24 ก.ย. 2020 เวลา 14:24 • ท่องเที่ยว
Sanchi(สาญจี) โบราณสถานในพระพุทธศาสนา
หลายคนรู้จักสังเวชนียสถานทั้งสี่ อันเป็นที่ที่พระพุทธองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอน และปรินิพพานเป็นอย่างดี บางคนอาจจะเคยไปเยือนสถานที่เหล่านั้นมาบ้างแล้ว แต่คงจะมีพุทธศาสนิกชนจำนวนน้อยกว่านั้นที่มีโอกาสได้ไปเยือนสาญจี
มหาสถูป สาญจี
สาญจี (Sanchi) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอไรเซน(Raisen) รัฐมัธยประเทศ ตอนกลางของประเทศอินเดีย ห่างจากตัวเมืองโภปาล(Bhopal) ไปประมาณ 46 กิโลเมตร พระเจ้าอโศกมหาราชขณะดำรงตำแหน่งอุปราชได้เสด็จผ่านเส้นทางนี้เพื่อไปครองเมืองอุชเชนีในแคว้นอวัชชี พระองค์ทรงพบรักกับธิดาของนายธนาคารแห่งเมืองวิทิสา (Vidisha) ซึ่งภายหลังได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสีพระองค์แรกมีพระนามว่า พระนางเวทิสาเทวี พระนางเป็นพระราชมารดาของพระมหินทร์ และพระนางสังฆมิตตา พระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช (ทั้งสองพระองค์ทรงผนวชเป็นพระเถระและพระเถรีในพุทธศาสนา เดินทางไปลังกาเพื่อประกาศศาสนาและอัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกที่เมืองอนุราธปุระ) พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีความผูกพันกับบริเวณนี้มาก จึงเลือกทำเลนี้เป็นที่ตั้งของสถูปต่างๆในพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.218-260) ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกคนสำคัญที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างวัด วิหาร สถูป เจดีย์ มหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ศาลาคนเดินทางและสาธารณประโยชน์ต่างๆจำนวนมากมาย ได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆนอกชมพูทวีปโดยแบ่งออกเป็น 8 สาย สายหนึ่งได้เดินทางไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ ทำให้พระพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใตัสืบต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สามขึ้น สังคายนาครั้งนั้นจุดประสงค์หลักคือ เพื่อขจัดอลัชชีและพวกมิจฉาทิฎฐิทั้งหลายให้หมดไป โดยจัดขึ้นที่วัดอโศการาม ในเมืองปาฏลีบุตร เมื่อปีพ.ศ. 234
2
กลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี ( Buddhist Monuments of Sanchi) เริ่มต้นก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช รุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศักราช 300-1200 มีการบูรณะและสร้างส่วนของซุ้มประตูเพิ่มเติม ภายหลังถูกทอดทิ้งให้สูญหายไปจากความทรงจำ จนกระทั่งมาถูกค้นพบอีกครั้งโดยนายพลชาวอังกฤษ Henry Taylor ในปีพ.ศ.2361 ก่อนจะมีการสำรวจกันอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2424-2462 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 เป็นต้นมา องค์การยูเนสโกได้ยกย่องและขึ้นทะเบียนโบราณสถานทางพุทธศาสนาแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก
1
กลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจีประกอบไปด้วยสถูปน้อยใหญ่ที่แตกต่างกัน สถูปที่ใหญ่ที่สุดคือ มหาสถูป( Great stupa) สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 300 ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อสร้างด้วยหิน มีความกว้าง 37 เมตร และมีความสูง 54 เมตร ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมอินเดียรุ่นแรกๆ รูปทรงบาตรคว่ำ หรือ " โอคว่ำ " ประดับส่วนยอดด้วยฉัตรวลี 3 ชั้นอันหมายถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ บริเวณยอดล้อมรอบด้วยรั้วสี่เหลี่ยมเรียกว่า หรรมิกา(Harmika) มีบันไดเวียนสองข้างทอดตัวขึ้นสู่บริเวณตัวสถูป ล้อมรอบชั้นนอกด้วยรั้วหินรูปทรงกลมซึ่งสลักเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเอาไว้อย่างสวยงาม มีโตรณะ(Torana) หรือซุ้มประตูทางเข้าซึ่งสร้างไว้ทั้ง 4 ทิศ
