26 ก.ย. 2020 เวลา 18:26 • หนังสือ
Brihat Parasara Horasastra
4
หรือคัมภีร์พฤหัตปะระสาระของมหาฤษีปะระสาระ
1. ถือเป็นคัมภีร์ไบเบิ้ลด้านโหราศาสตร์ภารตะ และกล่าวกันว่าเป็นคัมภีร์ด้านโหราศาสตร์ภารตะที่เก่าแก่ที่สุด กระทั่งนักโหราศาสตร์ภารตะบางท่านเชื่อว่าต้นฉบับเก่าแก่ย้อนไปถึงช่วงต้นกาลียุค ราว 3102 ปีก่อนคริสตศักราช รวมถึงเป็นแม่บทของบรรดาคัมภีร์โหราศาสตร์ภารตะทั้งหลาย โดยเฉพาะฉบับที่มีการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยเกือบทุกเล่ม (เว้นแต่คัมภีร์ไชยมินิที่เป็นโหราศาสตร์ภาระตะอีกแขนงหนึ่ง)
1
2.ฉบับที่นำมาจัดแสดง เป็นฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษสองสำนวน สองเล่มชุด ประกอบด้วยสำนวนที่แปลโดยสันถานัม (Santhanam) ขนาดความยาว 1042 หน้า จัดพิมพ์ครั้งแรกปี 1984โดยสำนักพิมพ์ Ranjan และสำนวนที่แปลโดยศรรมา (Girish Chand Sharma) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Sagar ในปี 1994 ขนาดความยาว 1448 หน้า เหตุที่ชุดหลังมีความยาวมากกว่าถึง 400 กว่าหน้าเนื่องจากผู้แปลได้เพิ่มเติมความเห็นและคำอธิบายเข้าไปเป็นจำนวนมากรวมถึงมีการยกตัวอย่างดวงชะตาของบุคคลยุคศตวรรษที่ 20 เข้าไปเพื่ออธิบายประกอบ
3.ที่จริงฉบับแปลอังกฤษสำนวนแรกเกิดขึ้นในปี 1962 โดย N.N.Krishna Rau และ V.B.Choudhuri แต่เป็นการคัดเลือกมาแปลเพียงบางส่วน ขณะเดียวกันฉบับที่แปลเป็นภาษาฮินดีก็เริ่มปรากฏในราวปี 1930 เท่านั้น ทำให้เพิ่งเป็นจะเป็นที่แพร่หลายในแวดวงนักโหราศาสตร์ของอินเดียช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เองซึ่งต่างจากคัมภีร์พฤหัตชาฏกของวราหมิหิรา ที่เขียนชึ้นในราวศต.ที่ 6 กลับเป็นที่รู้จักกันและกล่าวถึงมานานกว่า ขณะที่ฉบับแปลเป็นภาษาฮินดีก็มีด้วยกันถึงสี่สำนวนความผิดแผกแตกต่างกันออกไปอีกทำให้ยากที่ตัดสินลงไปให้ชัดว่าสำนวนใดมีความเก่าแก่และถูกต้องที่สุด
4.ความแท้จริงของคัมภีร์ฉบับนี้ยังมีข้อน่าสงสัยขึ้นไปอีกอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ (1) ภัคโคปาลนักโหราศาสตร์ภารตะสมัยคศต.9 ผู้ถอดความและให้คำอธิบายคัมภีร์พฤหัตชาฎก ได้กล่าวว่าเขาไม่พบต้นฉบับคัมภีร์ของมหาฤษีปะระสาระที่วราหมิหิราอ้างถึงในคัมภีร์พฤหัสชาฎก