20 ก.ย. 2020 เวลา 15:45 • สิ่งแวดล้อม
เรื่องเล่า จากเขานางรำ
คนค้นเสือ
เจ้าป่าแห่งห้วยขาแข้ง
เมื่อครั้งที่เคยทำงานมูลนิธิไทยรักษ์ป่า โครงการหนึ่งของมูลนิธิฯ คืองานสนับสนุนโครงการวิจัยเสือโคร่งที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้ทีมวิจัย แต่มันอาจจะเป็นเงินทุนที่ไม่เยอะมาก ถ้าเทียบกับงานที่นักวิจัยต้องทำ และเงินที่ต้องใช้จ่ายจริงๆ ในการทำงาน
การได้มาเยือนพื้นที่ที่เราคุ้นหู แต่ไม่เคยสัมผัสด้วยตา แถมเป็นพื้นที่ศึกษวิจัยที่น้อยคนนักจะมีโอกาสเข้าไปมันช่างทำให้เรายิ่งรู้สึกผูกพันธ์กับพื้นที่ ทั้งที่เราเพิ่งเจอกันครั้งแรก
นับเป็นโชคดีที่การมาที่ห้วยขาแข้งครั้งแรก ก็ได้มีโอกาสเข้ามาที่เขานางรำซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำวิจัยสัตว์ป่า ที่โชคดีกว่านั้นคือการได้ฟังบรรยายจากทีมวิจัยเสือโดย ดร. อัจฉรา ซิ้มเจริญ (พี่ต้อม - นักวิจัยเสือโคร่งประจำสถานีเขานางรำ) และหัวหน้าสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ (หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ) ที่อธิบายถึงที่มาที่ไป และความสำคัญของการอนุรักษ์เสือ รวมไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ (ที่แสนจะลำบาก และต้องใช้ความอดทนอย่างสูง)
พี่ต้อม บอกว่าถ้าให้ทุกคนช่วยจินตนาการว่าบ้านของเสือจะเป็นแบบไหน หลายคนจะต้องคิดว่าบ้านของเสือต้องเป็นป่าดงดิบ มีต้นไม้ใหญ่ๆ รกๆ แต่จริงๆ แล้วป่าที่สมบูรณ์ไม่ใช่แค่มีต้นไม้ใหญ่ๆ ต้นไม้เยอะๆ ไม่ใช่มีแต่นก หนู แมลง แต่ป่าที่สมบูรณ์จริงๆ คือป่าที่มีห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ดังนั้นการมีเสือในพื้นที่ป่าจึงถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุด เพราะการมีเสือในพื้นที่มันหมายถึงการมีเหยื่อในพื้นที่นั้นด้วย
เจ้าหน้าที่บอกว่า จริงๆ แล้วพื้นที่ราบของผืนป่านี่แหละ คือพื้นที่ที่เสือชอบ เพราะเหยื่อส่วนใหญ่ของเสือ เช่น กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง จะหากินบริเวณทุ่งหญ้า มากกว่าที่จะอยู่บนเขาสูงชัน
สำหรับพื้นที่ห้วยขาแข้งคาดว่ามีจำนวนประชากรเสือประมาณ 54 ตัว จากทั่วประเทศประมาณ 117 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่พบเสือมากที่สุดในประเทศเลยแหละ
หลักจากที่วันแรกได้ฟังบรรยายข้อมูลของพี่เสือไปแล้ว วันที่สองพวกเราจะไปเป็น “คนค้นเสือ” กัน แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะเราจะค้นหากันแค่ร่องรอยของพี่เสือเค้าเท่านั้น เจ้าหน้าที่ได้พาเราออกไปสำรวจร่องรอยของสัตว์กัน โดยการเดินตามด่านสัตว์ ระยะทางประมาณ 4 กม. ในเส้นทางเป็นป่าที่ค่อนข้างโปร่ง ตลอดเส้นทางเราจะเห็นร่องรอยของสัตว์ป่าเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น รอยเท้า รอยคุ้ยเขี่ย มูลสัตว์ต่างๆ
