24 ก.ย. 2020 เวลา 09:06 • ถ่ายภาพ
EP3.1
ISO (International Standards Organization)
ค่า ISO ของฟิล์ม หรือ เซนเซอร์ในกล้องดิจิตอล
บทความนี้มาต่อกันในเรื่องISOครับ
จากEPที่ผ่านมา เราเข้าใจในเรื่องของรูรับแสง และม่านชัตเตอร์(shutter speed)กันไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กันแบบขาดกันไม่ได้คือ เรื่องของ ISO ครับ ทั้งสามอย่างนี้เป็นปัจจัยที่ไม่ว่าช่างภาพมือสมัครเล่น หรือมืออาชีพจำเป็นที่จะต้องรู้ และนำมาใช้เหมือนกันหมดเวลาที่จะถ่ายภาพ เป็นเสมือนพื้นฐานในการ "ควบคุมกล้อง" ที่หากเข้าใจแล้ว ผมรับประกันเลยว่าท่านจะสามารถถ่ายภาพได้อย่างอิสระ เป็นไปตามจินตนาการที่ท่านอยากได้แบบไม่ยาก
โดยถึงแม้ในปัจจุบันผมคิดว่าเกิน90% (หรือมากกว่านั้น) น่าจะใช้กล้องดิจิตอลกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว เรื่องของ ISO ก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ดี ดังนั้นเรามารู้ถึงที่มาที่ไป และหน้าที่ของมันก่อนครับ
อย่างที่ทราบกันในเรื่องของรูรับแสง และshutter speed ที่เป็นตัว "ควบคุม" แสงเข้ามาที่ฟิล์มหรือเซนเซอร์ ตัวฟิล์มหรือเซนเซอร์นี้เองทำหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามา หน้าที่รับแสงที่ตกกระทบลงมานี้เอง จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดว่าจะให้มี "ความไวต่อแสง" (Lighting sensitivity) เท่าใด...งงไหมครับ...อาจหาตัวอย่างที่เจอในชีวิตประจำวันยากหน่อย ดังนั้นผมเลยอยากให้นึกภาพตามว่าเป็นฟิล์มหรือเซนเซอร์ที่พอมีแสงตกกระทบลงมา ตัวรับแสง(ฟิล์ม/เซนเซอร์)นี้ได้ถูกกำหนดว่าจะให้ "ตอบสนอง" กับแสงที่ลงมานี้ "รวดเร็วขนาดไหน" นั่นเอง โดยในช่วงแรกได้มีมาตราฐานในการวัดค่าไวแสงของตัวรับแสงนี้ในชื่อที่ต่างกันของแต่ละประเทศ เช่นเยอรมัน กำหนดมาตราฐานค่าไวแสงของฟิล์มเป็น DIN หรืออเมริกาใช้ ASA แล้วจึงกลายมาเป็น ISO เพื่อให้เป็นมาตราฐานกลางในการยอมรับกันทั่วโลกในเรื่องของค่าไวแสงของฟิล์มจนมาถึงปัจจุบัน
ตรงนี้เป็นความรู้เพิ่มเติมที่จะไปเชื่อมโยงว่าทำไมถ้าเป็นISOสูงๆถึงเกิดเป็นgrainในฟิล์ม (ผมต้องขอเล่าเป็นฟิล์มเพราะในดิจิตอลเป็นnoiseที่มีหลักการใกล้เคียงกัน แต่องค์ประกอบที่ต่างกัน) ที่ผิวฟิล์มจะเคลือบแร่ผลึกเงินฮาไลท์ (silver crystals halides) ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวตอบสนองกับแสงที่ตกกระทบลงบนผิวฟิล์ม "ยิ่งค่าISOสูงขนาดของแร่เงินนี้จะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย" ส่วนเรื่องการเรียงตัวของแร่เงินนี้จะไม่ได้เรียงตัวแบบเป็นpattern แต่จะเป็นในลักษณะกระจัดกระจายทั่วไป
ดังนั้นจึงตอบคำถามที่ว่า ยิ่งISOค่าสูงขนาดของแร่เงินที่เคลือบบนผิวฟิล์มจะมีขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองต่อแสงให้ไวขึ้น ทำให้ผลเสียที่ตามมาคือ เมื่อพิมพ์อัดขยายภาพออกมาจะทำให้เกิดgrainขึ้นที่ภาพถ่ายแบบมองเห็นได้ด้วยตานั่นเอง
ดังนั้นนักถ่ายภาพ ที่ต้องการความละเอียดของภาพ เมื่อนำมาขยายแล้วไม่เกิดgrainหรือในปริมาณที่น้อย มักจะเลือกใช้ISOให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในสมัยนั้นนั่นก็คือ ISO100นั่นเอง (หากใครยังคงงงเรื่องหน้าที่ของISO คอมเม้นมาถามเพิ่มเติมได้นะครับ)
ส่วนISOในกล้องดิจิตอลปัจจุบัน มีหลักการเดียวกับฟิล์มคือ ISOจะกำหนดว่าจะให้เซนเซอร์นั้นมีความไวต่อแสงเท่าใด โดยยิ่งISOมากจะยิ่งทำให้เกิดnoiseหรือสัญญาณรบกวนที่มากขึ้นตามไปด้วย โดยสาเหตุคือการที่กล้องจำเป็นต้องขยายสัญญาณไปที่ตัวเซนเซอร์เพื่อทำให้เซนเซอร์มีความไวต่อแสงมากขึ้น
คราวนี้มาถึงว่า แล้วเราจะมีการควบคุมการใช้งานร่วมกันระหว่างรูรับแสง ม่านชัตเตอร์ และISOอย่างไร ผมอยากให้ลองนึกถึงในสถานการณ์ถ่ายภาพจริง โดยปกติทั่วไปจะเป็นการถ่ายภาพนอกสถานที่ๆไม่ใช่ในสตูดิโอ อย่างเช่นกลางแจ้งในวันที่แดดออก กลางแจ้งในวันที่มีเมฆมาก หรือในร่ม ในอาคารเป็นต้น สมมุติว่าเราตั้งค่ารูรับแสงที่f11 ม่านชัตเตอร์1/500 ในสถานที่ๆเดียวกันข้างต้น หากเราจะให้แสงออกมา "พอดี" เหมือนกันทุกภาพจะต้องทำอย่างไร....