1
โตรณะทางทิศใต้
ลวดลายที่วิจิตรบรรจงของโตรณะหรือซุ้มประตูทั้งสี่ทิศนั้น มีความงดงามควรค่าแก่การชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ความโดดเด่นของซุ้มประตูทั้งหลายอยู่ที่ประติมากรรมแบบลอยตัวซึ่งสรรสร้างขึ้นเป็นรูปสัตว์ต่างชนิดกัน เช่น หัวเสารูปสิงห์ทั้ง 4 ตัวยืนหันหลังชนกัน (ลักษณะเดียวกับเสาของพระเจ้าอโศกมหาราช) หัวเสารูปช้าง หัวเสารูปคนแคระ และรูปนางยักษิณี รวมถึงประติมากรรมบอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา พระพุทธประวัติ รวมถึงชาดกต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ซุ้มประตูแต่ละด้านมีความผิดแผกแตกต่างกัน ไม่มีซุ้มประตูใดที่เหมือนกันเลย ประติมากรรมเหล่านี้สื่อสารด้วยสัญลักษณ์แทนการสร้างรูปเคารพของบุคคล เช่น รูปม้าที่ปราศจากคนขี่สื่อถึงเหตุการณ์ครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จออกผนวช รูปต้นโพธิ์แสดงถึงเหตุการณ์ช่วงที่พระองค์ตรัสรู้ และธรรมจักรสื่อความหมายถึงการเผยแผ่พระธรรมคำสอน เป็นต้น
โตรณะด้านทิศตะวันออก
โตรณะด้านทิศเหนือ
ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าสุทโธทนะที่เมืองกบิลพัสด์
Mango Tree Miracle ทรงแสดงปาฏิหาริย์เหาะเหิรเดินอากาศ
มหาสถูปเป็นพุทธสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี เชื่อกันว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้
2
มหาสถูป
สถูปที่ 3 เป็นอีกหนึ่งสถูปที่มีความสำคัญเช่นกัน เคยเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระโมคคัลลาน์ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ( Mahamoggallana) และพระสารีบุตร(Sariputra) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธองค์ พระอัฐิธาตุถูกค้นพบภายใต้สถูปแห่งนี้เมื่อปีพ.ศ.1851 ก่อนจะถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่ประเทศอังกฤษในปีพ.ศ.1853 ในที่สุดก็ถูกอัญเชิญกลับสู่มาตุภูมิเมื่อพ.ศ.1953 ปัจจุบันพระอัฐิธาตุถูกเก็บรักษาอยู่ภายในเชษฐิยคีรีวิหาร (Chetiyagiri Vihar Mahabhodi Society of Sri Lanka) ใกล้ทางเข้าสถูปแห่งสาญจี
สถูปที่ 3
มหากปิชาดก(Mahakapi Jataka) เล่าเรื่องราวครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวานร
สถูปที่ 2
แม้ว่าพุทธศาสนาจะก่อกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียก่อนจะแพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆนอกชมพูทวีป แต่ครั้งหนึ่งพุทธศาสนาก็เกือบจะสูญหายไปจากดินแดนต้นกำเนิด ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนในประเทศอินเดียเพียง 0.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น พุทธสถานเก่าแก่ที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศอินเดียก็มีจำนวนไม่มากนัก กลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจีเป็นหนึ่งในร่องรอยทางอารยธรรมที่หลงเหลือ และอยู่ในสภาพที่ยังสมบูรณ์ พุทธศาสนิกชนและผู้ที่สนใจในประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียจึงควรหาโอกาสไปเยือนสาญจีสักครั้ง
โฆษณา