ทำให้นักประวัติศาตร์โหราศาสตร์ภารตะสงสัยว่าคัมภีร์ของปะระสาระนี้จะตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันได้อย่างไรหากนักโหราศาสตร์ในยุคพันกว่าปีก่อนก็หาไม่พบ (2) มีการเพิ่มหลักโหราศาสตร์ระบบไชมินิเข้าไป ซึ่งต้นฉบับเชื่อว่าเขียนขึ้นหลังหลายภัคโคปาล (3)ในบทที่ว่าด้วยการสะเดาะห์เคราะห์ (บท 88-97) มีการกล่าวถึงการบูชาพระศิวะและพระวิษณุ ซึ่งขัดแย้งกับชีวิตของมหาฤษีปะระสาระที่อุทิศตนแก่พระกฤษณะ
2
5.ในคัมภีร์ปะระสาระมีการใช้เรือนไม่เท่าที่เรียกว่า Sripati ซึ่งการแบ่งเรือนแบบนี้ได้แนวคิดจากนักดาราศาตร์มุสลิมยุคคศต.ที่ 11 ขณะที่คัมภีร์สมัยหลังทั้งพฤหัสชาฎกและศราวลีกลับใช้เรือนเท่าหรือเรือนจักราศี คือการกำหนดภพและราศีเป็นตำแหน่งเดียวกันแบบที่โหราศาตร์ไทยใช้อยู่ (ฝรั่งเรียกว่า Whole-Sign House ซึ่งมีใช้กันในโหราศาสตร์กรีกมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนค.ศ.) ด้วยอิทธิพลของคัมภีร์พฤหัสชาฎกที่แพร่หลายหรือด้วยความไม่ยุ่งยากในการคำนวณ โหราศาตร์ภารตะในยุคหลังกลับใช้เรือนจักราศีในการกำหนดตำแหน่งเรือนชะตา
6.ทั้งสองสำนวนล้วนแปลมาจากต้นฉบับภาษาฮินดีของสีตาราม (Sitaram Jha) ที่เป็นผู้รวบรวมและแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต ฉบับนี้เองถือเป็นฉบับที่แพร่หลายที่สุด และได้รับคำวิจารณ์ว่าสีตามรามได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหารวมถึงมีการแก้ไขข้อความให้ตรงกับความคิดเห็นของตน
7.สารบัญของคัมภีร์พฤหัสปะระสาระ (อ้างอิงกับฉบับแปลของสันธนัม) พร้อมคำอธิบายบางบท
บทที่
1 ประวัติการสร้างจักรวาลโดยพระวิษณุและการสร้างคัมภีร์โหราศาสตร์ในต้นกลียุค [ตามคัมภีร์อุปนิษัท พระวิษณุมีสองความหมายคือในฐานะผู้สร้างโลกและจักรวาล และในฐานะที่เป็นตัวจักรวาลหรือพระเจ้าเอง ในบทนี้นิยามพระวิษณุว่าเป็นผู้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีเบื้องต้น เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นพระเจ้าและความจริงแท้อันบริสุทธิ์]
2 องค์อวตารของพระเคราะห์ต่างๆ ได้แก่พระราม (พระอาทิตย์) พระกฤษณะ (พระจันทร์) นรสิงห์ (พระอังคาร) พระพุธ(พระพุธ) วามนะ (พระพฤหัสบดี) ปรศุราม (พระศุกร์) กูรมะ (พระเสาร์) และวราหะ (พระราหู) มัสยะ (พระเกตุ) [องค์อวตารหมายถึงการแบ่งภาคของพระเคราะห์เพื่อบังเกิดบนโลกในรูปกายมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ส่วนพระเคราะห์จะหมายถึงภาคที่สัมผัสและรับรู้ได้ของพระวิษณุอีกทีหนึ่ง]
