26 ก.ย. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
พระราชวังพญาไท ตอนที่ 1
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (พระยศขณะนั้น)
แรกเริ่มเดิมทีบริเวณ "พระราชวังพญาไท" นั้น ในอดีตมีชื่อเรียกว่า "ทุ่งพระยาไทย" โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินกว่าพันไร่ ต่อจากทุ่งซุ่มป่อยในเขตพระราชฐานสวนดุสิตเพื่อสร้าง โรงนาหลวง สำหรับการทดลองเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยอาศัยคลองพระยาไทย เป็นแหล่งน้ำสำคัญ
พระราชพิธีแรกนาขวัญ ณ นาหลวงคลองพระยาไทย
โดยทรงพระราชทานนามว่า "นาหลวงคลองพระยาไทย" ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ
พระตำหนักทุ่งพระยาไทย
ในปี พุทธศักราช 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขยายคลองพระยาไทย และปลูกพลับพลาที่ประทับ โดยมีการแก้ไขปรับผังอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะสร้างพระตำหนักที่ประทับ โดยมีนายมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นผู้ออกแบบ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น รูปทรงเรียบง่ายแบบบ้านชาวนาในชนบทของยุโรป และมีหน้าต่างรายรอบ เพื่อเปิดรับลมได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีสะพานเชื่อมต่อตำหนักฝ่ายใน ทั้งนี้ ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปลูกผัก เลี้ยงไก่และทำนา
พระตำหนักทุ่งพระยาไทย
ด้วยบรรยากาศแบบบ้านสวน อากาศปลอดโปร่ง รับลมท้องทุ่ง ในช่วงปลายรัชกาล พระองค์จึงทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินจากสวนดุสิต มาที่ทุ่งพระยาไทย โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และโปรดที่จะเสวยพระกระยาหารเรียบง่ายที่โรงนาหลวง เช่นเดียวกับฝ่ายใน นำโดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์ ก็โปรดที่จะทำนาปลูกข้าว
ในช่วงเวลาเดียวกับการก่อสร้างพระตำหนักพระยาไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายหนึ่ง เริ่มต้นจากถนนหัวลำโพง (ถนนพระรามที่ 4) ตอนตรงข้ามปากถนนสี่พระยา ผ่านถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1) ไปตามถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) ผ่านทางรถไฟสายแปดริ้ว ถนนดวงตะวัน (ถนนศรีอยุธยา) ผ่านทุ่งพระยาไทย ไปบรรจบถนนเป้า (ถนนพหลโยธิน) โดยใช้เงินพระคลังข้างที่
วังพญาไท
ทั้งนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวงประทับอยู่ที่วังพญาไท จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2462
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่าวังพญาไทนั้น สมเด็จพระราชบิดาทรงสถาปนาไว้เพื่อประทับสำราญพระราชอิริยาบถ สมเด็จพระราชมารดาก็ประทับอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมอีกหลายหลัง อีกทั้งสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา เป็นหมู่พระที่นั่งที่เชื่อมต่อถึงกัน ประกอบด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส โดยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานอยู่ฝั่งตะวันออก พระที่นั่งพิมานจักรือยู่องค์กลางอาคารทั้งสองหลังอยู่ฝั่งตะวันออกของคลองพญาไท ส่วนพระที่นั่งศรีสุทธนิวาสสำหรับฝ่ายใน อยู่ทางฝั่งตะวันตกและมีดุสิตธานี อยู่บริเวณด้านหลัง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราโชบายให้จัดงาน สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ณ สวนลุมพินี เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าครั้งยิ่งใหญ่ของสยาม เพื่อให้ชาวต่างประเทศรู้จักประเทศสยามและสินค้าต่าง ๆ มากขึ้น และมีพระราชดำริให้ดัดแปลงพระราชวังพญาไท เป็นโฮเต็ลทันสมัย เพื่อใช้เป็นที่รับรองชาวต่างประเทศที่จะมาชมงาน โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เป็นผู้ดำเนินการเฉกเช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟที่หัวหิน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
แต่โฮเต็ลมิทันเปิดตามแผนงานคือ ในวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2468 (พุทธศักราช 2469 นับอย่างปัจจุบัน) ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการเปิดเป็นโฮเต็ลต่อ เพื่อสร้างความเจริญให้แก่พระนคร และหารายได้ เพื่อลดพระราชภาระในการดูแลรักษา โดยให้กรมรถไฟทำสัญญาเช่าจากกรมพระคลังข้างที่ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468 โฮเต็ลพญาไทนับเป็นโรงแรมใหญ่และหรูหราที่สุดในเวลานั้น นอกจากสามารถรับรองผู้เข้าพักได้ถึง 72 คน ในขณะที่โรงแรมโอเรียนเต็ลรับรองแขกได้เพียง 40 คนแล้ว ยังมีห้องชุดถึง 4 ห้อง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ห้องสวีตเตอลุกซ์ หรือรอยัลสูท ที่เดิมคือ ห้องพระบรรทม ชั้น 3 มีราคาแพงถึงวันละ 120 บาท
"พญาไทพาเลส" หรือ "โฮเต็ลพญาไท"
"พญาไทพาเลส" หรือ "โฮเต็ลพญาไท"
เป็นที่น่าเสียดายที่ โฮเต็ลพญาไท ดำเนินกิจการทำกำไรเฉพาะในปีแรก หลังจากนั้นก็ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเรื่อยมา ในพุทธศักราช 2473 กรมไปรษณีย์โทรเลขขอเช่าห้องรอยัลสูท เพื่อใช้เป็นห้องส่งกระจายเสียงของ "สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2473
และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร ได้มีคำสั่งให้กรมรถไฟเลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 เนื่องจากคณะราษฎรต้องการนำวังพญาไทสร้างโรงพยาบาลทหาร จึงพระราชทานวังนี้ให้เป็นสถานพยาบาลของกองทัพบก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาจนปัจจุบัน
อย่าลืมกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขียนบทความต่อ ๆ ไปด้วยนะครับ 🙏🙏🙏 รอติดตามตอนต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา