23 ก.ย. 2020 เวลา 20:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องราวของตึกร้างที่ว่ากันว่ามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประเทศไทย-สาธรยูนีค ผลงานออกแบบคอนโดมิเนียมความสูง 43 ชั้นของรังสรรค์ ต่อสุวรรณในสมัยที่เขาเดินหน้าเป็น developer เต็มตัว-อนุเสาวรีย์ที่ระลึกจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่ยืนเด่นริมเจ้าพระยาอย่างท้าทาย- ตึกที่ตามหลอกหลอนชีวิตผู้เขียน พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ มาครึ่งค่อนชีวิตจนถ่ายทอดออกมาเป็น Ghost Tower & Me และที่จะพูดต่อจากนี้ ไม่ใช่เรื่องของตึก ไม่ใช่เรื่องของสถาปนิกที่ออกแบบตึก และไม่ใช่รีวิวเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด แต่กำลังจะพูดถึงการออกแบบกราฟิกสำหรับหนังสือเล่มนี้ว่ามีที่มาที่ไป และมีความคิดอะไรบ้างที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลัง
สภาพตึกสาธรยูนีคที่สร้างไปแล้วกว่า 80%
ร่องรอยที่ระลึกจากผู้บุกรุกขึ้นมาบนสาธรยูนีค
ตอนได้รับโจทย์ให้ออกแบบหนังสือ Ghost Tower & Me จากบรรณาธิการสำนักพิมพ์ลายเส้น ต้องอ่านต้นฉบับและดูภาพถ่ายจำนวนมหาศาลของอาคารสาธรยูนีคทั้งหมดจากช่างภาพ 4 คน มีทั้งภาพสี ขาวดำ ดิจิทัล สไลด์และสไลด์ large format
ภาพที่คิดไว้ตอนพิมพ์ออกมา นอกจากขนาดและรูปเล่มที่ตั้งใจให้ล้อกับสัดส่วนของอาคารสูงแล้ว พอลองคิดต่อว่าถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงต้มยำกุ้งซึ่งเป็นฉากหลังของเนื้อหาแทบทั้งเล่ม จะออกแบบหนังสือเล่มนี้ออกมาหน้าตาเป็นยังไง
ปกหน้าและสันปก
“ลดต้นทุน + เปิดท้ายขายของ” คือ 2 ไอเดียหลักในการออกแบบ
ลดต้นทุนด้วยการลดหน้ายกพิมพ์ 4 สีให้เหลือน้อยที่สุด จับภาพสีให้อยู่ในยกเดียวกันและจำกัดส่วนต้องใช้การพิมพ์ 4 สีให้น้อยลงสุดๆ ขนาดรูปเล่มคิดให้มีขนาดที่ยูนีค-ผอมและสูงกว่า pocket book ทั่วไป เวลาพิมพ์ต้องให้เหลือเศษกระดาษที่ต้องทิ้งให้น้อยที่สุด กระดาษที่พิมพ์เนื้อในเลือกใช้กระดาษที่แกรมกำลังดีและราคาประหยัด
ส่วนเปิดท้ายขายของในที่นี้คือเอาสิ่งที่เคยใช้แล้วมาขายนี่แหละ ตั้งแต่แบบตัวอักษร condensed ที่เหมือนจะใช้แบบที่เคยนิยมในสมัยนั้น แต่จริงๆ เป็นแบบตัวอักษรที่ทำขึ้นมาช่วงใกล้ๆ นี้นี่เอง ชื่อหนังสือที่โผล่ออกมาหลอกบนปกหน้าแค่เศษเสี้ยวแต่ก็ยังอ่านออก ชื่อภาษาอังกฤษนี้เลื้อยไปอยู่บนสันปกทำหน้าที่บอกว่านี่คือหนังสือชื่ออะไรเวลาหันสันออก ภาษากราฟิกของภาพประกอบบนหน้าปกก็มาจากการไดคัทและแปะสีฉากหลังง่ายๆในโฟโตชอปสมัยยุคปลาย 90s (น่าจะเวอร์ชั่น 4) ส่วนสีของฉากหลังออกแบบมาประมาณ 3 สีคือ ส้มสะท้อนแสง แดงสด และสีเขียวนี้ให้ผู้เขียนหนังสือและสถาปนิกที่ออกแบบตึกเป็นคนเลือก
ถ้าสร้างเสร็จ วิวที่ได้แต่ละห้องจะออกมาประมาณนี้
สุดท้ายก็ยังคิดว่า Ghost Tower & Me ควรเป็นหนังสือที่ต้องอ่านสบายๆ เพราะเนื้อหามันหนัก ซับซ้อน ต้องใช้สมาธิแต่สนุกมาก ขนาดฟอนต์ของเนื้อความเลยไม่ให้ตัวเล็กเกิน นิ้วโป้งที่จับหน้าหนังสือเวลาอ่านทั้งซ้ายและขวาก็ไม่อยากให้จับแล้วไปบังเนื้อหา เลยให้ระยะ margin จากขอบกระดาษถึงเนื้อหาห่างกันในระยะที่นิ่วไม่ไปบัง อยากให้แข็งแรงและอยู่ได้นานเลยให้ใช้การเข้าเล่มแบบเย็บกี่ไสกาว เพื่อให้ภาพที่เป็นหน้าคู่เปิดออกได้เต็มที่และกระดาษไม่หลุดติดมือมาด้วย
ออกมาหน้าตาเป็น Ghost Tower & Me อย่างที่เห็น และถ้ามีโอกาสลองหามาอ่านดู แล้วจะรู้จักประเทศไทยสมัยต้มยำกุ้งว่ามันพังขนาดไหน
Ghost Tower & Me วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป - ที่มีชัวร์ๆ (เพราะเห็นด้วยตัวเองมาแล้วเมื่อเดือนสิงหา 63) คือร้านนายอินทร์ที่เปิด 24 ชั่วโมง สามย่านมิตรทาวน์ (วางอยู่ชั้น 2) หรือติดต่อสำนักพิมพ์ลายเส้น
โฆษณา