Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องวันวาน
•
ติดตาม
30 ก.ย. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
พระราชวังพญาไท ตอนที่ 5
ท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู)
ศาลท้าวหิรัญพนาสูร
ศาลท้าวหิรัญพนาสูร เชื่อกันว่าท้าวหิรัญพนาสูร เป็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงให้กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยในพุทธศักราช 2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ มีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงสถิต ณ รูปสัมฤทธิ์เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท
ในเรื่องของ "ท้าวหิรัญพนาสูร" เทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสมัยรัตนโกสินทร์ศก 126 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองลพบุรี เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์
ในคืนวันเสด็จประพาสคืนหนึ่ง มีผู้ตามเสด็จท่านหนึ่งได้มีนิมิตฝันประหลาดเห็นชายหุ่นล่ำสันใหญ่โตมาหา บอกว่าชื่อ "หิรัญ" เป็นอสูรชาวป่า ที่มานี่จะมาบอกว่า ต่อแต่นี้เขาจะคอยตามเสด็จล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ใด เขาจะคอยดูแลและระวังภัยไม่ให้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่านได้
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงทราบเหตุการณ์ในฝันจึงทรงมีพระราชดำรัสให้จุดธูปเทียน จัดเตรียมอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ในป่าเมืองลพบุรีนั้นทันที และทุกครั้งไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปแห่งหนใด ในเวลาค่ำถึงยามเสวย พระองค์จะมีพระราชดำรัสให้จัดอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ทุกครั้งไป
และเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงระลึกถึง "ท้าวหิรัญฮู" อยู่เสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงมาหล่อรูปท้าวหิรัญฮูด้วยทองสัมฤทธิ์ จากนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารจัดเครื่องเซ่นสังเวย และเชิญ "ท้าวหิรัญฮู" เข้าสถิตในรูปหล่อนั้น พระราชทานนามให้ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร" แต่งองค์ทรงเครื่องสวมชฎาแบบโบราณ มีไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
ท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู)
มหาดเล็กคนสนิทของรัชกาลที่ 6 ผู้หนึ่ง คือ "จมื่นเทพดรุณทร" ท่านผู้นี้ได้เล่าให้ข้าราชบริพารฟังต่อ ๆ กันมาว่า "ในหลวง (ร.6) ทรงเรียกท้าวหิรัญพนาสูรว่า "ตาหิรัญฮู" ซึ่งคนในวังจะรู้ถึงกิตติศัพท์ของ "ตาหิรัญฮู" ดีว่าสำแดงเดชและอภินิหารอย่างไรบ้าง จึงเล่ากันปากต่อปากเรื่อยมา
อย่างเรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร โดยให้พระยาอาทรธรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีมิสเตอร์แกลเลตตี นายช่างชาวอิตาเลี่ยนที่มาทำงานในกรมศิลปากรเป็นผู้หล่อ เมื่อหล่อเสร็จก็จะยกขึ้นตั้งบนฐานในพระราชวังพญาไท มิสเตอร์แกลเลตตีก็เอาเชือกผูกคอท้าวหิรัญฮูชักรอกขึ้นไป เสร็จแล้วมิสเตอร์แกลเลตตีก็ป่วยกะทันหันทำงานไม่ได้ เพราะคอเคล็ดโดยไม่รู้สาเหตุ พอพระยาอาทรไปเยี่ยม ท่านพอจะรู้สาเหตุจึงบอกว่าคงเป็นเพราะเอาเชือกไปผูกคอรูปหล่อท้าวหิรัญฮูให้เอาดอกไม้ ธูป เทียนไปขอขมาเสีย เมื่อนายช่างชาวอิตาเลี่ยนทำตามคอที่เคล็ดจึงกลับมาเป็นปกติอย่างอัศจรรย์
รถยนต์พระที่นั่ง
กับอีกเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับ "ท้าวหิรัญพนาสูร" ที่เล่ากันมา เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้วรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ต่อ
วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ ตรวจรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งเป็นพระราชมรดก โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เสด็จไปด้วย กรมหมื่นฯ ท่านนี้ได้กราบทูลขอรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีรูปท้าวหิรัญฮูติดอยู่ด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ก็พระราชทานให้
เล่ากันว่าเมื่อเอารถกลับไปไว้ที่วังสี่แยกหลานหลวง คืนนั้นก็นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ในโรงเก็บรถทั้งคืน ครั้นลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร จึงคิดว่าอาจเป็นเสียงหนู แต่ขณะที่กำลังคิดในทางที่ดีก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะจู่ ๆ ไฟในโรงรถก็เกิดสว่างจ้าขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่โรงรถปิดอยู่ จึงเรียกคนขับรถและมหาดเล็กไปช่วยกันดู แต่พอเปิดประตูโรงเก็บรถก็ต้องใจหายเป็นครั้งที่ 2 เพราะไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย และยังน่าสงสัยที่เห็นรถจอดขวางโรง ซึ่งแต่แรกไม่ได้จอดในลักษณะนี้ จึงต้องช่วยกันกลับรถจอดใหม่ จากนั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ต้องจัดเครื่องเซ่นสังเวยท้าวหิรัญฮูเพื่อขอขมา และไม่กล้าใช้รถพระราชทานคันนั้นอีกเลย
เมืองดุสิตธานี
เมืองดุสิตธานี
ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองรูปแบบระบอบประชาธิปไตย ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2461 บริเวณพระราชวังพญาไท ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็ก ๆ มีเนื้อที่ 3 ไร่ แต่เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณรอบพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเมืองเล็ก ๆ คล้ายเมืองตุ๊กตา มีขนาดพื้นที่ 1 ใน 20 เท่าของเมืองจริง ประกอบด้วย พระราชวัง, ศาลารัฐบาล, วัดวาอาราม, สถานที่ราชการ, โรงทหาร, โรงเรียน, โรงพยาบาล, ตลาดร้านค้า, ธนาคาร และโรงละคร ประมาณเกือบสองร้อยหลัง เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
บรรยากาศเมืองดุสิตธานี
บ้านเรือนในดุสิตธานี
ต่อมาดุสิตธานีได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่มีที่จะสร้างบ้านเรือน พอดีกับเวลาที่จะสร้างพระราชฐานใหม่ที่พระราชวังพญาไทจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองทั้งเมืองไปตั้งที่บริเวณพระราชวังพญาไท เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2462 ในจำนวนบ้านเล็ก ๆ นั้น มีศาลาว่าการมณฑลดุสิตธานี (ปัจจุบันเทียบเท่ากับศาลากลางจังหวัด) และมีนาคาศาลา (เทียบได้กับศาลากลางบ้านหรือศาลากลางชุมชน) ซึ่งมีความหมายว่า ศาลาของประชาชน เท่ากับว่าเป็นที่ตั้งสภาจังหวัด
‘นาครศาลา’ เป็นที่ประชุมเลือกตั้งเชษฐบุรุษและนคราภิบาล ที่เปรียบเสมือนผู้แทนฯ และผู้ปกครองเมือง
นอกจากบ้านเมืองจะมีสภาพเหมือนเมืองจริงๆ แล้ว ดุสิตธานียังมีรัฐบาลและราษฎรอยู่อาศัยภายใต้บทบาทสมมติที่ตราไว้ในกฎหมาย "ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461" โดยผู้ปกครองในดุสิตธานีเรียกว่า “นคราภิบาล” ที่ได้มาจากการเลือกตั้งทุก ๆ ปี
มีราษฎรที่เรียกว่า “ทวยนาคร” ที่มาจากมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด มีทั้งเชื้อพระวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า โดยแต่ละคนจะสมมติชื่อตัวเอง มีอาชีพ มีบ้าน โดยเจ้าของบ้านทุกคนจะมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของบ้านตัวเอง เสียค่าน้ำ ค่าไฟ และจ่ายภาษี
หากผู้ใดทำผิดกฎหมาย ก็จะถูกลงโทษ “ปรับเงินเป็นพินัย” เช่น ปล่อยให้บ้านชำรุด เกิดความสกปรกอันเป็นเหตุให้ก่อโรค หรือเกิดอัคคีภัยได้ ก็จะถูกลงโทษปรับครั้งละไม่เกิน 5 บาท ถ้ายังขืนทำซ้ำก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้น
บ้านหย่อนใจ ของท่านราม ณ กรุงเทพ
รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเป็นหนึ่งในทวยนาครที่อยู่เมืองแห่งนี้ พระองค์ทรงใช้ชื่อว่า “ท่านราม ณ กรุงเทพ” แต่คนดุสิตธานีจะนิยมเรียก “ท่านราม” มีอาชีพเป็นทนาย มรรคนายกวัดพระบรมธาตุ เป็นพระราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย และทรงแสดงพระธรรมเทศนาจริง ๆ ด้วย
สังฆาวาส วัดธรรมาธิปไตย
นอกจากนี้ ดุสิตธานียังมีสื่อประจำเมืองเป็นหนังสือพิมพ์ทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมัย (รายวันฉบับแรก) ดุสิตสักขี (รายวันฉบับที่สอง) และดุสิตสมิต (รายสัปดาห์) โดยมี “ท่านราม” รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมิต’
ใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงรายเดือนหนังสือพิมพ์ ‘ดุสิตสมัย’
แม้ทุกสิ่งในดุสิตธานีจะจำลองโลกที่บางคนบอกว่าเป็น "สยามในฝัน" ของรัชกาลที่ 6 แต่วันเวลาในดุสิตธานีนั้นเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากย่อเวลาให้เหลือ 1 ใน 12 หรือ 1 ปีดุสิตธานี เท่ากับ 1 เดือนธรรมดา
มีบันทึกระบุว่า ในช่วงเวลาระหว่าง พุทธศักราช 2461 ถึง พุทธศักราช 2462 หรือราว 2 ปีนั้น (ราว 24 ปีของปฏิทินดุสิตธานี) ได้มีการเลือก “นคราภิบาล” ถึง 7 ครั้ง เพื่อให้มีการอภิปราย ติติง เลือกตั้ง ฯลฯ ผ่านบทบาทสมมติ อันเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่จะทรงฝึกเสนาอำมาตย์ซาบซึ้งในพระบรมราโชบาย แต่ทว่าสุดท้ายวิถีชีวิตในดุสิตธานีก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้น และจบเพียงเท่านั้น
บรรยากาศเมืองดุสิตธานี
บรรยากาศเมืองดุสิตธานี
ก็จบไปแล้วนะครับ กับทั้งหมด 5 ตอนเกี่ยวกับเรื่องราวของพระราชวังพญาไท เชื่อว่าคงจะได้รู้จักพระราชวังพญาไทมากขึ้นไม่มากก็น้อย และขอขอบคุณที่ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วก็อย่าลืมกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขียนบทความต่อ ๆ ไปด้วยนะครับ 🙏🙏🙏 คราวหน้าจะเป็นเรื่องอะไร โปรดติดตาม!!!
บันทึก
4
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
"พระราชวังพญาไท"
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย