28 ก.ย. 2020 เวลา 01:05 • การศึกษา
🌟ความหมายและอานิสงส์ ของการทอดกฐิน🌟
กฐินทาน คือการถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย ดังที่จะนำมาเล่าให้ได้ทราบ
แต่ก่อนที่จะได้ทราบถึงอานิสงส์ เรามารู้จักความหมายของคำว่ากฐินกันสักนิดหนึ่ง คำว่า “กฐิน” แปลว่า สะดึง คือไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งสี่เหลี่ยม บางครั้งก็เป็นรูปวงกลม เมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้ว จะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น
แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษา คำว่า “ทอดกฐิน” จึงหมายถึงการน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจอะจงแก่ภิกษุรูปใด
เทศกาลทอดกฐิน จะเรียกอีกแบบก็คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุนั่นเอง
โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้น ผ้าที่ภิกษุได้มานั้น เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ หรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าห่อศพในป่าช้า หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่า หาได้ยาก การที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหนนำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาความหลุดพ้น
อีกอย่างหนึ่ง จะได้ไม่เป็นที่หมายปองของพวกโจร จะได้ไม่ถูกขโมย หรือถูกโจรปล้นชิงไป เพราะในสมัยนั้นเขารังเกียจผ้าปุปะ หรือผ้าเก่าๆ ถือว่าเป็นผ้าเสนียด จึงไม่มีใครอยากได้
แต่มาภายหลัง ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับผ้าที่คหบดีนำมาถวายได้ เนื่องจากหมอชีวกะได้กราบทูลเพื่อที่จะถวายผ้าแก่พระภิกษุ เพราะเห็นว่าพระภิกษุทั้งหลาย ท่านมีความลำบากในการแสวงหาผ้าเหลือเกิน
รูปแบบของจีวรนั้น เกิดขึ้นจากดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงชี้ให้พระอานนท์แลดูคันนาของชาวมคธ และให้ออกแบบตัดเย็บ โดยใช้แผ่นผ้าหลายชิ้นนำมาเย็บต่อๆ กันเป็นขันธ์คล้ายคันนา เพื่อให้เป็นผ้ามีตำหนิไม่มีใครอยากได้
พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้จีวรมี 5 ขันธ์ขึ้นไป ส่วนจีวรในปัจจุบันมี 5 ขันธ์ นับเฉพาะแนวตั้งเรียกว่า “มณฑล” ส่วนขันธ์ย่อยเรียก “อัฑฒมณฑล”
จีวรที่พระภิกษุใช้สอยกันในสมัยก่อนนั้น จะต้องวัดแต่ละชิ้นให้ได้สัดส่วน แล้วก็ทำการตัด เย็บ และย้อมเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากและลำบากอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ
โดยวัสดุที่ทรงอนุญาตให้นำมาย้อมผ้าจีวรได้ คือ 1.รากไม้ 2.ต้นไม้ 3.ใบไม้ 4.ดอกไม้ 5.เปลือกไม้ 6.ผลไม้ ซึ่งเมื่อเย็บเสร็จแล้วก็ต้องนำมาย้อม สีที่นิยมใช้ คือ สีเหลืองเจือแดง, สีเหลืองหม่น หรือสีกรัก ส่วนสีที่ห้ามใช้ ได้แก่ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด สีชมพู และสีดำ
เมื่อเย็บและย้อมเสร็จแล้วก็ต้องอธิษฐานให้เป็นผ้าครองต่อไป แต่ก่อนจะนำมานุ่งห่ม ก็จะต้องพิจารณาผ้าเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้
โดยเมื่อสำเร็จเป็นจีวรแล้วนั้น พระภิกษุท่านจะใช้สอย และเก็บรักษาเป็นอย่างดี เพราะถือว่า ผ้าจีวรนั้นเป็นธงชัยของพระอรหันต์
เมื่อพระภิกษุได้ผ้าจีวรผืนใหม่แล้ว ส่วนผ้าผืนเก่าก็จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำมาทำเป็นผ้าดาดเพดาน เมื่อผ้าดาดเพดานเก่า ก็จะเอามาทำเป็นผ้าปูฟูกหรือผ้าปูที่นอน ผ้าปูที่นอนผืนนั้น เมื่อเก่าลง ก็จะนำมาทำเป็นผ้าปูพื้น ผ้าปูพื้นที่เก่าแล้ว ก็เอามาทำเป็นผ้าเช็ดเท้านำผ้าเช็ดเท้าที่เก่าแล้ว มาทำเป็นผ้าเช็ดธุลี และนำผ้าเช็ดธุลีที่เก่าแล้ว มาโขลกให้แหลก แล้วขยำกับโคลนเพื่อฉาบทาฝากุฏิ
