20 ก.ย. 2020 เวลา 14:38 • ประวัติศาสตร์
ซีรีส์ “นักกายวิภาคศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ในตัวคุณ!!!”
EP III: Galen’s background
หลังจากที่ทั้งสอง EP. ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของชีวิตหมอเกเลนกันไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรหลายท่านก็อาจยังสงสัยอยู่ว่า “แล้วหมอเกเลนเข้ามามีอิทธิพลต่อความรู้ในวิชากายวิภาคศาสตร์ได้อย่างไร?” และ “อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้คนในยุคสมัยเดียวกับเขารวมถึงคนรุ่นต่อๆมาต่างพากันคล้อยตามและยอมรับในความรู้ที่เขาเป็นผู้ค้นพบ?”
ดังนั้น ใน EP. นี้แอดจะขอพาท่านผู้อ่านเดินทางย้อนอดีตไปค้นหาคำตอบของคำถามที่ใครหลายๆคนอาจยังรู้สึกสงสัยหรือค้างคาใจอยู่กันครับ...
ก่อนที่จะตอบคำถามข้อแรกนั้น แอดใคร่ขอเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งสมัยที่ หมอเกเลน ยังเป็นเพียงแค่ “เกเลนนักศึกษาแพทย์” ซึ่งเรื่องราวที่แอดจะเล่าต่อไปนี้อาจเป็นการเฉลยคำตอบของคำถามแรกไปในตัว แอดเชื่อว่า เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวดังกล่าวจบลง พวกท่านอาจได้เห็นเหตุปัจจัยที่นำพาหมอเกเลนให้เข้ามาศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์อย่างจริงๆจังๆครับ เรื่องมีอยู่ว่า...
ในการศึกษาวิชาทางการแพทย์ อาจารย์ผู้ชี้แนะคนแรกของเกเลนคือ ซาธิลุส (Satyrus) ผู้ซึ่งเคยศึกษาร่ำเรียนวิชามาจาก ควินทัส (Quintus) แห่ง อะเล็กซานเดรีย (Alexandria) และ โรม (Rome) ซาธิลุสถือได้ว่าเป็นนักกายวิภาคศาสตร์ผู้กระตือรือร้น อีกทั้งยังเป็นผู้วิพากษ์งานของฮิปโปเครติส (Hippocrates) อีกด้วย
ในเวลาถัดมาเกเลนได้ออกเดินทางจากบ้านเกิดของตนเพื่อไปเล่าเรียนวิชาการแพทย์ต่อที่เมืองสเมียร์น่า (Smynar; ซึ่งก็คือ เมืองอิซเมีย ในประเทศอิซเมียในปัจจุบันครับ) เมืองๆนี้เป็นสถานที่น่าอยู่ที่ตั้งอยู่บนแนวชายฝั่งห่างไปทางตอนใต้ราวห้าสิบไมล์จากเมืองเพอร์กามัม
ณ ที่แห่งนี้นี่เองที่เกเลนจะได้ศึกษาร่ำเรียนความรู้ทางการแพทย์จากอาจารย์อีกท่านหนึ่งผู้มีชื่อเสียงโด่งดังนามว่าเพลอปส์ (Pelops) อาจกล่าวได้ว่า เพลอปส์นั้นเข้าขั้นสู่การเป็นนักกายวิภาคฯผู้โดดเด่น อีกทั้งเขายังเป็นศิษย์ผู้กระตือรือร้นของฮิปโปเครติสอีกด้วย
นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ “Introduction to the study of Hippocrates” และเป็นที่เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เพลอปส์เป็นคนที่มีความสนใจในการทดลองอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะที่เกเลนกำลังร่ำเรียนวิชาการแพทย์อันอยู่ภายใต้คำชี้แนะของเพลอปส์ เกเลนก็ได้ประพันธ์งานเขียนสำคัญชิ้นหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมีชื่อว่า “On the movements of the thorax and the lung” พร้อมทั้งงานเขียนอื่นๆอีกสองถึงสามชิ้น
