ท่านทั้งหลาย...
การวางทิศทางของตนเองนั้น ไม่ควรนำไปผูกติดกับตัวบุคคลอื่นเพราะเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ความชอบ ความพึงพอใจของคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และถึงแม้ความชอบจะไม่เปลี่ยน แต่เงื่อนไขก็อาจเปลี่ยนไปได้ เช่น อาจเกิดจากการพ้นตำแหน่ง หรือแม้แต่การตาย ดังเช่นในนิทานเรื่องนี้
สิ่งที่เราควรยึดถือเป็นเป้าหมายนั้น ควรเริ่มจากสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีความถนัด หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องใด แล้วมุ่งทำงานที่เราถนัด สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญงานนั้น จะต้องเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพราะสังคมส่วนรวมถือเป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้ยากและมีความมั่นคง
การปรับตัวตามผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งจำเป็นและควรกระทำอย่างยิ่ง แต่ควรปรับในแง่มนุษยสัมพันธ์ และแนวทางการทำงานเท่านั้น ส่วนตัวเนื้อหาของงานที่ทำนั้นควรมีความต่อเนื่องไม่โลเล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
เราควรฝึกตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความสามารถจนเกิดความชำนาญในด้านที่ตนเองถนัด สุดท้ายความสำเร็จก็จะเป็นของเรา
ยิ่งถ้าเรารู้จักวางเป้าหมายไว้ที่ความสำเร็จของงาน ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับองค์กรและสังคมส่วนรวม ไม่ใช่อยู่ที่ความเจริญก้าวหน้าของตัวเราเองเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราควรถือว่าความเจริญก้าวหน้านั้นเป็นผลพลอยได้ เมื่อคิดได้อย่างนี้ เราก็จะยิ่งทำงานได้อย่างสบายใจ และเป็นนักทำงานที่มีความสุข
วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
“เกิดเป็นคน ควรพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จ”
(วิโรจนอสุรินทสูตร ๑๕/๓๑๓)