สำหรับครั้งนี้พิเศษหน่อยนอกจากทีมวิจัยจะพาดูร่องรอยของสัตว์ต่างๆ เรายังตามหา “สเปรย์” ที่เสือพ่นไว้
เอาล่ะสิ “สเปรย์” คืออะไร
ก่อนจะกลับมาเล่าเรื่องตามหาสเปรย์ เรามารู้พฤติกรรมของเสือกันก่อน หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตว่า “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”
ใช่แล้วเค้าไม่อยู่ถ้ำเดียวกันจริงๆ ยกเว้นจะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ๆๆๆ เสือตัวผู้เค้ายอมให้ตัวเมียเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเค้าได้ 2-3 ตัวเลยเน้อ (ฮั่นแน่...รู้ใช่มะว่าเสือตัวผู้มันคิดอะไรอยู่)
เสือแต่ละตัวจะมีการหาพื้นที่ จับจองอาณาเขตหากินเป็นของตนเอง ที่ห้วยขาแข้งแห่งนี้เสือตัวผู้จะใช้พื้นที่หากินประมาณ 230 ตารางกิโลเมตร ส่วนเสือตัวเมียเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ตารางกิโลเมตร
(ตัวเมียกะตัวเมียเค้าก็ไม่ใช้พื้นที่ร่วมกันนะจ๊ะ แต่จะยอมให้มีพื้นที่ทับซ้อนนิดหน่อย) ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในประเทศไทย เพราะป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกนี่พี่เสือตัวผู้ต้องใช้พื้นที่หากินถึง 700 ตารางกิโลเมตร 😱 (กว่าพี่จะได้เหยื่อสักตัวนี่ เดินกันขาลากเลย) นั่นหมายความว่าที่ห้วยขาแข้ง มีเหยื่อเยอะกว่า จึงไม่ต้องเดินหาเหยื่อไกลขนาดนั้น
เสือจะ “สเปรย์” สารบางอย่างออกมาใส่ต้นไม้ (เจ้าหน้าที่บอกว่าเค้าฉลาดนะ พี่เสือเค้าจะทำการ “สเปรย์” บนต้นไม้ด้านที่โค้งเข้า เพราะถ้าสเปรย์ด้านที่โค้งออกเวลาฝนตกมันจะทำให้กลิ่นเค้าจางไวเพราะโดนฝน)
การสเปรย์ของเสือ นอกจากจะเป็นการแสดงอาณาเขต (บ้าน) ของเสือแล้ว มันยังบ่งบอกให้เสือตัวอื่นที่จะเข้ามารับรู้ และประเมินว่าขนาดตัวของมันนี่สูงใหญ่ประมาณไหน (ประมาณว่า ถ้าจะมาแย่งที่ข้า ต้องประเมินตัวเองดีๆ พี่ตัวใหญ่นะ น้องว่าไหวป่าว?? ) เพราะถ้าเสือตัวใหญ่ ตำแหน่งของการ สเปร์ยจะสูงไปด้วย และเสือตัวเมียเองก็จะสเปรย์ต่ำกว่าเสือตัวผู้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นการบอก กลายๆ ว่า พี่พร้อมจะผสมพันธุ์แล้วนะน้อง 😆 (ปกติเสือหนุ่มจะต้องหาบ้านให้ได้ก่อนถึงจะมีคู่ ถ้าไม่สามารถจับจองพื้นที่สร้างบ้านไ้ด้ก็จะหาคู่ไม่ได้นะจ๊ะ ฮึบๆ ✌️✌️)
นอกจากการสเปรย์ แล้วการแสดงอาณาเขตว่านี่คือบ้านพี่นะน้อง ก็คือการตะกุยดิน พี่เสือโคร่งเค้าจะตะกุยดินเป็นแนวตรง จากด้านหน้าเข้าหาตัว (III) ดังนั้นถ้าเราเจอรอยตะกุยดินเป็นรูปตัววี (\\\///) แล้วละก้อ อันไม่ใช่ของพี่เสือโคร่งนะจ๊ะ แต่อาจเป็นรอยของเสืออื่นที่ตัวเล็กกว่า เช่นเสือดาว