จากคำแนะนำของเพลอปส์ เกเลนได้เดินทางต่อไปยังเมืองที่มีชื่อว่า โครินธ์ (Corinth) อันเป็นเมืองที่เพิ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมไปอย่างหมาดๆ ณ เมืองแห่งนี้ เกเลนจะได้เข้าร่ำเรียนกับอาจารย์เก่าของเพลอปส์ ผู้มีนามว่า นูเมเซียนัส (Numesianus) โดยตัวของท่านอาจารย์ผู้นี้เองก็เป็นลูกศิษย์ที่ยอมอุทิศตนให้แก่ฮิปโปเครติสอย่างสุดซึ้ง อาจกล่าวได้ว่านี้เป็นปีทองสำหรับเกเลนเลยก็ว่าได้ ที่กล่าวได้เช่นนี้ก็เพราะว่านี้คือช่วงเวลาที่เกเลนได้พบปะกับแพทย์ท่านอื่นๆอย่างแพทย์ผู้มีชื่อเสียงของจักรพรรดิเนโร ซึ่งจะได้กลายมาเป็นคู่สนทนากับเกเลนต่อไปในภายภาคหน้า
ในปี ค.ศ. 152 เกเลนได้เดินทางมาถึง อะเล็กซานเดรีย นครแห่งความรุ่งโรจน์ เป็นระยะเวลานานนับห้าปีที่เขาได้ตักตวงช่วงเวลาอันมีคุณค่าขณะพำนักอยู่ในเมืองแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่เขาได้ศึกษาความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาอย่างดื่มด่ำผ่านงานเขียนของแพทย์ในตลอดช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมาอย่าง เฮโลฟิลุส (Herophilus) และ อีเรซิสเธลธุส (Erasistratus) พร้อมด้วยกับการอ่านตำราทั้งหมดยี่สิบเล่มที่เขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1 โดยชาวโรมันในตระกูล มาเรียนุส (Marianus) ผู้สาบสูญ
นอกจากนี้แทบจะกล่าวได้ว่า หมอเกเลนมีฮิปโปเครติสเป็นไอดอล เขามีความแน่วแน่ที่จะเดินรอยตามบิดาแห่งการแพทย์ผู้นี้ อีกทั้งเขายังเป็นผู้ที่เชื่อในธรรมชาติ ดั่งที่หมอเกเลนได้บันทึกไไว้ว่า “ฮิปโปเครติส...คือบุคคลผู้แรกที่เราต่างรู้จักกันดีว่าเป็นทั้งแพทย์และนักปรัชญา ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นบุคคลแรกที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่ธรรมชาติเป็นผู้มอบให้” “เขาเพลิดเพลินกับการศึกษาธรรมชาติของร่างกาย อันเป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามจะรักษา และด้วยคุณลักษณะมากมายของปัจจัยต่างๆจึงค่อยๆทำให้ร่างกายกลายมาเป็นอยู่อย่างที่มันเป็นในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่แข็งแรงหรือเจ็บป่วย” จากบรรดาภาษิตอันมากมายของหมอเกเลน มีภาษิตหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ธรรมชาติไม่ได้มีเป้าประสงค์อันใดเลย” และ “แพทย์คือผู้ช่วยของธรรมชาติ” นอกเหนือจากนี้เขายังกล่าวเสริมไว้อีกว่า “หน้าที่ในการเป็นแพทย์ของธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขของมวลมนุษย์”
จากเรื่องราวที่แอดได้เล่าจบไปนั้น ท่านผู้อ่านน่าจะได้เห็นถึงเค้าลางอันเป็นคำตอบของคำถามข้อแรกกันไปแล้ว สาเหตุแรกเริ่มที่ทำให้หมอเกเลนหันมาศึกษาหาความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับวิชากายวิภาคศาสตร์อย่างจริงๆจังๆก็มาจากการที่เขาได้รับการปลูกฝัง หล่อหลอม จากเหล่าบรรดาอาจารย์ของเขา ซึ่งทุกท่านต่างก็ล้วนเป็นผู้ที่หลงใหลในศาสตร์แห่งกายวิภาคทั้งสิ้น ร่วมกับการที่เขาได้ซึมซับแนวคิดของฮิปโปเครติส บุคคลผู้ซึ่งเป็นที่เคารพและยำเกรงของเขา ร่วมกับการที่เกเลนมีความมุมานะที่จะเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองมาโดยตลอด เมื่อผนวกรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันจึงทำให้วันหนึ่งที่เกเลนได้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นแพทย์อย่างเต็มตัว เขาจึงได้เข้าถึงคุณค่าและเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชากายวิภาคศาสตร์ที่มีต่อวิชาชีพของเขา ดั่งที่เขาได้นำเสนอแนวคิดไว้ว่า...
“วิชากายวิภาคศาสตร์เป็นรากฐานแห่งความรู้ทางการแพทย์ หากไร้ซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของมันแล้ว เราจักไม่มีวันเข้าใจการทำงานของร่างกายได้เลย”
ส่วนอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมอเกเลนกลายเป็นผู้ช่ำชองในศาสตร์แห่งกายวิภาคก็คือ หมอเกเลนได้ลงไม้ลงมือในการรักษาผู้ป่วยจริง! ดั่งที่แอดได้เคยเล่าไปแล้วใน EP. แรก ว่าในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานของหมอเกเลน จ๊อบแรกที่เขาได้รับคือการเป็นศัลยแพทย์ผู้คอยให้การรักษาแก่เหล่านักสู้กลาดิเอเตอร์ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่หมอเกเลนจะได้พบกับประสบการณ์ตรงผ่านการมองเห็นและสัมผัสจับต้องกับโครงสร้างร่างกายของผู้ป่วยโดยตรงจากจ๊อบดังกล่าว
ความเก่งกาจของหมอเกเลนนั้นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนมากขึ้น เมื่อครั้งที่เขาได้เดินทางไปยังกรุงโรม ในปี ค.ศ. 161 ณ นครแห่งนี้ หมอเกเลนจะได้ทำการฝึกปรือฝีมือ เผยแพร่ความรู้ ตลอดจนถึงทำการสาธิต นั้นยิ่งทำให้ชื่อเสียงของเขาล้วนเป็นที่เรื่องลืออย่างยิ่งในหมู่สาธรณชน
หลังจากต้องหลีกทางให้กับความริษยาของเหล่าบรรดาแพทย์ในกรุงโรมจนทำให้หมอเกเลนต้องย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองเพอร์กามัมเป็นเวลาห้าปี แต่ด้วยชื่อเสียงเรียงนามอันโจษจันและเป็นที่เล่าขานของหมอเกเลน ชื่อของเขาจึงได้ถูกเล่าขานต่อๆกันไปจนกระทั่งลอยไปเข้าพระกรรณของจักรพรรดิโรมัน มาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) เพียงเวลาสามปีนับจากนั้น หมอเกเลนได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ จากปัจจัยดังกล่าวนี้จึงทำให้หมอเกเลนก้าวเข้ามามีอิทธิพลในวงการแพทย์มากยิ่งขึ้น
นอกจากความเก่งกาจในทักษะการแพทย์ของหมอเกเลนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นหนึ่งในด้านกายวิภาคศาสตร์ของหมอเกเลนก็คือ ฝีมือในการผ่าชำแหละเพื่อศึกษาโครงสร้างร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่มิอาจหาใครทัดเทียมได้ ซึ่งความรู้ที่หมอเกเลนค้นพบจากการศึกษานั้นก็มีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ดั่งที่เขาแสดงให้เห็นว่าหัวใจฝั่งซ้ายและหลอดเลือดแดงจำนวนมากนั้นลำเลียงเลือดมากกว่าที่จะเป็น “pneuma” (อ่านว่า นิว-มา ซึ่งคนในสมัยนั้นต่างเข้าใจผิดคิดกันไปว่าในหลอดเลือดมีจิตวิญญาณแห่งชีวิตเคลื่อนไหลผ่านไปมา) ซึ่งผู้ที่เชื่อในแนวคิดเรื่อง “pneuma” เห็นทีจะเป็น อริสโตเติล (Aristotle) และ อีเรซิสเธลธุส (Erasistratus)
ยิ่งไปกว่านั้นอรรถาธิบายและการศึกษาการทำงานของระบบประสาทของหมอเกเลนยังก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เขาได้ทำการผ่าเพื่อศึกษาสมองและไขสันหลังที่ประกอบไปด้วยเส้นประสาทไขสันหลังจำนวนมาก ไม่เพียงแต่แค่ได้ค้นพบโครงสร้างของระบบประสาท แต่ยังเผยให้เห็นถึงการทำงานของเส้นประสาท อีกทั้งเขายังค้นพบแง่มุมของโครงสร้างอื่นๆอีกมากมายของร่างกายไม่ว่าจะเป็น ตา ลิ้น กล่องเสียง
จากสิ่งที่แอดได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็อาจเพียงพอแล้วที่จะทำให้เสียงของหมอเกเลนนั้นดังพอที่จะทำให้คนที่อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกับเขาเชื่อตามอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วนั้น ผู้คนมักเชื่อใน “ตัวบุคคล” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฏอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีความสามารถอันมากล้นจนก้าวเข้ามาเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคสมัยเฉกเช่นหมอเกเลนแล้วด้วยนั้น ย่อมต้องมีผู้คนจำนวนล้นหลามที่พร้อมจะเชื่อและคล้อยตามในสิ่งที่หมอเกเลนได้ค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่อย่างแน่นอน
แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่หมอเกเลนค้นพบก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสียทั้งหมดครับ เพราะอะไรกันนะหรือ?
