25 ก.ย. 2020 เวลา 09:16 • ความคิดเห็น
ความพังของผู้บริหารยุคนี้ คือ การไม่ได้ปรับตัว หรือปรับกลยุทธ์การตลาดให้เท่าทันยุคสมัย
ปัญหาความเปราะบางทางด้านความคิดตรงนี้มาจาก การมองไม่ออกว่า ผู้บริโภค คือ ผู้กำหนดทิศทางการตลาด ยึดติดภาพความสำเร็จเดิมๆ อิงกับกลุ่มเป้าหมายฐานเดิมๆมากจนเกินไป
สิ่งที่ผู้บริหารหรือนักการตลาดต้องตระหนัก คือ พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ไม่นิ่ง สภาพสังคมต่างๆที่เปลี่ยนผันมีผลต่อ ค่านิยม ทัศนคติ โดยเฉพาะในยุคที่โลกาภิวัฒน์ทางการสื่อสารมีอิทธิพลสูงในการขับเคลื่อน "ความต้องการของผู้บริโภค"
จากที่เคทได้สังเกตุ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภค(ปัจจุบัน) มีดังนี้ค่ะ
1. เรื่องสิทธิ : เรื่องสิทธิ หรือการเรียกร้องต่างๆ เคทให้น้ำหนักมาเป็นอันดับ 1 ในยุคนี้เลยค่ะ มาแรงแซงโค้งทุกปัจจัย นี่คือเทรนด์สำคัญที่คุณต้องมองให้ออกนะคะ
แบรนด์ดิ้ง หรือ โปรดักส์ ใดๆที่ละเลยข้อนี้ บอกเลย "พัง" ค่ะ !!
ปัจจุบันการเรียกร้อง การแสดงออกของผู้บริโภคมีความกล้า หรือจะเรียกว่ามีความแข็งแรงขึ้นก็ได้ มีการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆในระบบ ที่ส่งกระจายต่อทางโซเชียลซึ่งมีพลังสูงกว่าการตั้งกลุ่มในรูปแบบองค์กรในอดีต การเคลื่อนไหว พุ่งตรงและรุนแรงกว่ามาก ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของ สิทธิผู้บริโภค ในการเรียกร้องผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ดีเท่านั้น แต่...สิทธิตรงนี้ได้กินความ อาณาเขตไปถึง การเรียกร้องทัศนคติทางการเมือง ทางสังคม ขององค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดสีผิว หรือการเมืองซ้าย-ขวา หรืออย่าง เช่น วาระของประชาคมโลก (รักษ์โลก) ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องจุดยืนมากกว่าเดิม และในฐานะผู้กำหนดกลยุทธนี่คือสิ่งที่ต้องบรรจุไปในวาระของการวางกลยุทธขององค์กรด้วยค่ะ
.
2. ทัศนคติทางด้านเพศเปลี่ยนไป : ไม่เพียงแค่ค่านิยม ที่ให้พลังของสตรีที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆด้าน ในช่วงกึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ มุมมองต่อกลุ่ม LGBTQ ในไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด มีการให้การยอมรับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแนวคิดต่อเรื่องเพศไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบธรรมเนียมแบบเดิม การเลือกคู่ชีวิต การให้น้ำหนักของฐานะ หรือสเตตัสทางสังคมต่างๆ ถูกให้น้ำหนักน้อยลง จนถึงการวางอิสระภาพทางชีวิตคู่แบบไม่ผูกมัดก็เป็นสิ่งที่สังคมให้น้ำหนักมากขึ้นแทนค่านิยมเดิม (ผู้ชาย ผู้หญิง โสดมากขึ้น ทรัพย์ในการดูแลครอบครัว ดูแลบุตรลดน้อยลง ทำให้ทรัพยากรถูกย้ายมาในส่วนของการดูแลสุขภาพและความงามกันมากขึ้น)
3. ขนาดของครอบครัวที่หดตัวลง : จากปัจจัยข้อ 2 ส่งผลให้ขนาดของครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลงจากอดีต สังคมยุคใหม่ไม่นิยมมีบุตรดังเช่นเดิม จึงทำให้พฤติกรรมการอยู่อาศัยก็มีการปรับเปลี่ยน ในเรื่องของขนาด(size)ครอบครัวตรงนี้ก็มีปัจจัยด้าน "อายุ" อีกด้านนึงที่เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดอุปสงค์ คือการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย (อาหาร ผลิตภัณฑ์ การรักษาพยาบาล ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ จะต้องมีการรองรับเพิ่มขึ้น )
จากปัจจัยของข้อ 2และ3 ก็ส่งผลทำให้ประชากรได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น มีการพัฒนาประสิทธิภาพเจริญก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้บริโภคอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น
4. องค์ความรู้และการศึกษาเข้าถึงมากขึ้น : เมื่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น การศึกษาก็ได้เปลี่ยนรูปแบบห่างไกลจากอดีตมากขึ้น ทำให้ประชากร(ผู้บริโภค)มีความรู้เพิ่มขึ้น
แต่...การที่คนเข้าถึงการศึกษามากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้การแข่งขันลดลง แต่กลับยิ่งเพิ่มขึ้น รวมถึงความทะเยอทะยานก็เพิ่มขึ้นตาม รวมถึงวัตถุ ค่านิยม ไลฟ์สไตล์ต่างๆ จุดนี้เองทำให้ทุกองคาพยพไหลบ่าไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการจับจ่าย มิติทางการซื้อที่เปลี่ยนแปลงเติบโตอย่างมีนัย รูปแบบการขายก็ต้องสอดรับ ทั้งช่องทางและผลิตภัณฑ์ เมื่อการแข่งขันมีในทุกมิติ "เวลา" จึงเป็นสมการเป็นตัวแปรสำคัญที่จะต้องออกแบบให้ดี
องค์ประกอบหลักๆ 4 ข้อข้างต้นที่ว่ามา เป็นการวางยุทธศาสตร์ทางการตลาดที่สำคัญ การตลาดปัจจุบันทำยากขึ้นค่ะ ยุคสมัยที่เปลี่ยนแรง เปลี่ยนเร็วและไปไว การทำธุรกิจในปัจจุบันก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา การให้น้ำหนักกับการศึกษาพฤติกรรมหรือการมอนิเตอร์เทรนด์สังคมเป็นสิ่งที่ต้องวางน้ำหนักการลงทุนให้ดี เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด
ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ค่ะ หากใครมีอะไรเพิ่มเติมเสนอแลกเปลี่ยนข้อมูลได้นะคะ
มิ้วๆ
โฆษณา