อย่างที่ทุกท่านทราบดี ภาพถ่ายเกิดได้เนื่องจากแสง คราวนี้ความเข้มของแสงในแต่ละสถานที่ต่างกัน หากเราต้องการใช้ค่ารูรับแสง และม่านชัตเตอร์เดียวกัน เราจำเป็นที่จะต้องปรับค่าISOของฟิล์ม หรือเซนเซอร์ที่ตัวกล้องดิจิตอล เพื่อปรับให้ตัวรับแสงมีความไวต่อแสงในสภาพของแสงแต่ละสถานที่
โดยค่าISO มักจะเริ่มต้นที่ 100, 200, 400, 800, 1600, 3200, 6400,...25600 (ค่าเริ่มต้นอาจมีต่ำกว่า100 เช่น ISO 50)
ในสมัยที่ผมหัดถ่ายภาพฟิล์มเมื่อหลายสิบปีก่อน มักใช้100-400ไม่เกิน800 แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีกล้อง สามารถดันไปได้ถึง 25600 แล้วครับ
โดยค่านี้มีความหมายแบบจำง่ายๆว่า เลขน้อยจะไวแสงน้อย เลขมากจะไวแสงมากนั่นเองครับ
กลับไปที่ตัวอย่างข้างต้น อยากให้ทุกคนลองคาดเดา(โดยประมาณ)ค่าISOจาก2สถานการณ์ ด้วยค่ากล้องf5.6 1/125 คือถ่ายกลางแจ้งในวันที่แดดออก กับ ถ่ายในอาคาร ลองดูครับ....สถานการณ์แรกควรจะอยู่ที่ ISO100 สถานการณ์ที่สองอาจจะอยู่ที่ประมาณ ISO 1600-3200 (หรือมากกว่านั้น) หมายความว่ายิ่งมีแสงที่น้อยในสถานการณ์ที่สอง โดยที่กล้องมีรูรับแสงที่แคบ และม่านชัตเตอร์เร็ว (แสงเข้ามาน้อย) ยิ่งต้องทำให้ตัวรับแรง(ฟิล์ม/เซนเซอร์) มีความไวแสงมากขึ้นนั่นเอง ส่วนสถานที่ๆมีแสงมากพอกับค่ากล้องดังกล่าว ก็ใช้ค่าISOต่ำๆที่ไม่ต้องมีความไวแสงมากนั่นเอง
ขยายความให้เข้าใจมากขึ้น สมมุติว่าเราใช้ที่ค่ากล้องf11 1/500 ISO 3200 ถ่ายในสถานที่กลางแจ้งที่มีแดดออก ก็จะทำให้ภาพได้รับแสงมากเกินไป(over exposure)นั่นเองครับ
แน่นอนครับอย่างที่บอกไปตอนต้น หากเราต้องการภาพที่มีความคมชัดgrainของภาพน้อย เราควรใช้ค่าISOให้ต่ำๆเพื่อความละเอียดของภาพที่มากขึ้น นี่เป็นที่มาของนักถ่ายภาพที่มักจะซื้อ "เลนส์ไวแสง" ก็คือเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆนัยหนึ่งเพื่อเป็น "ตัวเลือก" ในการรับแสงให้มากขึ้นในสถานการณ์ที่แสงน้อย โดยที่ไม่ต้องดันISOขึ้นไปให้สูงมาก เพื่อที่จะได้มีภาพที่มีรายละเอียดคมชัด และที่grainน้อยลงครับ
เสริมอีกนิด ด้วยเทคโนโลยีถ่ายภาพในปัจจบัน โดยเฉพาะกล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex) รุ่นราคาสูง แม้จะดันISOขึ้นไปสูงๆ มีจำนวนnoiseลดลงไปอย่างมากจนเป็นที่น่าพอใจ
ก็จบกันไปในเรื่องของหน้าที่ของISOและความสัมพันธ์ISOกับรูรับแสง และshutter speed แต่ในเรื่องของISOนั้น ยังมีรายละเอียดอีกในเรื่องของความแตกต่างระหว่าง grainในฟิล์ม/noiseในกล้องดิจิตอล มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือที่อาจเคยได้ยินกันมาว่าgrainในฟิล์มนั้นยังไงก็ดู "classic" กว่า noise ในกล้องดิจิตอล เรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างไร ผมขอยกยอดเป็นEP3.2 ที่ว่าด้วยเรื่องISOกันต่อในครั้งหน้าครับ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้าย หากมีข้อเสนอ ไม่เข้าใจหรือแชร์เพิ่มเติมมาในคอมเม้นได้เลยครับ
https://www.pinterest.ie/
โฆษณา