21 ก.ย. 2020 เวลา 17:20 • ข่าว
การตายของช้างนับร้อยตัวอย่างลึกลับ
ที่ประเทศบอตสวานา 🇧🇼🐘
ภาพถ่ายทางอากาศในบริเวณแหล่งน้ำที่มีการตาย (📷 : Reuters)
มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ถึง เหตุการณ์ที่ช้างนับร้อยตัว ตายอย่างไร้สาเหตุ ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติของประเทศบอตสวานา
การตายอย่างไร้สาเหตุค่อยๆ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา จนเริ่มมีการสืบสวนโรค จากเจ้าหน้าที่อุทยานและสัตวแพทย์ร่วมกัน ถึงสาเหตุการตายของช้าง
ข้อสงสัยเริ่มต้นจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่อุทยานที่เห็นอาการของช้าง จะค่อยๆเริ่มอ่อนแรง เดินลำบาก กระวนกระวาย มีอาการท้องกาง และสุดท้ายล้มลง
ภาพถ่ายทางอากาศที่ถูกบันทึกไว้ (📷 : Reuters)
การถูกวางยา การถูกฆ่าเพื่อล่างาช้าง การได้รับสารพิษ เป็นข้อสงสัยแรกๆ ที่ถูกพิจารณาไว้
การสืบสวนโรคเริ่มจากการผ่าซากดูร่องรอยของโรค และการเก็บตัวอย่างของสิ่งแวดล้อมต่างๆบริเวณนั้น ได้แก่ ดิน น้ำ และพืช เป็นต้น
ซึ่งจากผลของการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า มีแบคทีเรียตัวหนึ่งที่สามารถสร้างสารพิษได้ แบคทีเรียตัวนั้นคือ "Cyanobacteria" ซึ่งอีกชื่อหนึ่งก็คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green algae) ที่เราพอได้ยินชื่อกันบ้างนั่นเอง
ภาพขยายของ Cyanobacteria (📷 : DE AGOSTINI/GETTY IMAGES)
ตัวของ Cyanobacteria นั้น โดยปกติแล้วจะสามารถสร้างสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท และสารพิษที่มีผลต่อตับอีกด้วย แต่สาเหตุที่ทำให้ช้างสามารถแสดงอาการป่วยได้จนถึงตาย เนื่องจากในช่วงที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิในน้ำจะอุ่นจนพอเหมาะให้กับสาหร่ายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนมากพอที่จะสร้างพิษที่มีความเข้มข้นสูงภายในน้ำ เมื่อช้างดื่มน้ำเข้าไป ทำให้ได้รับสารพิษเข้มข้นสูงพวกนี้เข้าไปด้วย
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ได้แก่
1) แหล่งน้ำที่นิ่งสงบ
2) อุณหภูมิของแหล่งน้ำประมาณ 15-30 ํC
3) แหล่งน้ำนั้นมี pH ประมาณ 6-9
4) แหล่งน้ำนั้นมีการปนเปื้อนของสารอาหารจำพวก nitrate และ phosphate ปริมาณมาก
ภาพแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของ Cyanobacteria จำนวนมาก (📷 : Honestdocs)
อย่างไรก็ตาม Cyanobacteria หรือสาหร่ายสีเขียมแกมน้ำเงินนั้น สามารถพบได้ทั่วโลก ตามบริเวณหนองน้ำนิ่ง หรือบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ก็ไม่ใช่สาหร่ายสีเขียมแกมน้ำเงินทุกชนิด ที่จะสามารถสร้างสารพิษได้
คนเองก็มีโอกาส ที่จะได้รับสารพิษจากสาหร่ายสีเขียมแกมน้ำเงิน ผ่านการดื่มน้ำหรืออาบน้ำ ที่มีการปนเปื้อนของสารพิษพวกนี้ ทำให้เกิดอาการผิวหนังระคายเคือง อาเจียน วิตกกังวล ท้องเสีย เป็นไข้ และปวดหัวได้ครับ
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถพอจะป้องกันเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดซ้ำได้ คือการดูแลแหล่งน้ำไม่ให้มีสารปนเปื้อน ที่จะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เท่านี้ก็สามารถช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอีกหลายชีวิตได้แล้วครับ
สรุปเรื่องราวที่สามารถอ่านให้จบใน 3 นาที /โดย รอบโลกใน 3 นาที
Source: BBC, Reuters
References : WHO, Med Mahidol
22 กันยายน 2020
โฆษณา