21 ก.ย. 2020 เวลา 05:13 • ท่องเที่ยว
รอยบุญผืนป่า (EP.๑/๔) ลีลาพุทธศิลป์ เส้นทางธรรม “อรหันต์” แห่งมรรค ๔ ล้านนา ดอยสุเทพเป็นศรี “วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร” พระบรมธาตุเจดีย์คู่ฟ้าเมืองเชียงใหม่
 
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาเรียกนามง่าย ๆ และ สั้น ๆ ว่า “วัดดอยสุเทพ”
เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ราว ๑๔ กม. ถือเป็นอีกหนึ่งพระอารามหลวงสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นหนึ่งในเส้นทางบุญพระอรหันต์ระดับสูงสุดแห่งมรรค ๔ ระดับ เมื่อครั้งครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพฐานข้อมูลของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร บันทึกจากการอ้างอิงตามพงศาวดารโยนก และ ชินกาลมาลีปกรณ์ถึงตำนานพระบรมธาตุดอยสุเทพไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๙ ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ล้านนา ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบนหลังช้างมงคลจากเมืองศรีสัชนาลัย โดยตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใด ก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ปรากฏว่าช้างได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพ (จุดที่เป็นที่ตั้งวัด) พร้อมกับทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนจะล้มลง (ตาย)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ทรงรับสั่งให้สร้าง พระบรมธาตุเจดีย์ ด้วยการขุดดินลึก ๘ ศอก กว้าง ๖ วา ๓ ศอก พร้อมกับแท่นหินขนาดใหญ่ ๖ แท่นนำมาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุมด้านล่าง เพื่อประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ยอดดอยสุเทพอยู่คู่ฟ้าคู่ดินเมืองเชียงใหม่ โดยมีรูปทรงศิลปะเชียงแสน ก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง ๖ วา สูง ๑๒ วา ซ้อนเรียงขึ้นเป็นสองชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนชั้นลดหลั่นรองรับองค์ระฆังทรงสิบสองเหลี่ยม ปิดแผ่นทองจังโกเหลืองอร่ามทั้งองค์ครอบไว้อีกหนึ่งชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนของบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด และฉัตร ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนสวมรองเท้าภายใน บริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ รวมถึงห้ามมิให้สตรีเข้าไปในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์อย่างเด็ดขาด
รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ประกอบด้วยปูชนียวัตถุสำคัญถึง ๕ ประการ ได้แก่สัปทน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ โดยพระเจ้ากาวิละ องค์ปฐมผู้ครองนครเชียงใหม่แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร โดยเป็นฉัตรกลางแจ้งประดับมุมทั้งสี่ สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงความร่มเย็นในพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปทั่วทั้งสี่ทิศ ถือเป็นสิ่งคุ้นตาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
สัตติบัญชร รั้วหอกรอบองค์พระบรมธาตุ มีที่มาจากตำนานการทำหน้าที่ของโทณพราหมณ์ ในการป้องกันการแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเพื่อนำไปบูชาประจำเมือง
ต่าง ๆ
หอยอ วิหารขนาดเล็กตั้งอยู่รอบองค์พระบรมธาตุทั้งสี่ทิศ ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูป สื่อความหมายถึงการบูชาสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า
 
หอท้าวโลกบาท หอยอดแหลมขนาดเล็ก รายล้อมด้วยท้าวโลกบาลเทพทั้งสี่ทำหน้าที่ปกปักรักษารอบองค์พระบรมธาตุ
หม้อปูรณฆฏะ (ไหดอกบัว) สื่อความหมายถึงความรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาไทย พุทธศาสนิกชนสามารถเดินวนรอบองค์พระบรมธาตุ พร้อมกับสวดบูชาพระธาตุตามคำบทสวดซึ่งวัดได้อำนวยความสะดวกจัดไว้ในแต่ละมุม
บันไดนาค ๗ เศียร สร้างขึ้นราว พ.ศ.๒๑๐๐ ประติมากรรมปูนปั้นคอนกรีตเสริมเหล็กพญานาคคู่ ๗ เศียร ประดับตกแต่งเกร็ดตลอดลำตัวและเศียร ด้วยศิลปะกระเบื้องแก้วสีเหลืองสลับสีเขียวแซมสีชมพู ตรงกลางเป็นขั้นบันไดทอดยาว ๓๐๖ ขั้น หนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
ลานชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ อีกหนึ่งไฮไลท์ต่อการชมบรรยากาศเมืองเชียงใหม่ในมุมสูงได้อย่างชัดเจนทุกช่วงเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น และยามค่ำคืนมองเห็นแสงไฟเมืองนับหมื่น ๆ ดวง ท่ามกลางความมืดมิดของท้องฟ้าที่ส่องประกาย ระยิบระยับจากแสงดาว
ภายในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ยังประกอบไปด้วย พระอุโบสถ รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ภายในประดิษฐาน “พระภูมิผัสสะ” พระพุทธรูปแบบพระสิงห์หนึ่ง ปางสมาธิเพชร เป็นองค์พระประธาน และพระวิหารล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๔ หลังด้วยกันคือ พระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือด้านทิศใต้เป็น พระวิหารพระเจ้าทันใจ ด้านทิศตะวันออกเป็น พระวิหารพระพฤหัส และพระวิหารพระพุทธ อยู่ทางทิศตะวันตก โดยแต่ละวิหารตั้งชื่อตามองค์พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
รวมถึง ศาลาบาตร สำหรับพระภิกษุสงฆ์ในการทำวัตร สวดมนต์ และประกอบพิธีกรรมสำคัญทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือที่เรียกกันว่าวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนจะเดินถือประทีปธูปเทียนจากบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ผ่านวัดศรีโสดาขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ เพื่อสักการะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จากนั้นร่วมกันบำเพ็ญศีล วิปัสสนา ทำบุญตักบาตรในเช้าวันรุ่งขึ้นแล้วจึงเดินทางกลับลงมา
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นหนึ่งในวัดราษฎร์ได้รับพระราชทานให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์ประจำปีนักษัตรสำหรับผู้ที่เกิดในปีมะแม รวมถึงเป็นพระอารามทางด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี และแผนกสามัญ เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ กรมศิลปากรประกาศ ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
การเดินทาง
o ถนนศรีวิชัย
ข้อมูลอ้างอิง
๑. ป้ายข้อมูลต่าง ๆ ภายในวัด
๒. ข้อมูลบางส่วนจากพระเทพวรสิทธาจารย์ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และรองเจ้าคณะภาค ๗ (พ.ศ. ๒๕๖๓)
๓. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๙ กรมการศาสนา
๔. ข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ประวัติและความเป็นมา โดยหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิ เษกเชียงใหม่
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ "
แนะนำข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มเติมได้ที่ email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
โฆษณา