3 ลักษณะต่างๆของพระเคราะห์ ได้แก่
พระอาทิตย์ (ปรมาตมัน ราชา สีแดงเข้ม เพศชาย วรรณะกษัตริย์ กระดูก เทวาลัย 6เดือน รสเผ็ด มีกำลังในทิศใต้ มีกำลังตอนกลางวัน)
พระจันทร์ (จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ราชา สีเหลืองนวล เพศหญิง วรรณะแพศย์ ลักษณะชาญฉลาด รูปร่างกลม ดวงตางดงาม วาจาอ่อนหวาน มีความอ่อนไหวและปรารถนาแห่งรัก เลือด แหล่งน้ำ 48 นาที รสเค็ม มีกำลังในทิศเหนือ มีกำลังตอนกลางคืน)
พระอังคาร (พละกำลัง แม่ทัพ สีแดงไม่สูง เพศชาย ธาตุไฟ วรรณะกษัตริย์ ลักษณะดวงตาสีแดง จิตใจโหดร้าย หุ้นหันพลันแล่น ร่างกายทรงพลัง โมโหร้าย ผอม สูงปานกลาง ไขกระดูก กองไฟ 1วัน รสขม มีกำลังในทิศใต้ มีกำลังตอนกลางคืน)
พระพุธ (ผู้ประทานวาจา ราชกุมาร สีเขียวเข้ม ไม่มีเพศ ธาตุดิน วรรณะแพศย์ ลักษณะร่างกายงดงาม ฉลาดใช้ถ้อยคำ ชอบเสียงหัวเราะ ผิวหนัง ลานกิจกรรมการละเล่น 2เดือน รสผสม มีกำลังในทิศตะวันออก มีกำลังทุกช่วงเวลา)
พระพฤหัสบดี (ผู้ประทานความรู้และความสุข ราชมนตรี สีเหลือง เพศชาย ธาตุอากาศ วรรณะพราหมณ์ ลักษณะร่างการใหญ่โต เส้นผมดวงตาสีเหลือง มีปัญญารอบรู้ในศาสตร์ทั้งปวง ไขมัน คลังสมบัติ 1เดือน รสหวาน มีกำลังในทิศตะวันออก มีกำลังตอนกลางวัน)
พระศุกร์ (ผู้ประทานน้ำกาม ราชมนตรี สีน้ำเงินเข้ม เพศหญิง ธาตุน้ำ วรรณะพราหมณ์ ลักษณะมีความร่าเริง รูปร่างงดงาม ดวงตางดงม ผมเป็นลอน ชอบประพันธ์บทกลอน น้ำกาม เตียงนอน ครึ่งเดือน รสเปรี้ยว มีกำลังในทิศเหนือ มีกำลังตอนกลางวัน)
พระเสาร์ (ผู้ประทานความทุกข์ ข้ารับใช้ สีดำ ไม่มีเพศ ธาตุลม วรรณะศูทร ลักษณะผอมสูง ดวงตาสีเหลือง ฟันซี่ใหญ่ เกียจคร้าน ง่อยเปลี้ยเสียขา เส้นขนและผมหยาบกระด้าง กล้ามเนื้อ ที่สกปรกรกร้าง 1 ปี รสฝาด มีกำลังในทิศตะวันตก มีกำลังตอนกลางคืน)
พระราหูและพระเกตุ (กองทัพ ลักษณะหมอกควัน ร่างกายสีนิล สถิตอยู่ในป่า น่ากลัวแต่มีปัญญา)
4 คุณลักษณะต่างๆของราศี
5 ลัคนาแบบต่างๆ
6-7 การแบ่งราศี 16 แบบ และการใช้งานการแบ่งราศีทั้ง 16 แบบ
8 มุมสัมพันธ์ทางราศีแบบต่างๆ
9-10 ดวงชะตากำเนิดที่ไม่ดี และการแก้ไขดวงชะตากำเนิดที่ไม่ดี
11-23 การพิจารณาเรือนชะตา ความหมาย และผลของเรือนชะตาทั้ง 12
24 ผลของเจ้าเรือน ในเรือนชะตาต่างๆ 144 แบบ
