23 ก.ย. 2020 เวลา 19:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ได้เวลาเก็บ ทอง เข้าพอร์ตหรือยัง หลังร่วงหลุด $1,900
ราคาทองแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆตรงจุดวัดใจบริเวณ $1,900 - $2,000 เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ซึ่งถือว่าเป็น 2 เดือนที่อาจจะนานสำหรับใครบางคนที่กำลังสนใจหาจังหวะเข้าลงทุนในโลหะมีค่าชนิดนี้
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวันแม่เดือนที่แล้ว ผมได้อัพเดทปัจจัยที่กระทบกับราคาทอง ทำให้ไหลร่วงจากจุด All Time High ลงมาต่ำกว่า $2,000 ไว้แล้ว กลับไปอ่านกันได้ เพื่อจะได้เห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนขึ้นว่ามีมุมไหนบ้างที่คุณต้องคิดก่อนจะเอาทองเข้าพอร์ต
อัพเดทครั้งนี้ ก็จะพาไปดูข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมกันซักหน่อย เชิญอ่านกันได้ครับ
1. ในมุมมองทางเทคนิคช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา ราคาทองกำลังฟอร์มตัวในรูปแบบ Flag Pattern ในกราฟรายวัน ซึ่งสำหรับนักเทรดแล้ว เขาจะรอว่า ราคา Breakout หรือทะลุไปทางไหน ก็จะวางกลยุทธ์ของตัวเองในทางนั้น ดังนั้น การหลุดต่ำกว่า $1,900 ตั้งแต่เมื่อคืนก่อนนี้ จะมีเทรดเดอร์จำนวนหนึ่งที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเปิด Short Position และขายทองซ้ำลงมาเป็นเรื่องปกตินะครับ
1
2. เมื่อหันไปมองสินทรัพย์ที่มี Negative Correlation กับทองชัดเจนในระยะยาวก็คือ ค่าเงินดอลล่าร์ จะพบว่า เกิดการแข็งค่าขึ้น โดย Dollar Index ขยับขึ้นมาเทรดที่ 94.33 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ นี่เป็นปัจจัยสำคัญเลยที่ทำให้แรงขายทองมีออกมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์
3. สหรัฐฯเพิ่งมีการประกาศตัวเลข manufacturing PMI เดือนก.ย. ออกมาที่ 53.1 ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะออกมาที่ 52.5 และที่สำคัญ ที่ตัวเลข 53.1 เป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 20 เดือนที่ผ่านม เลยทำให้นักลงทุนกลุ่มหนึ่งอาจจะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด
4. ซึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ผลการประชุมเฟด ได้มีการส่งสัญญาณว่า มีโอกาสสูงที่จะคงดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ไปอีก 3 ปี สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจเป็นพิเศษ ผมคิดว่า คือการที่เฟดกลับมามีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจสหรัฐในระยะสั้นมากขึ้น ด้วยการปรับคาดการณ์ GDP Growth ปีนี้ เป็นลบแค่ -3.7% จากเดิมมองติดลบ -6.5%ในการประชุมครั้งก่อนหน้า รวมถึงอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ก็ปรับลดประมาณการลงมาที่ระดับ 7.6% จากเดิมหดตัว 9.3%
5. มองเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วยังไง? ถ้าดีขึ้นจริง ก็แสดงว่า เฟดไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ตอนนี้ อุปมาอุปมัย ก็เหมือน เมื่อหมอเดินมาตบไหล่คนไข้ที่ได้เมอฟีนไปแล้วมากกว่า 20 เข็มว่า “ผมจะไม่ฉีดให้คุณแล้วนะ” คุณคิดว่า คนไข้จะรู้สึกอย่างไร? นั่นเลยครับ คือ สิ่งที่ตลาดกำลังเป็นอยู่ตอนนี้ เริ่มงอแงขึ้นมาทันที
6. ถึงอย่างนั้น นายเจอโรม พาวเวล ก็พูดในช่วงของการแถลงต่อสื่อมวลชนชัดเจนว่า มันไม่ได้หมายความว่า เฟดจะไม่ใช้นโยบายใดๆสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอีกแล้ว แต่ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดนะ โดยโยนความกดดันกลับไปที่แพคเกจช่วยเหลือด้วยมาตรการทางการคลัง ที่ยังงัดข้อกันอยู่ระหว่างพรรครีพลับบริกัน กับ เดโมเครต ว่า จำเป็นต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ มากกว่านโยบายการเงินซะอีก
7. อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นมาได้เร็วมากนับตั้งแต่ต้นปี แต่มันกำลังจะเริ่มมีผลน้อยลงก็คือ Real Yield (ที่ยิ่งร่วง ยิ่งดีกับราคาทอง) ซึ่งคำนวนได้จากการเอา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ลบด้วย Break-even Inflation
1
8. ล่าสุด US Real Yield อยู่ที่ -0.94% ทั้งนี้ ตอนที่ราคาทองทำราคาปิดสูงสุด เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ระดับ $2,063 ตอนนั้น Real Yield ลงไปติดลบถึง -1.08% แล้วก็ค่อยๆติดลบน้อยลงเรื่อยๆ จุดสังเกตที่ผมเห็นก็คือ Real Yield กลับมาแตะจุดต่ำสุดที่ -1.08% อีกครั้งในสิ้นเดือนส.ค. แต่กลายเป็นว่า ราคาทองร่วงลงมาแล้วอยู่ที่ $1,967 ซึ่งห่างจากจุดสูงสุดเกือบๆ $100 ทีเดียว
1
9. การที่ Real Yield ติดลบน้อยลงแบบนี้ สาเหตุก็เพราะ US Treasury 10Y Yield ไม่ทำ New Low ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ได้มีแรงซื้อเข้ามาในตราสารหนี้มากเหมือนในช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งก็เพราะ Yield ตรงนี้ นักลงทุนอาจมองว่า ต่ำเกินไปไม่น่าสนใจลงทุน แต่อีกมุมหนึ่งก็น่าคิดว่า นักลงทุนเริ่มโยกเงินออกจากตราสารหนี้ไปหาการลงทุนอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลหรือเปล่า เราก็ต้องรอดูกัน
10. กลับมาที่มุมมองทางเทคนิค ราคาทอง มีแนวรับแรกที่ Fibonacci Retracement 61.80% ซึ่งอยู่ที่ $1,837 ดูจากการเพิ่ง Breakout Flag Pattern แล้ว ก็มีโอกาสที่จะรับไม่อยู่ แนวรับต่อไปก็คือ ครึ่งทางของที่ขึ้นมาตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ระดับ $1,764 ใครยังมีมุมมองเชิงบวกต่อทอง มองเศรษฐกิจโลกข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ทยอยรับได้ 2 โซนนี้ครับ
Mr.Messenger รายงาน
โฆษณา