25 ก.ย. 2020 เวลา 10:41 • ประวัติศาสตร์
• The Republic
ผลงานชิ้นเอกของเพลโต
หากเอ่ยชื่อของเพลโต (Plato) แล้ว ทุก ๆ คน จะต้องรู้จักกับเขา ในฐานะที่เป็นนักปราชญ์และนักรัฐศาสตร์คนสำคัญของกรีกโบราณ ซึ่งหลักการและทฤษฎีของเขา ก็ยังคงได้รับการพูดถึงมาจนถึงปัจจุบัน
Plato
เพลโตยังได้รับการขนานนามว่าเป็น "นักอุดมคตินิยม" (Idealism) เพราะทฤษฎีและแนวคิดของเขาโดยส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็นเชิงอุดมคติ คือปฏิบัติใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ยาก
โดยเพลโตยังมีผลงานทางด้านงานเขียนอยู่หลายเล่ม อาทิ The Statesman, The Laws, Apology, The Symposium
และ 1 ในผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเพลโต ก็คือ ผลงานหนังสือที่มีชื่อว่า The Republic หรืออุตมรัฐ (หรือความหมายในปัจจุบันก็คือ สาธารณรัฐ)
โดยในบทความนี้ เราจะขอสรุปแนวคิดที่อยู่ใน The Republic ดังต่อไปนี้
1) ความดีคือความรู้
ใน The Republic เพลโตได้อธิบายว่า คุณงามความดีก็คือความรู้ ที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีและแสวงหาไว้
แต่เพลโตก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงคุณงามความดีได้นั้น ไม่ใช่คนธรรมดา แต่จะต้องเป็นผู้ทรงความรู้หรือนักปราชญ์เท่านั้น
เหล่านักปราชญ์ของกรีก ผู้เข้าถึงคุณงามความดีและความรู้ตามแนวคิดของเพลโต
2) ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย
ด้วยเหตุที่ว่า มีเพียงแค่เหล่านักปราชญ์เท่านั้น ที่จะสามารถเข้าถึงคุณงามความดีได้ ดังนั้นเพลโตจึงมีแนวคิดที่ไม่สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย (แบบกรีก)
นั้นก็เพราะ เพลโตเชื่อว่า ประชาชนของกรีกในขณะนั้น เป็นเพียงคนที่ไร้ซึ่งการศึกษา หากปล่อยให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจในการปกครอง อาจจะนำไปสู่ความวุ่นวาย และไร้ซึ่งความเป็นระเบียบของสังคม
กษัตริย์และขุนนางของกรีก
ดังนั้นเพลโตจึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองที่เรียกว่า "กษัตริย์นักปราชญ์" (Philosopher King) เป็นผู้ที่ปกครองประชาชน เพราะ เพลโตเชื่อว่า มีเพียงแค่กษัตริย์ที่มีความเป็นนักปราชญ์เท่านั้น ที่จะสามารถปกครองประชาชนได้อย่างมีระเบียบ
แต่เรื่องของกษัตริย์นักปราญช์นี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า กษัตริย์นักปราชญ์ของเพลโตนี้ จะเป็นคนดีจริง ๆ หรือไม่
3) คนทุกคนต่างมีหน้าที่เป็นของตนเอง
เพลโตเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีหน้าที่และภาระเป็นของตนเอง
เพลโตได้เสนอสังคมในอุดมคติของเขาว่า จะประกอบไปด้วยคน 3 ชนชั้นด้วยกัน อันได้แก่ ชนชั้นผู้ผลิต ซึ่งก็คือแรงงานและประชาชนทั่วไป , ชนชั้นทหาร ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องบ้านเมืองและรักษาความสงบสุข
อริสโตเติล (ขวา) ลูกศิษย์ของเพลโต กำลังสั่งสอนอเล็กซานเดอร์มหาราช (ซ้าย) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเขา เพื่อให้พระองค์ทรงมีความเป็นกษัตริย์นักปราชญ์
และสุดท้ายก็คือชนชั้นปกครอง ซึ่งก็คือ กษัตริย์นักปราชญ์นั่นเอง ซึ่งกษัตริย์นักปราชญ์จะต้องได้รับการฝึกฝนและสั่งสอนจากรัฐ เพื่อให้ปกครองบ้านเมืองโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ
4) ประชาชนและความยุติธรรมคือสิ่งสำคัญของรัฐ
เพลโตเชื่อว่า รัฐหรือผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น จะต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ความยุติธรรม และความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
หากรัฐหรือผู้ปกครอง ไร้ซึ่งความยุติธรรม ทำประโยชน์เฉพาะพวกตน หรือมองไม่เห็นความต้องการของประชาชนแล้ว รัฐนั้นย่อมเกิดความอันตราย และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกประชาชนล้มล้างได้
5) แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์แรกเริ่ม
ใน The Republic เพลโตยังได้ให้แนวคิด ที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์อีกด้วย
เพลโตได้เสนอว่า ชนชั้นปกครองรวมไปถึงชนชั้นทหาร ชนชั้นเหล่านี้จะต้องไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ต้องไม่มีบ้าน ไม่มีเงินทอง หรือแม้แต่ครอบครัว เพราะเพลโตเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดกิเลส ตัณหา ความฉ้อฉล และการทุจริตได้
รวมไปถึงครอบครัวที่มีบุตร บุตรเหล่านั้นจะต้องถูกแยกออกจากครอบครัวตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก โดยที่รัฐจะเป็นผู้ที่ดูแล ให้การสั่งสอนและเลี้ยงดูเอง
โดยสาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น ก็เพราะว่าจะเป็นการปลูกฝังทัศนคติของบุคคลเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขาทำต่อส่วนรวมหรือรัฐ มากกว่าที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ตนเองหรือคนในครอบครัว
และนี้ก็คือเรื่องราวของ The Republic ผลงานชิ้นสำคัญของนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างเพลโต แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมายาวนานนับพันปี แต่ทฤษฎีและเรื่องราวของนักปราชญ์ผู้นี้ ก็ยังจะได้รับการพูดถึงจนถึงทุกวันนี้
*** Reference
- หนังสือรัฐศาสตร์ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
#HistofunDeluxe
โฆษณา