25 อุปเคราะห์ (Non-luminous planets) ปัจจัยที่ไม่มีตัวตน แต่แสดงผลเสมือนพระเคราะห์ ประกอบด้วย
เงาของพระเคราะห์ทั้งห้า ได้แก่ธูมะ วยาธิปตา ปริเวศา อนทราธนูศ์ อุปเกตุ หรือเงาของพระจันทร์ ศุกร์ อังคาร ราหู และพระเกตุตามลำดับ จะคำนวณจากตำแหน่งสัมพัทธ์จากองศาอาทิตย์กำเนิด อาทิ หากพระอาทิตย์กำเนินอยู่ 0 องศาราศีเมษ เงาพระเคราะห์ทั้งห้าจะอยู่ราศี สิงห์ ตุลย์ เมษ กุมภ์ มีน ตามลำดับ
บุตรของพระเคราะห์ทั้งห้า ได้แก่ กาละ มฤตยู อารทะปราหะ ยมขันธก์ คุลิกา หรือบุตรของพระอาทิตย์ อังคาร พุทธ พฤหัสบดีและพระเสาร์ตามลำดับ จะคำนวณจากเวลาเกิด โดยแบ่งวันทั้งเจ็ดแต่ละวันออกเป็นยามกลางวัน 8 ยามและกลางคืน 8 ยาม คล้ายยามอัฎฐกาลของไทย
26 มุมสัมพันธ์ของพระเคราะห์ หรือวิเศษทฤษฏีโยค หมายถึงการส่งกำลังเชิงมุมหรือโยคพิเศษของพระเคราะห์ ได้แก่พระอังคาร (ส่งกำลังไปยังเรือนที่ 4 และ 8 จากตนเอง) พระพฤหัสบดี พระราหู และพระเกตุ (ส่งกำลังไปยังเรือนที่ 5 และ 9 จากตนเอง) พระเสาร์ (ส่งกำลังไปยังเรือนที่ 3 และ 10 จากตนเอง)
27 ษัฑพละ หรือการวัดกำลังพระเคราะห์ 6 ประการ เพื่อประเมินการให้คุณโทษของพระเคราะห์แต่ละดวง ได้แก่ สถานะพละ(กำลังโดยตำแหน่งอุจจ์ มูลตรีโกณ เกษตร์ ราศีมิตร ราศีศัตรู นวางค์และราศีคู่คี่ เรือนเกณฑ์ 1-4-7-10 และเพศ) ทิคะพละ(กำลังแต่ละพระเคราะห์ตามทิศที่คำนวณจากลัคนาและราศี) กาละพละ(กำลังแต่ละพระเคราะห์ในเวลากลางวัน-กลางคืน ข้างขึ้น-แรม กำลังตามปี-เดือน-วัน-ยาม มุมเอียงจากจุดวิษุวัต กำลังเมื่อพระเคราะห์กุมกัน) เจษฎะพละ(กำลังตามลักษณะการโคจรช้า เร็ว ถอยหลัง หยุดนิ่ง ปกติ) นิสรรคพละ (กำลังตามความสว่าง) ทริกะพละ (กำลังตามมุมสัมพันธ์เล็ง ตรีโกณ จตุโกณ โยคทางราศี และโยคพิเศษของพระเคราะห์)
28 อิษฏผล (ผลดี) และกัษฎผล (ผลร้าย) การหาผลรวมของกำลังพระเคราะห์ที่วัดจากษัฑพละ เพื่อหาข้อสรุปว่าพระเคราะห์ใดให้ผลดีสุดและร้ายสุด เพื่อใช้ในการพิจารณาผลของพระเคราะห์จร หรือพระเคราะห์เสวยอายุ-พระเคราะห์แทรก ที่มีต่อดวงชะตา
ในบทที่ 29 ถึง 34 ผู้เรียบเรียงชี้แจงว่าได้มีการขยายความไว้อย่างกว้างขวางในคัมภีร์โหราศาสตร์ระบบไชมินิ อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์โหราศาสตร์ภารตะบางท่านเชื่อว่าเป็นส่วนของระบบไชมินิที่เพิ่มเข้ามาในภายหลัง และไม่น่ามีในต้นฉบับโบราณของคัมภีร์ปะระสาระ