อีกอันหนึ่งที่พี่เสือเค้าจะต้องทิ้งร่องรอยไว้แน่ๆ ก็คือ รอยเท้านั่นเอง พี่เสือโคร่งของเราตัวใหญ่กว่าเสือชนิดอื่น แน่นอนรอยเท้าพี่เค้าก็ต้องใหญ่กว่าเสือชนิดอื่นไปด้วย ถ้าเป็นพี่เสือตัวผู้แล้วละก็รอยเท้าจะมีขนาดใหญ่ 9 เซ็นติเมตร ขึ้นไป ถ้าเป็นเสือตัวเมียขนาดรอยเท้าก็จะย่อมลงมาหน่อยประมาณ 7-8 เซ็นติเมตร ถ้าพบรอยเท้าเล็กกว่านี้ในพื้นแล้วมีรอยขนาด 7-8 เซ็นติเมตรอยู่ใกล้ๆ สัญณิฐานว่าน่าจะเป็นแม่เสือโคร่งกับลูกเสือ แต่ถ้ามีแต่รอยเท้าเล็กๆ อย่างเดียวนี่คิดไว้เลยว่าน่าจะเป็นเสือชนิดอื่น ที่สำคัญรอยเท้าเสือจะไม่มีรอยเล็บให้เห็นนะเออ ถ้ามีรอยเล็บให้เห็นนี่คือรอยเท้า “หมา” นะจ๊ะ 🙄
พี่ต้อม เล่าว่าการทำวิจัยเสือ เพื่อการอนุรักษ์เสือ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่เราจะอนุรักษ์ตัวอะไรสักอย่าง มันก็ไม่ต่างจากที่เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่บ้าน เราต้องรู้ว่าเค้ากินอะไร เค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยู่อย่างไร ไปไหนมาบ้าง และพฤติกรรมอีกหลายๆ อย่าง ที่เค้าแสดงออกมันหมายถึงอะไร แต่การที่จะได้ข้อมูลเหล่านี้มามันไม่ง่ายเหมือนการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่บ้าน เจ้าหน้าที่จะต้องไปเก็บมูลเสือ มาล้างเพื่อดูสิ่งที่เหลืออยู่ เช่น ขนสัตว์ กระดูก เกล็ด เพื่อดูว่าเสือกินสัตว์อะไร สัตว์อะไรที่เค้ากินบ่อยๆ แล้วกินบ่อยแค่ไหน ลองคิดเล่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ต้องเดินกันขนาดไหน ถึงจะเก็บมูลเสือมามากพอที่จะใช้ในงานวิจัย 😥
 
นอกจากเก็บมูลเสือแล้ว ก็จะมีการติดกล้อง Camera trap ตามจุดต่างๆ ที่เสือเดินผ่าน แล้วทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเสือชอบเดินผ่านจุดนี้ นี่แหละงานใหญ่ หน.สมโภชน์ เล่าว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องไปเดินดมต้นไม้ในป่า ดมกันวันละเป็นร้อย เป็นพันต้น เดินดมทุกวัน ดมกันอยู่สามสี่เดือน กว่าจะได้ข้อมูลว่าควรติดกล้องที่จุดไหน
ทีนี้การติดกล้อง 1 จุดต้องใช้กล้อง 2 ตัว ตั้งกล้องคนละฝั่ง หันหน้าเข้าหากัน พอพี่เสือของเราเดินผ่านกล้องก็จะจับสัญญาณเคลื่อนไหวและถ่ายภาพพร้อมกัน เราก็จะได้ภาพเสือพร้อมกันสองด้าน
ทำไมต้องถ่ายภาพเสือ 2 ด้านในเวลาเดียวกันน่ะหรอ ไม่ใช่เพราะงบเยอะ เพราะกล้องเหลือนะจ๊ะ แต่เพราะเสือแต่ละตัวนี่เค้ามีลายไม่เหมือนกันนะเออ และลายด้านซ้าย ด้านขวา ก็ไม่เหมือนกันอีก ก็เหมือนๆ กับคนเรานั่นแหละที่มีลายนิ้วมือไม่เหมือนกัน และเสือเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ที่เคลื่อนไหว เดินไปเดินมาได้ มันอาจจะเดินไปติดกล้องโน้นกล้องนี้ได้เรื่อยๆ ดังนั้นการจะ Identification ว่าเป็นตัวไหนจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลลายเสือทั้งสองด้าน เพื่อช่วนยืนยันตัวตน และเพื่อความแม่นยำในการนับจำนวนเสือที่มีอยู่ ในธรรมชาติ
อีกวิธีที่ช่วยให้เจ้าหน้าศึกษาพฤติกรรมของเสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การติดปลอกคอ (Collar) เจ้าปลอกคอนี้จะคอยส่งสัญญาณดาวเทียมว่าตอนนี้พี่เสือเราอยู่ที่ไหน เดินไปไหนมาบ้าง ทำให้ช่วยคาดคะเนว่าเกิดอะไรขึ้นกับพี่เสือของเรา เช่น ถ้าเดินไปไกลๆ กระจายไปทั่ว พื้นที่อาณาเขตของตัวเอง แสดงว่าอาจจะกำลังหาเหยื่อ ถ้าเดินไปทั่วๆ แล้วกลับมาที่เดิมซ้ำๆ อาจเป็นเพราะการกลับมากินเหยื่อที่กินเหลือไว้ แต่ถ้าเดินวนเวียนไม่ไกลจุดเดิมเท่าไหร่ หรือกลับมาจุดเดิมซ้ำๆ อาจจะเป็นไปได้ว่ามีลูก หรือบาดเจ็บ
เจ้าปลอกคอที่ใช้จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม (ตามหลักสากลน้ำหนักปลอกคอจะต้องไม่เกิน 10% ของน้ำหนักตัวเสือ) และเมื่อแบตเตอรี่หมดปลอกคอจะปลอดออกเองอัตโนมัติ เพราะฉนั้น... ไม่ดราม่านะจ๊ะ 🤭
เสือโคร่งตัวเมียจะออกลูกได้ถึง 4 ตัว แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ตัว แต่หาก ตัวผู้ที่เป็นพ่อของเสือไม่อยู่แล้ว หรือตายไป แล้วถ้ามีเสือตัวผู้อื่นเข้ามาในพื้นที่ หรือผสมพันธุ์กับแม่เสือแล้ว เสือตัวผู้จะฆ่าลูกเสือที่เกิดจากตัวผู้ตัวเดิม เพื่อให้เหลือแต่เชื้อสายของตัวเอง 😰 (โหดแท้...คงอารมณ์ประมาณตัดไฟแต่ต้นลม 😆)
ในการคลอดลูก 1 ครอก เสือตัวเมียจะใช้เวลาเลี้ยงดูลูกเกือบ 2 ปี เสือตัวเมีย 1 ตัว จะสามารถให้ลูกได้ประมาณ 4 คลอก ส่วนเสือตัวผู้ ช่วงที่มีความสมบูรณ์ และพร้อมผสมพันธุ์อยู่ประมาณ 4 ปี ดังนั้นเสือตัวผู้จะผสมพันธุ์ได้ประมาณ 2 คลอกเองจ้า 😊
นี่เป็นแค่เรื่องราวส่วนน้อยๆ ของเจ้าป่าที่หลายๆ คนว่าน่ากลัว แต่แท้จริงแล้ว “เสือ” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด
เสือ...อาจจะดูเป็นสัตว์โหดร้ายเพราะต้องเฆ่นฆ่าชีวิตสัตว์อื่นเพื่อเป็นอาหาร แต่จริงๆ แล้วเสือกำลังทำหน้าที่ของตัวเองตามที่ธรรมชาติจัดสรร
เสือ...ล่าเมื่อหิว กินเพื่อดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์เท่านั้น ไม่ใช่การล่า และกินเพื่อความสนุก และตอบสนองกิเลสตัวเอง
หากตอนนี้ให้คิดว่า สิ่งมีชีวิตใดบนโลกนี้ที่โหดร้ายที่สุด คงเป็น ”มนุษย์” เรานี่แหละที่โหดร้ายที่สุด โปรดอย่าถามว่าเพราะอะไร เพราะเชื่อว่าทุกคนคงรู้คำตอบดี
แล้วคุณล่ะ คิดว่าสิ่งมีชีวิตใดที่คู่ควรกับคำว่า “โหดร้าย” ที่สุด?
โฆษณา