ดังนั้น ผ้ากฐินที่ได้ถวายพระภิกษุสงฆ์ไปแล้วนั้น ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุด จึงก่อให้เกิดอานิสงส์แก่ผู้ทอดถวายมากมาย
ส่วนประวัติการรับผ้ากฐิน และอานิสงส์กฐินนั้น มีความเป็นมาดังนี้ สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐจำนวน 30 รูป เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี
แต่เมื่อถึงเมืองสาเกตุเท่านั้น ยังไม่ทันถึงกรุงสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องเข้าจำพรรษาเสียในระหว่างทางนั้นเอง
ในระหว่างนั้น ภิกษุชาวปาไฐยรัฐมีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ว่า เราแม้อยู่ห่างจากสาวัตถีเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเรากลับไม่ได้เข้าเฝ้าพระองค์
ครั้นล่วง 3 เดือนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้ทำการปวารณาซึ่งกันและกันในวันมหาปวารณา
ในตอนนั้นแม้ออกพรรษาแล้วแต่ฝนยังตกอยู่ พื้นดินชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน ภิกษุเหล่านั้นรีบเร่งเดินทางเพื่อเข้าไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทำให้สบงจีวรที่ท่านนุ่งห่มเปียกปอน เปรอะเปื้อน และเปื่อยขาด กว่าจะเดินทางมาถึงพระเชตวันก็ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก
เมื่อถึงพระเชตวันแล้ว ยังมิทันได้พักเลย ภิกษุเหล่านั้นก็รีบเข้ากราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยทั้งจีวรที่ชุ่มไปด้วยน้ำ เปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน
พระพุทธองค์ได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นเรื่องความเป็นอยู่ และสุขภาพร่างกายว่า จำพรรษากันผาสุกดีอยู่หรือ ทะเลาะวิวาทกันบ้างไหม อาหารบิณฑบาตพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ
ภิกษุทั้งหลายได้ทูลตอบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จำพรรษาด้วยความผาสุก พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่วิวาทกัน และไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต
พระพุทธองค์ทรงเห็นจีวรของภิกษุทั้งหลายเก่าและขาด จึงทรงมีพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งเดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว
โดยให้ภิกษุที่ได้รับผ้ากฐินแล้ว ได้อานิสงส์ 5 ประการคือ
1.เที่ยวไปสู่ที่สงัดเพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา
2.เที่ยวไปได้โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ
3.ฉันคณะโภชนะได้ คือฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะ หรือร่วมวงฉันด้วยกันได้
4.ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือรับผ้าจีวรได้มากผืน
5.จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีก ก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ไม่ต้องเข้าส่วนกลาง
นี้คือประวัติความเป็นมาของการทอดกฐินและอานิสงส์โดยย่อที่เกิดแก่พระภิกษุผู้รับผ้ากฐิน
จึงขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมกันทอดกฐิน ณ วัดต่าง ๆ ทั่วไทยและทั่วโลกโดยพร้อมเพรียงกัน
🌟รับธรรมะดี ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในได้ที่นี่
⚡️Line
⚡️Facebook
⚡️YouTube
⚡️Instagram
⚡️Twitter
⚡️Pinterest
⚡️Spotify
⚡️Apple Podcasts
⚡️JOOX
⚡️TikTok
⚡️Blockdit
⚡️Google Maps

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา