22 ก.ย. 2020 เวลา 08:46 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Boogie Nights
Paul Thomas Anderson, 1997, US
กาลครั้งหนึ่ง…ของหนังโป๊
เรื่องราวของหนุ่มน้อยผู้หนีออกจากบ้าน เพื่อมาเป็นพระเอกหนังโป๊ชื่อก้องโลกนาม ‘เดิร์ก ดิกเลอร์’ ในวงการนี้ทำให้เขาได้รู้จักกับผู้คนในตำแหน่งต่างๆของกองถ่ายหนัง หนังบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านของหนังโป๊จากยุค 70’s สู่ ยุค 80’s จากฟิล์มสู่การบันทึกวีดีโอ จากจุดสูงสุดของอาชีพสู่จุดตกต่ำที่สุด
เป็นหนังเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับชาวอเมริกัน ‘Paul Thomas Anderson’ ที่มีผลงานเป็นที่น่าจดจำมากมายอย่าง Magnolia (1999), There Will We Blood (2007), The Master (2012) โดยงานในช่วงแรกของเขานั้นจะเป็นงานที่มีความจัดจ้านในแง่เทคนิค อย่างการเคลื่อนกล้องหรือการใช้ดอลลี่เหมือนงานของ Martin Scorsese (Boogie Nights จัดเป็นงานในยุคแรกของพอล) ส่วนงานในยุคที่สองหรือปัจจุบันนั้น จะมีความเรียบเฉยมากยิ่งขึ้น มองมนุษย์ด้วยท่าทีเย้ยหยันเสียดสี พอลถือเป็นผู้กำกับอเมริกันระดับแนวหน้า เทียบเคียงได้กับ Christopher Nolan (โดยทั้งสองก็ชื่นชมกันอยู่บ่อยๆ)
พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (ซ้าย) กับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (ขวา)
หนังดัดแปลงจากชีวประวัติในสารคดีนักแสดงนักโป๊ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุค 70’s อย่าง John C. Holmes ซึ่งก่อนมาเป็น Boogie Nights พอลได้ทำเป็นหนังสั้นมาก่อนในเรื่อง The Dirk Diggler Story (1988)
Boogie Nights เป็นหนังที่มีนักแสดงระดับแนวหน้ามากมาย ทั้ง Mark Wahlberg สมัยหนุ่ม ในบทบาทของ Dirk Diggler สมทบด้วย Julianne Moore ในบทบาทของ Porn Star และ Bert Reynolds ในบทบาทของผู้กำกับหนังโป๊ที่เรียกได้ว่าพลิกบทบาทสุดๆ มีการให้สัมภาษณ์ในภายหลังทั้งตัว Mark และ Bert ว่าเขาไม่ได้ภูมิใจนักเมื่อมองย้อนกลับมาถึงการแสดงในหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนังโป๊ อย่างไรก็ตาม Bert Reynolds ได้รางวัลลูกโลกทองคำจากบทบาทนี้
เบิร์ต เรย์โนลด์ (เสื้อแดง) ไม่ค่อยปลื้มกับงานนี้
หนังแบ่งรูปแบบการเล่าเรื่องเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกหนังจะมีท่าทีของสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ จะเล่าที่มาของเดิร์กและลักษณะของหนังโป๊ สังคม ผู้คนในวงการหนังโป๊ว่าเป็นแบบไหน มีวิถีชีวิตอย่างไร แล้วสร้างสภาพแวดล้อมที่นำเสนอแฟชั่นของยุคนั้น ในส่วนที่สองหนังจะเริ่มใช้พล็อตมากยิ่งขึ้น เมื่อตัวละครต้องพบเจอกับจุดตกต่ำของตัวเอง สร้างเหตุการณ์ที่มีความขึ้นลงทางอารมณ์ จนสู่บทสรุปของตัวละคร