คือเราจำเป็นต้องทราบถึงบริบททางสังคมในยุคสมัยของหมอเกเลนกันก่อนครับ การใช้ร่างหรือศพมนุษย์มาผ่าเพื่อทำการศึกษาโครงสร้างร่างกายนั้นถือได้ว่าเป็นข้อห้ามอันใหญ่หลวงในยุคสมัยนั้นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้นี่เอง หากสมมติว่าเราเป็นนักกายวิภาคศาสตร์ในยุคนั้นที่มีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะใฝ่รู้และอยากศึกษาให้ลงถึงรายละเอียดของโครงสร้างร่างกายมนุษย์ สิ่งที่เราต้องทำนั้นก็คือการหาสิ่งทดแทนเพื่อที่จะได้นำมาใช้ประกอบการผ่าชำแหละ ซึ่งสิ่งที่ว่านั้นก็คือ “ร่างของสัตว์” นั้นเองครับ
ใช่แล้วครับ หมอเกเลนก็ใช้วิธีการข้างต้นที่ว่านี้ในการผ่าศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและเพิ่มพูนความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ของเขา ซึ่งการศึกษาด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะมอบความรู้ผิดๆที่มีต่อร่างกายมนุษย์กอปรกับข้อสันนิษฐานที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงของหมอเกเลนที่มีอยู่ว่า “อวัยวะใดก็ตามที่พบได้ในสัตว์ก็น่าจะสามารถพบได้ในมนุษย์ด้วยเช่นกัน” ดั่งที่ได้แสดงไว้ในตำราคู่มือของเขาที่ชื่อ “Anatomical procedures” (De Anatomicis Administrationibus)
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นก็คือ ความรู้ผิดๆที่ถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น และไม่ใช่เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นนะครับ แต่ห้วงเวลาที่ความรู้ของหมอเกเลนถูกส่งต่อกันมานั้นมีระยะเวลาอันยาวนานราว 15 ศตวรรษ (หรือ 1,500 ปี) เลยทีเดียวครับ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นานแสนนาน
ลองคิดดูสิครับว่า ความรู้ที่ไม่ได้อัพเดต หรือไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติซึ่งมันได้กินเวลายาวนานนับสหัสวรรษ มันจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ศึกษาและผู้คนที่ได้รับการรักษาเพียงใด หากจะอธิบายให้เห็นภาพอย่างง่าย ก็อาจเปรียบได้กับการที่แพทย์คนหนึ่งมีความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์อย่างไม่ถ้วนถึง แล้วนำมันไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งนั้นอาจทำให้ผลการรักษาที่ได้นั้นด้อยประสิทธิผลลง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอาจทำให้ชีวิตของคนๆหนึ่งต้องเสี่ยงต่อการดับสูญ หากบุคคลผู้นั้นมีสภาพร่างกายที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ประเด็นอันน่าขับข้องใจที่ชวนฉงนซึ่งตามติดๆกันมาเลยก็คือ “เพราะเหตุใดกันจึงไม่มีใครกล้าลุกฮือขึ้นมาทัดท้านความรู้ทางการแพทย์ผิดๆที่หมอเกเลนเป็นผู้ค้นพบและส่งต่อมาเรื่อยๆ แม้ในยามที่เขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว?...”
ใน EP. ถัดไปซึ่งจะเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดของหมอเกเลน แอดจะมาเฉลยคำตอบอันเป็นข้อสงสัยที่ยังอาจค้างคาใจของท่านผู้อ่านหลายๆท่านกันต่อครับ
อ้างอิงข้อมูล:
Prendergast JS. The Background of Galen’s Life and Activities, and its Influence on His Achievements. Proceedings of the Royal Society of Medicine. 1930;23(8):1131-1148. doi:10.1177/003591573002300824
Dunn, Peter. (2003). Galen (AD 129–200) of Pergamun: Anatomist and experimental physiologist. Archives of disease in childhood. Fetal and neonatal edition. 88. F441-3. 10.1136/fn.88.5.F441.
Rajkumari Ajita. “Galen and his Contribution to Anatomy: A Review”. Journal of Evolution of Medical and Dental Sciences 2015; Vol. 4, Issue 26, March 30; Page: 4509-4516, DOI: 10.14260/jemds/2015/651
อ้างอิงภาพ:
Title page fromGalen, Claudius. Galeni sexta classis eam chirurgie partem amplectitur (Venetiis: apud Iuntas, 1550), image courtesy of Reynolds Historical Library, the University of Alabama at Birmingham
โฆษณา