29 อรุทา (Arudha) ของเรือนชะตาต่างๆ หรือที่เรียกว่าภาดา (Pada) ตำแหน่งอรุทาคือตำแหน่งที่ห่างจากดาวเจ้าเรือนนั้นจากเรือนตนเองในในระยะที่เท่ากัน เช่นสมมติลัคนาราศีพิจิก มีอังคารเป็นเจ้าเรือนอยู่ในราศีกรกฎห่างออกไป 9 ราศี หากนับจากราศีกรกฎออกไป 9 ราศีก็จะตกราศีมีน แสดงว่าอรุทาของลัคนาอยู่ที่ราศีมีนนั่นเอง พิจารณาจากทฤษฏีดาวสะท้อนของทางตะวันตก ศูนย์รังสีของลัคนากับอรุทาก็คือตำแหน่งตนุลัคน์นั่นเอง
30 ผลแห่งเรือนอุปปท หรือเรือนที่ 12 ของลัคนาในราศีคี่ และเรือนที่ 2 ของลัคนาในราศีคู่
1
31 อัคราหรือ Argala (การขัดขวางการส่งกำลังไปยังเรือนชะตา) ดาวในเรือนที่ 2-11-4-5 จากเรือนชะตาใดจะส่งกำลังไปยังเรือนนั้น แต่หากมีดาวในเรือนที่ 12-3-10-9 ดาวในเรือนนั้นจะขัดขวางการส่งกำลังของดาวในเรือน 2-11-4-5 ตามลำดับ หากพิจารณาเหตุผลด้วยหลักพระเคราะห์สนธิของยูเรเนียน ดาวที่อยู่เรือนที่ 2-12, 3-11, 4-10, 5-9 ย่อมทำให้เกิดปัจจัยสนธิปัจจัยใหม่เกิดขึ้น ทำให้อิทธิพลของดาวโดดหมดกำลังลง ทำให้น่าสงสัยว่าระบบไชมินิน่าจะพัฒนาขึ้นภายหลังทฤษฎีการสะท้อนของจุดวิษุวัติ Antiscia/Contracia ที่ได้รับอิทธิพลจากโหราศาสตร์ตะวันตก
32-34 การะกะ ผลของการะกะ และโยคการะกะ พระเคราะห์การะกะ หรือพระเคราะห์ที่เป็นตัวแทนเจ้าชะตากรณีที่ไม่ทราบเวลาเกิด จะนำดาวที่มีองศาสูงสุดในดวงชะตา (เรียกว่าอาตมะการะกะ) มาใช้แทนลัคนาเพื่อนำไปหาพระเคราะห์เสวยอายุ-พระเคราะห์แทรก และใช้พระเคราะห์องศารองลงไปในการกำหนดความสำคัญของพระเคราะห์ที่เหลือ รวมถึงกำหนดพระเคราะห์เป็นตัวแทนความหมายของสิ่งต่างๆเช่น พระอาทิตย์(พ่อ) จันทร์ (แม่) อังคาร(พี่ชายน้องชายหรือพี่สาวน้องสาว) พุธ(ญาตฝ่ายแม่) พฤหัสบดี(ลูกชายลูกสาว) ศุกร์(ภรรยาหรือสามี) เสาร์(ความตายหรือความยั่งยืนของชีวิต)
นอกจากนี้พระเคราะห์ยังเป็นตัวแทนความหมายเหมือนเรือนชะตาต่างๆ ได้แก่อาทิตย์(เรือน 1 ตัวตน) พฤหัส(เรือน 2 ครอบครัวการเงินภรรยา, เรือน5 สัตว์เลี้ยง ลูกหลาน ทายาท, เรือน9 โชคลาภ ศาสนา เรือน 11 ชีวิตก่อนเกิด) อังคาร(เรือน 3 ความกล้าหาญ เรือน6 ศัตรู) จันทร์(เรือน4 แม่) ศุกร์(เรือน7 ภรรยา การแต่งงาน) เสาร์(เรือน8 ความยืนยาวของชีวิต เรือน12 การใช้จ่าย) พุธ(เรือน 10 เกียรติยศชื่อเสียง) ความหมายเรือนชะตาโดยละเอียดกล่าวถึงในบทที่ 11-23
