21 ก.ย. 2020 เวลา 11:21 • การเมือง
สื่อต่างชาติวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย อะไรที่ทำให้การประท้วงครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา
การประท้วงที่เกิดขึ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่เกาะติดความคืบหน้า แต่ก็เป็นหนึ่งในข่าวที่ทั่วโลกจับตามองเช่นกัน เราจะไปสำรวจดูว่าสื่อต่างๆ มองเรื่องนี้อย่างไร
-- CNN --
สำนักข่าว CNN ระบุว่าความไม่พอใจในหมู่คนรุ่นใหม่นั้นเริ่มปะทุมาหลายปีแล้ว และรัฐประหารปี 2014 ก็ตามมาด้วยความล้มเหลวในการกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งนักเคลื่อนไหวก็มองว่าเป็นการกดขี่เสรีภาพและสิทธิของประชาชน
CNN ระบุว่า นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า พวกเขา “เหลืออดกับความ อยุติธรรม อย่างที่ทหารยังคงครองอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ การต่ออายุพรก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลไวรัสโคโรนา ที่เป็นการปิดกั้นฝั่งจตรงข้ามการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก” นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเศรษฐกิจ และการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในกัมพูชา
-- BBC --
สำนักข่าว BBC ระบุว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การประท้วงและความไม่สงบทางการเมืองมายาวนาน แต่ “คลื่น” ลูกล่าสุดเริ่มเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อศาลสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่และผู้มีสิทธิ์ออกเสียงครั้งแรกอย่างมาก
1
หลังจากนั้น การประท้วงกลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน เพราะข่าวการหายตัวไปของ วันเฉลิม
สำนักข่าว BBC วิเคราะห์ว่า สิ่งที่แตกต่างครั้งนี้ คือข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือน (Shockwaves) ทั่วประเทศ
-- Reuters --
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นครั้งใหญ่สุดในรอบหลายปี มีผู้มาร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน
Reuters อ้างคำสัมภาษณ์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ว่าการกระทำของผู้ประท้วงไม่ได้บรรลุผลอะไรเลย การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านพระมหากษัตริย์ “แต่พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ศัตรู”
อย่างไรก็ตาม Reuters ได้สัมภาษณ์ผู้สนับสนุน “เสื้อแดง” สมพร วัย 50 ปี ที่กล่าวชื่นชมว่าเด็กรุ่นใหม่ได้ทำสิ่งที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่ย่าไม่กล้าที่จะทำ และสมพรภูมิใจในตัวเด็กเหล่านี้
-- ABC – Australia --
สำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียได้รวบรวมคำสัมภาษณ์ของผู้ประท้วงรุ่นใหม่หลายคน ถึงเหตุผลที่ออกมาร่วมชุมนุม
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า พวกเขาต้องการแสดงให้เห็นพลัง (ของประชาชน) และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเธอมองว่าตอนนี้ ไม่มีความยุติธรรม มีการทุจริต เธอหวังเป็นอย่างมากถึงการเมืองที่ดีกว่า และความร่วมมืออย่างสมดุลระหว่าง ประชาชน รักการเมือง และทหาร
นักศึกษามหาวืยาลัยจากชลบุรี วัย 19 ปี กล่าวว่า “ระบบเผด็จการได้ครอบครองประเทศมา 6 ปีแล้ว” และพวกเขามารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังขับไล่เผด็จการ
ผู้ประท้วงอีกคน กล่าวว่าเขาออกมาเพราะเศรษฐกิจกำลังแย่ลง และถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะออกมาช่วยกันขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้า และต่อสู้กับเผด็จการ เขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมือง ไม่มีการทุจริตอีกต่อไป การทุจริตเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไป
ABC รายงานว่า มีผู้มาร่วมชุมนุมราว 2 หมื่นคน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ราว 1 หมื่นคน
-- New York Times --
นอกจากรายงานสถานการณ์ประท้วงของไทยแล้ว New York Times ระบุว่า ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักพึ่งพาการประท้วงบนท้องถนนมายาวนาน เพื่อต่อต้านอำนาจของรัฐประหาร ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแทบจะบ่อยพอๆ กับการเลือกตั้ง
แต่การประท้วงครั้งล่าสุด “แตกต่างจากทุกครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา” เพราะเป็นประเด็นความแบ่งแยกทางการเมืองน้อยลง และเป็นเรื่องของการนำประชาธิปไตยกลับคืนมามากกว่า
New York Times อ้างคำสัมภาษณ์อาจารย์โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ ระบุว่าการประท้วงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับใครเป็นผู้นำประเทศ แต่เกี่ยวกับว่า ประเทศไทยต้องให้คุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นคนกับคนไทยทุกคน และนี่เป็นพื้นที่เปิดครั้งแรกที่พูดเกี่ยวกับทุกเรื่อง ตั้งแต่ประเด็น LGBT ไปจนถึงสิทธิสตรี “และไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องต้องห้าม แม้แต่เรื่องสถาบัน เรื่องทำแท้ง หรือเรื่องเพศสัมพันธ์”
โฆษณา