27 ก.ย. 2020 เวลา 02:02 • ปรัชญา
"ทะยานอย่างก้าวกระโดด เมื่อทำ 3 สิ่งนี้อย่างสม่ำเสมอ!!"
วันนี้ ผมมีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากสำหรับคนที่อยากพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ด้าน
ซึ่งเคล็ดลับเหล่านี้ ผมไม่ได้คิดขึ้นมาลอย ๆ นะครับ แต่ได้ผ่านการทดลองและนำมาใช้กับห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยทั่วสหรัฐอเมริกา ที่ทำการสำรวจศาสตร์แขนงใหม่ที่ว่าด้วยการพัฒนาทักษะให้เก่งกาจ
1
โดยการทดลองดังกล่าว ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า ความเก่งกาจได้รับอิทธิพลจากการกระทำมากกว่าพันธุกรรม โดยเฉพาะการฝึกฝนที่เข้มข้นและเปี่ยมด้วยแรงจูงใจซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นให้สมองเติบโต
ส่วนตัวแล้ว ผมมีความเชื่อว่า "ไม่มีใครอยู่เฉย ๆ แล้วจะเก่งขึ้นได้" คนเก่งทุกคนล้วนผ่านการฝึกซ้อมมาแล้วอย่างหนักหน่วง
1
แต่จะฝึกฝนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในเวลาที่เท่า ๆ กัน อันนี้ต่างหากที่น่าสนใจ
1
ซึ่งในบทความนี้ ผมได้คัดเลือกทักษะที่เป็น "เคล็ดลับ" ของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไว้ 3 ข้อ และนำมาสรุปให้ทดลองใช้กัน
ข้อที่ 1 "มองภาพรวมของสิ่งที่ต้องฝึก แบ่งทักษะออกเป็นส่วนย่อย ๆ และฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า"
3
ขอยกตัวอย่างจากตัวผมเอง ย้อนกลับเมื่อสมัยมัธยม ผมได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลของโรงเรียน แน่นอนว่ากิจวัตรประจำนอกจากการเรียนหนังสือ ก็คือ การซ้อมบาส
ผมเริ่มจากการเล่นบาสไม่เป็นเลย เพียงแต่อาศัยความชอบส่วนตัว หัดเล่นเองบ้าง เล่นกับเพื่อนตอนเย็นหลังเลิกเรียนบ้าง พอต้องมาเล่นให้กับทีมของโรงเรียนแล้ว การซ้อมทุกอย่างมันมีระบบ
1
ด้วยความที่เป็นเด็กใหม่ สิ่งที่เราต้องการก็มีเพียงอย่างเดียวคือการลงไปเล่นในสนามแบบรุ่นพี่ แต่ด้วยทักษะทุกอย่างที่มีในตอนนั้นถ้าคะแนนเต็ม 10 ผมคงได้ซัก 2 คะแนน
ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ การมองภาพรวมของการฝึกซ้อมว่ารุ่นพี่เค้าต้องทำอะไรบ้าง และแยกประเภทของฝึกออกเป็นอย่าง ๆ และฝึกทักษะแต่ละอย่างจนชำนาญ
1
เชื่อมั้ยครับว่าในเดือนแรกของการฝึกผมแทบไม่ได้จับลูกบาสเลย โดยผมต้องวิ่งรอบสนาม ฝึกฝนกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
หลังจากพื้นฐานร่างกายเริ่มเข้าที่แล้ว ถึงได้มาฝึกเลี้ยง ฝึกยิง และการเล่นเป็นทีม จนทักษะแต่ละอย่างเราพร้อมแล้ว ถึงได้ลงสนามซ้อมและลงแข่งขันจริงในที่สุด
เพราะทักษะย่อย ๆ นั้น ก็เปรียบเหมือนกับตัวอักษร ที่เวลาอยู่ลำพังแต่ละตัวก็จะไม่มีความหมายอะไร
1
แต่เมื่อนำอักษรหลาย ๆ ตัวมาประกอบเป็นคำขึ้นมา และพัฒนาเป็นประโยคแล้ว ตัวอักษรเหล่านั้นก็พร้อมที่จะสื่อความหมายและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราได้รับรู้กัน
1
ข้อ 2 "ซ้อมทักษะเหล่านั้นวันละ 5 นาที ดีกว่าซ้อมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง"
2
เพราะสมองของเราเติบโตทีละน้อยอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนหลับ การฝึกซ้อมในทุก ๆ วันแม้เพียงวันละ 5 นาทีจึงสอดคล้องกับกระบวนการเติบโตดังกล่าว
ส่วนการฝึกซ้อมแบบนาน ๆ ครัั้งแต่ใช้เวลานานจะบังคับให้สมองต้องไล่ตามใหัทัน ทำให้สมองเหนื่อยล้าและใช้ประสิทธิภาพได้ไม่เต็มที่
ขอยกตัวอย่างจากตัวผมเองอีกซักเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยใช้วิธีนี้กัน นั่นคือ การเร่งอ่านหนังสือในวันสุดท้ายก่อนเข้าห้องสอบ
