21 ก.ย. 2020 เวลา 10:30 • สิ่งแวดล้อม
"อาคารเขียว" รักษ์ธรรมชาติ โดย ArchiNature
ที่มา : https://unsplash.com/ และ ArchiNature
“สถาปัตยกรรม” ประเภทอาคารที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าที่เดินเล่นกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ล้วนมีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นโดยเมืองที่คิดเป็นร้อยละ 70 ของทั้งโลก ทั้งๆที่เมืองมีพื้นที่เพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่โลกทั้งหมดเท่านั้น
ท่ามกลางสถานการณ์การขยายตัวของเมือง สถาปนิกและนักออกแบบต่างพยายามหาทางออกที่ทำให้เมืองมีความยั่งยืนมากขึ้น ในที่สุดจึงพบทางออกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงร้อยละ 34 ใช้พลังงานน้อยลงร้อยละ 25 ใช้น้ำน้อยลงกว่าร้อยละ 11 รวมถึงสร้างขยะน้อยลงเมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบเดิม เพียงเปลี่ยนมาเป็นแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “อาคารเขียว”
ที่มา : https://www.nationalgeographic.com/ (SEP 2020)
“อาคารเขียว” ไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างแต่หมายถึงตลอดชีวิตอาคารตั้งแต่กระบวนการวางแผน การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งาน การซ่อมบำรุง การปรับปรุงใหม่ ไปจนถึงการรื้อถอนที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเลือกใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จากการให้ความหมายโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม Environmental Protection Agency หรือ EPA
มาตรฐานอาคารเขียวเป็นระบบการให้คะแนนจากการประเมินอาคาร FMLink Group กล่าวว่า ความแตกต่างกันของสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศอาจส่งผลต่อคะแนนที่สูงหรือต่ำผิดปกติ จึงเกิดการออกแบบมาตรฐานอาคารเขียวเฉพาะในแต่ละประเทศขึ้น เช่น BREEAM หรือ Building Research Establishment Environmental Assessment Method ของอังกฤษ, Green Star ของออสเตรเลีย, TREES หรือ Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability ของไทย และที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ LEED หรือ Leadership in Energy & Environmental Design ของสหรัฐอเมริกา
“ประเทศไทย” มีอาคารเขียวที่ได้การรับรองตามมาตรฐาน TREES ของไทย 66 โครงการและมาตรฐาน LEED ของสหรัฐอเมริกา 183 โครงการ โดยโครงการล่าสุดที่ผ่านการรับรอง คือ Samyan Mitrtown Office Tower ได้รับ LEED Core & Shell 2009 Gold certified, SINGHA COMPLEX ได้รับ LEED Core & Shell 2009 Gold certified และ Abdulrahim Place ได้รับ LEED v4.1 O+M: EB Gold certified จากข้อมูลของ TGBI สถาบันอาคารเขียวไทย และ GBIG หรือ Green Building Information Gateway
ที่มา : http://office.samyan-mitrtown.com, https://www.singhaestate.co.th/ และ http://www.gpfoffice.com/ (SEP 2020)
“สิทธิประโยชน์” จากอาคารเขียวไม่ได้เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลในด้านสุขภาพกายและจิตใจของผู้ใช้งานอาคารที่กว่าร้อยละ 90 ร้องเรียนคุณภาพอากาศและความชื้นในอาคารน้อยลง ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นจากการระบายอากาศที่ดีและการเลือกใช้วัสดุที่ส่งผลให้มีเสียงรบกวนลดลง ประสิทธิภาพของวงจรการนอนหลับที่ดีขึ้นจากการรับแสงธรรมชาติที่เพียงพอ และยังลดการเจ็บป่วยเมื่อคุณภาพอากาศดีขึ้น
ที่มา : https://www.nationalgeographic.com/ (SEP 2020)
ในส่วนของผู้พัฒนาอาคารเขียว แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 20 แต่สามารถตั้งค่าเช่าสูงกว่าอาคารในบริเวณเดียวกันถึงร้อยละ 25 มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงร้อยละ 21 ได้รับ FAR หรือ Floor Area Ratio คือพื้นที่ก่อสร้างอาคารรวมต่อพื้นที่ดินมากขึ้นสูงสุดร้อยละ 20 ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนจาก NPV หรือ Net Present Value คือมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสดสูงกว่าร้อยละ 50 และยังมี DPP หรือ Discounted Payback Period คือระยะเวลาคืนทุนคิดลดเร็วกว่าร้อยละ 10 อีกด้วย
ที่มา : https://www.scbeic.com/th/ (SEP 2020)
เมื่อการสร้างสถาปัตยกรรมสามารถรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆกับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ใช้งานและผู้พัฒนาอาคารจะได้รับ ในขณะที่อาคารเขียวต้องการความร่วมมือจากผู้รับเหมา สถาปนิก วิศวกร และลูกค้าในทุกขั้นตอน ดังนั้นไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่ในสถานะใดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดของอาคารจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนอาคารเขียวเพื่อความยั่งยืนของ “สถาปัตยกรรม” และ “ธรรมชาติ” เช่นกัน
Credit : ที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ
โฆษณา