การถ่ายภาพเป็นอีกจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ โดยได้ Robert Elswit (ซึ่งต่อมาจะได้ทำหนังกับพอลแทบทุกเรื่อง) มาสร้างสรรค์งานภาพให้ การเคลื่อนกล้องในเรื่องนี้เป็นไปอย่างดุดัน ทั้ง Long-Take ทั้ง Tracking Shot ทั้ง Zoom in อันทั้งหมดให้อารมณ์แบบงานของ Martin Scorsese (ลองนึกถึงการเคลื่อนกล้องใน Goodfellas) สำหรับวิธีการเคลื่อนกล้องแบบนี้ ก็เหมาะเจาะกับไดเรคชันของหนังอย่างพอดิบพอดี คือหากจะเล่าเรื่องราวในยุค 70’s ก็เอาวิธีการถ่ายหนังที่หนังสมัยนั้นใช้มาเลยซิ และการใช้ฟิล์ม 16 ในการถ่ายบางซีน ก็ให้อารมณ์ของสารคดีเชิงประวัติศาสตร์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งคือสีของภาพ ที่มักจะมี Contrast ตัดกันชัดเจน โดยเฉพาะหากเป็นซีนกลางคืนที่ต้องบันทึกสีสันของดิสโก้เธค ของร้านอาหารในยุค 70 – 80’s อันให้ความสวยงาม เปรียบเสมือนตัวละคร Dirk Diggler ที่เป็นดวงดาวสุกสกาวท่ามกลางความมืดมิดแห่งวงการหนังใต้ดิน
ความจัดจ้านของสีสันสไตล์ 70's
โปรดักชันดีไซน์โดย Bob Ziembicki ที่นำเสนอสถานที่ บรรยากาศที่ให้อารมณ์ความเรโทรแบบ 70 – 80’s ของอเมริกา ทั้งอาคารบ้านเรือน อุปกรณ์ต่างๆภายในบ้าน (ผสมกับวิธีการเคลื่อนกล้อง) ก็ทำให้เราเชื่อได้ว่านี่คือหนังในยุคนั้น รวมทั้ง Costume Design ของ Mark Bridges ยิ่งเสริมให้เสื้อผ้าหน้าผมรวมกันได้อย่างแนบเนียน
พูดถึงยุค 70 – 80’s แต่ไม่พูดถึงเรื่องดนตรีก็ไม่ได้ หนังได้ Michael Penn มาคุมดนตรีให้เข้ากับโทนหนัง เราจะได้ยินเพลงที่เย้ยหยันต่อศีลธรรมอันดีของสังคมอย่าง Jungle Fever ของ Chakachas ที่เป็นดนตรีโซลฟังก์และมีเนื้อร้องที่เป็นเสียงครางจากการถึงจุดสุดยอดทั้งเพลง ร่วมขบวนด้วยเพลงจากศิลปินอย่าง Marvin Gaye , Electric Light Ocrchestra และเพลงโซลป๊อปอีกหลายๆเพลงในเรื่อง ซึ่งนำเสนออารมณ์ของความฟุ้งเฟ้อชวนฝันแบบยุค 70 - 80’s
Boogie Nights เป็นหนังเพื่อหวนระลึกถึงช่วงเวลาในยุค 70 – 80’s ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson ที่เขาอาจจะมีอดีตบางอย่างกับมัน ซึ่งเราจะเห็น Theme 70’s พวกนี้ไปปรากฏในงานของเขาอีกอย่าง Inherent Vice (2014) สำหรับใน Boogie Nights ถือว่าพอลนำเสนอความ Pop Culture แบบเต็มอิ่ม แม้จะเน้นเป็นเรื่องของแวดวงหนังโป๊ก็ตาม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้เลยคือเค้าไม่ได้มองหนังโป๊ว่ามันเป็นสิ่งที่อันตราย เขากลับมองว่ามันเป็นกระแสของวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งบันทึกเรื่องราวของหลากหลายชีวิตไว้ในนั้น
โฆษณา