35-42 ผลแห่งนาภสโยค โยคประเภทต่างๆ โยคของพระจันทร์ ของพระอาทิตย์ ราชาโยค ราชาศรัยโยค ธนโยค ทริทรยโยค
43 อายุรทายะ ความยืนยาวของอายุขัย
44 พระเคราะห์มาระกะ หรือดาวแห่งความตายของราศี หากมีกำลังมากและส่งแสงถึงเรือนตน อาจทำให้ตายได้
45 อวัสถะ คือการวัดกำลังของแต่ละพระเคราะห์ในดวงชะตา เพื่อประเมินผลดีร้ายต่อดวงชะตาโดยภาพรวม โดยมีวิธีวัดกำลังทั้งสิ้น 10 ประการคือตำแหน่งอุจจ์และมูลตรีโกณ (ทีปะตะ) เกษตร์ (สวัสถะ) อยู่ในเรือนมิตร (มุทิตา) อยู่ในวรรคศุภเคราะห์ (สันตะ) อยู่ในสถานะเพ็ญ (วักระ) อยู่ใต้อิทธิพลดาวบาปเคราะห์ (ทีนะ) อยู่ในเรือนศัตรู (ทุขิตะ) อยู่ในวรรคบาปเคราะห์ (วิกาละ) ตำแหน่งนิจ (ขละ) และอับแสง (โคปะ)
46 ทศา 26 ประเภท ว่าด้วยการพยากรณ์จรด้วยพระเคราะห์เสวยอายุ ได้แก่ทศานักษัตร 120 108 116 112 105 100 84 60 36 ปี ตามลำดับ ที่กำหนดพระเคราะเสวยอายุ (เจ้าทศา)จากฤกษ์ที่จันทร์กำเนิดสถิต นับอายุจรตามจำนวนปีที่เจ้าทศาเสวย, กาลทศา (แบ่งเวลาหนึ่งวันเป็น 20 ช่วง กำหนดพระเคราะห์ทั้ง 9 เป็นเจ้าทศาในแต่ละช่วง), จักรทศา (นับอายุจรจากตำแหน่งลัคนา ตนุลัคน์ ภาพกฎุมพะ ขึ้นกับเวลาเกิด นับทวนเข็มตามจักราศี ราศีละ 10 ปี), กาลจักรทศา, จรทศา (เริ่มต้นนับอายุจรที่ภพลัคนาไปจนถึงภพวินาศ ตามอายุเจ้าทศาในแต่ละราศี), สถิรทศา, โยคารธทศา, เกนทราทิทศา, การกทศา,มัณฑูกทศา, ศูลทศา, ตรีโกณทศา, ทฤคทศา, ตันวาทิราศีทศา, ปัญจสวรทศา, วรรณททศา, โยคินีทศา, ปิณฑทศา, อังศทศา, นิสรรคทศา, สนธยาทศา, ปาจกทศา, ตาราทศา
47 ผลของเจ้าทศาพระอาทิตย์ จันทร์ อังคาร ราหู พฤหัส เสาร์ พุธ เกตุและศุกร์ ในวิมโสตรีทศา ผลดีและร้ายตามตำแหน่งมาตรฐานในพื้นดวง
48 ผลของทศานักษัตรหรือวิมโสตรีทศา ผลของทศาที่เป็นเจ้าเรือนต่างๆ
49 ผลของกาลจักรทศา หรือทศาของราศีที่ครองโดยพระอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ และเสาร์ ผลของทศาในแต่ละนวางค์ ของแต่ละราศี
50 ผลของทศาจักร หรือทศาราศี
51 คำนวณหาอันตรทศาดาวเคราะห์และราศีในวิมโสตรีทศา หรือการคำนวณพระเคราะห์แทรก [ในระบบพระเคราะห์เสวยอายุวิมโสตรีทศาของภาระตะจะมีการกำหนดพระเคราะห์แทรกละเอียดย่อยลงไปถึง 4 ชั้น คือระดับอัตนตรทศา ปรัตยันตรทศา สูกษมทศา และปราณทศา ตามลำดับ
