษาขึ้นไปอีก
1
ทำอย่างไรให้ห่างไกลวัณโรค
เพราะเชื้อวัณโรคนั้นล่องลอยอยู่ในอากาศซึ่งง่ายมากที่จะติดเชื้อ สิ่งที่เราควรทำจึงได้แก่
เตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานในการกำจัดเชื้อ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตรวจสุขภาพประจำปี
หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะสถิติระบุว่าผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะลุกลามและแพร่เชื้อ 1 คน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึงปีละ 10-15 คน
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวัณโรค
ดังนั้น มาร่วมกันลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงไม่ละเลยอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย เพียงเท่านี้...เราเชื่อว่าคุณทำได้!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา