22 ก.ย. 2020 เวลา 06:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
‘กองทุนประกันสังคม’ กับคำถามที่สังคมสงสัย
ทำไมถือหุ้นใหญ่ ‘กองทรัสต์ศรีพันวา’ และถือหุ้นที่ไหนอีก?
เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพียงข้ามคืนสำหรับ “ศรีพันวา” โรงแรมรีสอร์ตหรูชื่อดังซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ของ ปลาวาฬ - วรสิทธิ อิสสระ ผู้บริหารรีสอร์ตแห่งนี้ ซึ่งนอกจากจะถูกนำไปเกี่ยวโยงกับประเด็นทางการเมืองแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่สังคมสนใจก็คือ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในกองทรัสต์แห่งนี้ กลับมีชื่อของหน่วยงานรัฐที่ทุกคนแสนคุ้นเคย เข้าไปถือหุ้นเป็นเบอร์หนึ่งใน ซึ่งก็คือ “กองทุนประกันสังคม” กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงถึงความเหมาะสมว่า ทำไมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชน ถึงเข้าไปลงทุนถือหุ้นใหญ่ในหน่วยงานของเอกชน ที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่หลักขององค์กรเลยแม้แต่นิดเดียว แล้วตามกฎหมายมันทำได้จริงๆ หรือไม่?
🔴 ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ต้องเข้าใจธรรมชาติของหน้าที่ “กองทุนประกันสังคม” ก่อนว่ามันคืออะไร?
'กองทุนประกันสังคม' ก็คือกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่ผู้ดำเนินการจัดการกองทุนนั้นคือ 'สำนักงานประกันสังคม' ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ เป็นสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน เป็นการสร้างหลักประกันสังคมในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ ซึ่งประกันสังคมหรือระบบประกันสังคมนั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยพึ่งเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2480
ประเทศไทยเริ่มมีสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 ในการคุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วย ทั้งที่เกิดขึ้นจากการทำงานและนอกเหนือจากการทำงาน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมหลัก ๆ จะประกอบไปด้วย
1
🔸️ผู้ประกันตน
🔸️นายจ้าง
🔸️รัฐบาล
🔴 ผู้ประกันตนคือใครกัน?
คำว่า “ผู้ประกันตน” คือลูกจ้างหรือพนักงาน โดยผู้ประกันตนจะต้องเลือกสถานพยาบาลที่ตนเองสะดวก ซึ่งผู้ประกันตนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
🔸️ ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 คือลูกจ้างหรือพนักงานประจำที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
🔸️ ผู้ประกันตนที่สมัครใจตามมาตรา 39 คือบุคคลที่เลิกเป็นลูกจ้างประจำหรือลาออกจากงานและเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาไม่ต่ำกว่า 12 เดือนแล้วลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งหากต้องการเป็นผู้ประกันตนต่อหลังจากลาออกจากงาน ผู้ประกันตนสามารถแจ้งกับสำนักงานภายใน 6 เดือน โดยจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
🔸️ ผู้ประกันตนที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 40 คือบุคคลที่ทำงานอิสระที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน โดยต้องมีอายุ 15 – 60 ปี
🔴 ทำไมเราต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุก ๆ เดือน?
ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกันสังคม คือหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการดำรงชีวิตของผู้ประกันตน ทั้งการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และตาย ประกันตนจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลและการทดแทนรายได้ อย่างเช่นเมื่อผู้ประกันตนต้องการพบแพทย์ยามป่วยไข้ ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้ประกันตนจะได้รับ
ด้วยการที่มันถูกจัดเป็นประเภทของ “กองทุน” ดังนั้นเงินในกองทุนจึงสามารถนำไปลงทุนในกิจการต่างๆ ได้ ทั้งกิจการของรัฐวิสาหกิจ และเอกชน ในนาม "ผู้ถือหุ้น" ซึ่งการเข้าไปลงทุนในกิจการต่างๆ ที่อยู่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการนำเงินไปต่อเงินสร้างผลกำไรให้กับกองทุน หรืออาจจะขาดทุนก็ได้หากกิจการนั้นๆ ไม่ได้มีผลประกอบการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
🔴 ตอนนี้กองทุนประกันสังคมไปลงทุนไว้ที่ใดบ้าง?
ข้อมูล "เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม" ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีทั้งสิ้น 2,114,775 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้มีการนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,688,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของเงินกองทุน นำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
อีก 20% ของเงินกองทุนที่เหลือ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 675,782 ล้านบาท
🔴 หากแยกเป็นการลงทุน ประกอบด้วย
🔸️ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 1, 455,976 ล้านบาท คิดเป็น 68.85%
🔸️ ลงทุนตราสารทุนไทย จำนวน 255,740 ล้านบาท คิดเป็น 12.09%
🔸️ ลงทุนหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 98,388 ล้านบาท คิดเป็น 4.65%
🔸️ ลงทุนหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 96,804 ล้านบาท คิดเป็น 4.58%
🔸️ ลงทุนหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ จำนวน 90,809 ล้านบาท คิดเป็น 4.29%
🔸️ ลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ จำนวน 69,316 ล้านบาท คิดเป็น 3.28%
🔸️ ลงทุนเงินฝาก จำนวน 37,278 ล้านบาท คิดเป็น 1.76%
🔸️ ลงทุนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่คลังไม่ค้ำประกัน จำนวน 10,464 ล้านบาท คิดเป็น 0.50%
ซึ่งการบริหารการลงทุนเหล่านี้ เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย 60% ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น
🔴 สำหรับหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ กองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนมีที่ไหนบ้าง?
5 อันดับหุ้นที่ สำนักงานประกันสังคม ถือครองมีมูลค่าสูงสุด (ณ วันที่ 29 เม.ย.2563) ได้แก่
🔸️ SCC ล่าสุดประกาศจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 7 บาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินรวมประมาณ 339.24 ล้านบาท
🔸️ PTT จ่ายปันผลหุ้นละ 1.10 บาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินรวมประมาณ 447.71 ล้านบาท
🔸️ ADVANC ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 3.56 บาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินรวมประมาณ 198.35 ล้านบาท
🔸️ CPALL ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 1.25 บาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินรวมประมาณ 193.43 ล้านบาท
🔸️ AOT ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 1.05 บาท ทำให้สำนักงานประกันสังคมได้รับเงินรวมประมาณ 172.77 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังไปถือหุ้นใน CPF ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ เซ็นทรัล โฮมโปร อินทัช ดีแทค แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เมเจอร์ฯ เทสโก้ และศรีพันวา รวมทั้งหมด 65 หลักทรัพย์
🔴 ถามว่า กองทุนประกันสังคมจะไปลงทุนที่ไหน ไปลงทุนกับกิจการลักษณะนี้ได้ไหม?
คำตอบคือ "ได้" เพราะไม่มีข้อห้ามตามกฎหมาย แต่คำถามที่สำคัญกว่า คือ ประกันสังคมใช้อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนกับกิจการไหน และ ใครเป็นคนตัดสินใจลงทุน เพราะถ้าดูตามขั้นตอนแล้วผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการจะนำเงินไปลงทุนที่ไหนคือ กรรมการบริหารหรือบอร์ดประกันสังคม
แล้วกรณีศรีพันวา ที่มีความคลุมเครือบางอย่างที่น่าสงสัยก็คือ หากใครที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า เงื่อนไขในการที่จะเอาเงินประกันสังคมไปลงทุนในหลักทรัพย์ได้นั้น จะต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ความเสี่ยงต่ำ และมีผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรและเงินปันผล
แต่จากข้อมูลงบกำไรขาดทุนของศรีพันวา ปี 2560 - 2562 ที่แจ้งต่อกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
🔴บริษัท ศรีพันวา แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในวันที่ 18 ก.ค 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท
🔴 ปี 2562
🔸️ รายได้รวม 649,229,263 บาท
🔸️ ขาดทุนสุทธิ 157,541,048 บาท
🔴 ปี 2561
🔸️ รายได้รวม 635,067,808 บาท
🔸️ ขาดทุนสุทธิ 75,921,731 บาท
🔴 ปี 2560
🔸️ รายได้รวม 624,522,118 บาท
🔸️ ขาดทุนสุทธิ 41,117,116 บาท
🔸️ ซึ่งเมื่อเทียบงบกำไรขาดทุนของปี 2561 – 2562 ขาดทุนไปมากกว่า 107%
การขาดทุนอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีแบบนี้ ก็คงจะไม่ใช่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ตามที่นโยบายของกองทุนประกันสังคมจะเข้าไปลงทุนอย่างแน่นอน
แต่ๆ อย่าพึ่งสับสนนะครับว่า กองทุนประกันสังคมเข้าไปถือหุ้นในบริษัทของศรีพันวาโดยตรง เพราะตามข่าวที่ออกมา กองทุนประกันสังคม ไปถือหุ้นในสิ่งที่เรียกว่า "กองทรัสต์" มีลักษณะเป็น “กองทรัพย์สิน” ที่ถือกรรมสิทธิ์โดยทรัสตี (Trustee) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยผู้ก่อตั้งกองทรัสต์ คือ ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT manager) ซึ่งจะเป็นผู้เสนอขายหน่วยทรัสต์และนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยทรัสต์มาให้กับทรัสตีที่ตนเองไว้วางใจเพื่อจัดตั้ง REIT โดยสัญญาก่อตั้งทรัสต์จะแบ่งหน้าที่ให้ผู้จัดการกองทรัสต์เป็นผู้บริหารจัดการกองทรัสต์และทรัสตีเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการกองทรัสต์และเก็บรักษาทรัพย์สิน
อธิบายง่ายๆ ในกรณีของทรัสต์ศรีพันวาคือ ผู้ก่อตั้งทรัสต์นี้ คือเจ้าของเดิมต้องการที่จะขายสินทรัพย์ที่มีหรือยกพินัยกรรม หรือโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งในที่นี้คือ ศรีพันวา
.
โดยทรัสต์ตี ผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ตามกฎหมายและมีหน้าที่จัดการกองทรัพย์สินของศรีพันวาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทรัสต์ เป็นหน้าที่ของบริษัท ชาญอิสระ รีทแมเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ เป็นทรัสตีธนาคารไทย
.
เดิมทีศรีพันวาเองก็มีกองทุนของตัวเองอยู่แล้วซึ่งเป็นประเภท Property Fund หรือ PF ที่ให้นักลงทุนสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะการเช่าอาคาร หรือสำนักงานเท่านั้น แต่เมื่อกฎหมายของกองทรัสต์เกิดขึ้นในปี 2557 ทำให้ศรีพันวาแปลงกองทุนจาก PF เป็น REIT และทำ IPO เมื่อปี 2559 ซึ่งสิทธิต่างๆ ของทรัสต์นั้นสามารถลงทุนอื่นๆ ได้ทุกอย่างในอสังหาฯ และลงทุนในต่างประเทศได้รวมทั้งยังกู้ได้มากกว่าอีกด้วย
.
กรณีของทรัสต์ของศรีพันวาคือ "ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา" ซึ่งตัวของกองทรัสต์นี้มีผลกำไร และยังจ่ายปันผลในอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนตามเปอร์เซ็นต์ดังนี้
.
วันที่ 29/12/2560 เงินปันผล 0.23%
วันที่ 28/12/2561 เงินปันผล 7.03%
วันที่ 30/12/2562 เงินปันผล 6.43%
วันที่ 21/09/2563 เงินปันผล 6.41%
.
ส่วนตัวผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมศรีพันวานั้นขาดทุน
กรณีของทรัสต์ของศรีพันวาคือ "ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา" ซึ่งตัวของกองทรัสต์นี้มีผลกำไร และยังจ่ายปันผลในอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนตามเปอร์เซ็นต์ดังนี้
วันที่ 29/12/2560 เงินปันผล 0.23%
วันที่ 28/12/2561 เงินปันผล 7.03%
วันที่ 30/12/2562 เงินปันผล 6.43%
วันที่ 21/09/2563 เงินปันผล 6.41%
ส่วนตัวผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมศรีพันวานั้นขาดทุน
ซึ้งต้องแยกออกจากกัน เพราะมันคือคนละหน่วยหลักทรัพย์
ดังนั้นกองทุนประกันสังคมยังคงถือหุ้นในกองทรัสต์ของศรีพันวา และยังถือหุ้นใหญ่จำนวน 63,072,615 หุ้น หรือ 22.60% แต่สิ่งที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้มีการแยกระหว่างการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท และกองทรัสต์ออกจากกัน หรือมีความเข้าใจไม่ถ่องแท้ว่า มันคือหลักทรัพย์คนละประเภทนั่นเอง
แต่คำถามคือ ทำไมประกันสังคมถึงไปลงทุนในทรัสต์แห่งนี้ ซึ่งก็ต้องมีการตอบข้อสงสัยในสังคมแทนอีกด้วย เพราะศรีพันวาก็มาขายหุ้น เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 ถ้าพิจารณาเอกสารเสนอขาย จะเห็นว่า กองทรัสต์เพื่อการลงทุนของศรีพันวา ที่มีมูลค่าการลงทุน 3 พันกว่าล้านบาท มีกำไรสุทธิแค่ 6,900,000 บาท ซึ่งถือว่ากำไรต่ำมากๆ ก็เลยเป็นข้อสงสัยว่า เกณฑ์การไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่กำไรต่ำแบบนี้ มันใช่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำจริงๆ แบบที่เป็นนโยบายของ กองทุนประกันสังคมหรือไม่ แล้วอะไรคือแรงจูงใจในการไปลงทุนในความเสี่ยงแบบนี้ ซึ่งคือสิ่งที่ต้องตอบคำถามให้ได้อีกด้วย
โฆษณา