25 ก.ย. 2020 เวลา 02:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รวมงานวิจัยสุดเพี้ยนที่คว้ารางวัล Ig Nobel 2020
(เรียบเรียง โดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์)
จัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 แล้ว
สำหรับการมอบรางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) โดย มาร์ก อับราฮัมส์ แห่งวารสารงานวิจัยที่ไม่น่าเป็นไปได้ (Annals of Improbable Research) ซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้แก่ผลงานที่ทำให้คนขำเมื่อแรกพบ แล้วทำให้ฉุกคิดตามมา (First make people laugh then make them think)
ตามธรรมเนียม การประกาศรางวัลอิกโนเบลจะเกิดขึ้นก่อนการประกาศรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ไม่นาน นัยว่าเป็นการล้อเลียนรางวัลอันทรงคุณค่าของโลก แม้กระทั่งคำว่า ‘Ig Nobel’ ก็ไปพ้องเสียงกับคำว่า ‘Ignoble’ ที่แปลว่า ‘ต่ำต้อย’ ในขณะที่ ‘Nobel’ ออกเสียงคล้ายกับ ‘Noble’ ที่หมายถึง ‘ผู้ดี’
อันที่จริง แม้ผลงานที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลจะฟังดูน่าขบขัน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปก็มักมีสาระซ่อนอยู่ (บ้าง) มาดูรายชื่องานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ทั้งหมด 10 เรื่องกันเถอะ
1. สาขาสวนศาสตร์ (อ่านว่า สะ-วะ-นะ-สาด) หรือ Acoustics ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเสียง มอบให้แด่ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามทำให้จระเข้ตัวเมียร้องออกมาในกล่องปิดที่เต็มไปด้วยก๊าซฮีเลียมผสมกับออกซิเจน เพื่อศึกษาความถี่สั่นพ้องของเสียงสัตว์กลุ่มนี้ จุดประสงค์คือการทำความเข้าใจเสียงคำรามของสัตว์เลื้อยคลานในยุคดึกดำบรรพ์มากยิ่งขึ้น
2. สาขาจิตวิทยา สำหรับการสรรหาวิธีการระบุว่าใครบ้างที่เป็นคนหลงตัวเอง (Grandiose Narcissist) จากการยักคิ้ว
3. สาขาสันติภาพ มอบให้แก่รัฐบาลของประเทศอินเดียและปากีสถาน สำหรับการที่ต่างฝ่ายต่างส่งคนไปกดกริ่งที่สถานทูตแบบไม่ทันตั้งตัวตอนกลางคืน (ตามรายงานจาก The Guardian คือเวลาตีสาม) และหนีไปก่อนที่อีกฝ่ายจะเปิดประตูออกมาต้อนรับ
1
4. สาขาฟิสิกส์ สำหรับการทดลองที่ทำให้เรารู้ว่าไส้เดือนจะขดตัวเป็นรูปร่างอะไร หากเราทำให้ร่างกายของมันสั่นด้วยความถี่สูง
5. สาขาเศรษฐศาสตร์ สำหรับความพยายามในการมองหาความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับความถี่ของการจูบแบบประกบปาก ผลการวิเคราะห์พบว่ามีความสัมพันธ์กันทางสถิติ นั่นแปลว่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำสามารถนำมาใช้ทำนายอัตราการจูบแบบประกบปากได้ แต่ไม่ใช่กับการซบกอดและการมีเซ็กซ์
อ่านต่อได้ที่ https://thestandard.co/ig-nobel-2020/
โฆษณา