บอกได้เลยว่าวิธีนี้ทำให้ผม "สอบไม่ผ่าน" มาแล้ว เพราะการที่เรามาเร่งอ่านหนังสือก่อนสอบเพียง 1 วันหรือไม่กี่ชั่วโมงนั้น เหมือนเราบีบคั้นให้สมองที่ไม่เคยทำงานหนักมาก่อนแล้วอยู่ ๆ ต้องมาหักโหมทำงานหนักทันที
เมื่อรวมกับความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการที่เรียกว่า "เบลอ" นั่นเองครับ
ซึ่งผลก็คือ เมื่อเข้าไปในห้องสอบแล้วกลับจำอะไรไม่ได้เลยซักอย่าง วิเคราะห์อะไรก็ผิดไปหมด ซึ่งนั่นเป็นผลจากการที่สมองเราไม่เคยได้เตรียมพร้อมมาก่อน แล้วอยู่ ๆ ต้องมาใช้งานหนักเลย
ภายหลังผมจึงปรับนิสัยใหม่ โดยใช้เวลาอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้ทำงานทุกวันแต่ไม่หนักจนเกินไป
1
ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ โดยก่อนสอบ 1 สัปดาห์ ผมแทบไม่ได้แตะหนังสือเลย ในทางกลับกัน ผมทั้งเล่นเกมและดูหนังแต่ก็สามารถสอบผ่านและทำคะแนนได้ค่อนข้างดี
นั่นเป็นเพราะสมองของเราได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ไว้เป็นประจำแล้ว จึงสามารถนำมาใช้ในวันสอบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีความกดดันที่จะมาทำให้ สมองของเราเหนื่อยล้าจนเกินไปนั่นเอง
ข้อดีอีกอย่างของการฝึกซ้อมทุกวันก็คือ พฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นนิสัยของเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีผลการวิจัยบอกไว้ว่า พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนเป็นนิสัยได้หากเราใช้เวลากับมันอย่างน้อย 30 วันครับ
2
ข้อ 3 "ถ้าต้องเรียนรู้จากหนังสือ ให้ปิดหนังสือซะ !?"
อ่านไม่ผิดหรอกครับ "ให้ปิดหนังสือซะ"
จริง ๆ แล้วข้อนี้น่าจะเป็นของแถมสำหรับคนที่ต้องฝึกฝนทักษะจากการอ่านหนังสือมากกว่า
มีการทดลองสนุก ๆ เพื่อจะพิสูจน์ว่า หากให้เวลาอ่านหนังสือเพียง 30 นาที วิธีไหนใน 2 วิธีต่อจากนี้จะทำให้ผู้อ่านสามารถจดจำเนื้อหาได้มากที่สุด ระหว่าง
วิธีที่ 1 อ่านเนื้อหาติดต่อกัน 4 รอบรวดและพยายามจดจำให้ได้มากที่สุด
วิธีที่ 2 อ่านรอบเดียว จากนั้นให้ปิดหนังสือ แล้วเขียนสรุปเนื้อหาออกมา
1
ผลการทดลองที่ออกมา ปรากฏว่าคนที่ใช้วิธีที่ 2 สามารถจดจำเนื้อหาได้มากกว่าคนที่ใช้วิธีที่ 1 เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์!
นั่นเป็นเพราะ "การเรียนรู้คือการดิ้นรนพยายาม" การอ่านหนังสือเพียงให้ผ่านตา ไม่ได้บีบให้สมองเกิดการกดดันมากพอที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้
1
ในทางกลับกัน การปิดหนังสือและสรุปออกมา จะบีบให้เราจับประเด็นสำคัญ ประมวลผล และจัดระเบียบประเด็นให้อยู่ในรูปแบบที่สมเหตุสมผล และการเขียนลงในกระดาษจะทำให้เกิดการ "ทำซ้ำ"
สังเกตมั้ยครับ ว่าวิธีนี้สมองของเราจะเกิดการดิ้นรนพยายามถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนจับประเด็น ครั้งที่สองตอนจัดระเบียบ และครั้งที่สามตอนเขียนลงกระดาษ
ซึ่งวิธีนี้จะกดดันให้สมองเราเกิดการเรียนรู้มากกว่าวิธีที่ 1 มากเลยทีเดียว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ทดลองสามารถจดจำเนื้อหาได้มากกว่านั่นเอง
1
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเคล็ดลับต่าง ๆ มากมายขนาดไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นก็คือ การลงมือทำอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
1
"เพราะทุก ๆ ความสำเร็จ เริ่มต้นจากการลงมือทำทีละเล็กทีละน้อย อย่างสม่ำเสมอ"
1
บางส่วนจากหนังสือ 52 เคล็ดวิชาเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นอัจฉริยะ สำนักพิมพ์วีเลิร์น
#Leaderคิดอย่างผู้นำ
โฆษณา