52-60 ผลของอันตรทศา (พระเคราะห์แทรกพระเคราะห์เสวยอายุ) ของพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระราหู พระพฤหัส พระเสาร์ พระพุธ พระเกตุ และพระศุกร์ ที่เป็นพระเคราะห์แทรก
61-65 พระเคราะห์แทรกพระเคราะห์เสวยอายุสามลำดับชัน (ปรัตยันตรทศาแทรกอันตรทศา สูกษมทศาแทรกปรัตยันตรทศา ปราณทศาแทรกในสูกษมทศา) ผลของอันตรทศาในกาลจักรทศา ผลของทศาราศีในราศีเมษ
66-72 อัษฎกวรรค การปรับแก้เวลาเกิดด้วยอัษฏกวรรค เอกาธิปัตยะ ปิณฑา ผลของอัษฎกวรรค พิจารณาความยืนยาวของชีวิตในอัษฎกวรรค (อายุรทายะ) ผลแห่งผลรวมของอัษฎกวรรค
73 ผลของรังสีในพระเคราะห์
74 ผลของสุทรรศนจักร
75 ปัญจมหาปุริสลักษณะ (พระเคราะห์แสดงบุคคลิก)
76 ผลธาตุทั้ง 5 ดิน ลม น้ำ ไฟ และอากาศ
77 ผลของตรีคุณะ ได้แก่ สัตตวะ(ธาตุแห่งความดี ความสุข ความพอใจ ความสว่าง สีขาว), รชัส(ธาตุแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง เศร้าหมอง โหดร้าย เจ็บปวด สีแดง) และ ตมัส (ธาตุแห่งความหนัก เฉื่อยชา เหงาหงอย หยุดนิ่ง สีดำ)
78 กาลชะตา (ปรัศนศาสตร์)
79 โยคที่นำไปสู่การออกบวช (ประวรชยาโยค)
80-81 ดวงชะตาสตรี (สตรีชาฏก) และส่วนต่างๆของร่างกายสตรี
82 นรลักษณ์และตำหนิของบุรุษและสตรี
83 โยคที่เป็นผลจากคำสาปในชาติก่อน
84 การสะเดาะเคราะห์ที่เป็นผลจากพระเคราะห์ให้โทษ
85 การเกิดที่ไม่เป็นมงคล แม้ลัคนาและพระเคราะห์อยู่ในตำแหน่งดี
86 -96 การสะเดาะเคราะห์สำหรับผู้ที่เกิดในวันไม่เป็นมงคลแบบต่างๆ ได้แก่ เกิดในช่วงข้างแรม เกิดในวันแรม 14 ค่ำ เกิดในนักษัตรเดียวกันกับพ่อแม่หรือพี่ชายที่เสียชีวิตอย่างทรมาน เกิดในวันที่พระอาทิตย์ย้ายราศี เกิดในช่วงที่มีอุปราคา เกิดในช่วงคัณฑานตะ เกิดในช่วงมูลคัณฑะ เกิดในช่วงมูลคัณฑะของเชษฐาฤกษ์ ทารกที่เกิดหลังมีพี่ 3คน ที่เพศต่างกับตนเกิดมาก่อนหน้า เกิดมาผิดปกติหรือพิการ
97 สรุป
หมายเหตุ: คำว่าพระเคราะห์ส่งกำลังหรือส่งแสงใช้ทดแทนกันได้ ขณะเดียวกันคำว่าเรือนชะตาหรือราศีในบริบทของการส่งกำลังก็ใช้ทดแทนกันได้ ในบทความนี้จะใช้คำว่าพระเคราะห์ส่งกำลังและเรือนชะตา
อ้างอิง: สำหรับคำแปลและเนื้อหาภาษาไทยบางส่วนข้าพเจ้านำมาจากตำราของอ.พันธุ์กฤษฏ์ บุญสิทธิ์ผู้เป็นครูของข้าพเจ้า, ษัฑพละของอ.ณภัทร ศรีจักรนารท และวิทยานิพนธ์ของณัฐพล บ้านไร่
โหราทาส
๒๗ กันยายน ๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา