9 ต.ค. 2020 เวลา 12:35 • การศึกษา
บาทแข็ง VS บาทอ่อน เกิดจากอะไร ?
1
ก่อนจะไปเรียนรู้ว่า บาทแข็ง หรือ บาทอ่อน เกิดจากอะไรนั้น เรามาทำความรู้จักความหมายของทั้งสองอย่างกันก่อนนะคะ
👉 เงินบาทอ่อนค่า หมายถึง เงินบาทมีค่าลดลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ทำให้เราใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นเงินสกุลอื่น เช่น
เดิมค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ : 1 USD = 30 THB
1
ต่อมาค่าเงินบาทเปลี่ยนเป็น 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ : 1 USD = 32 THB
✔ เท่ากับ ค่าเงินบาทมีค่าลดลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินดอลลาร์ฯ กรณีนี้ อาจเรียกว่า เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินบาทก็ได้ค่ะ
👉 เงินบาทแข็งค่า หมายถึง เงินบาทมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ทำให้เราใช้เงินบาทในจำนวนน้อยลงในการแลกกับเงินสกุลอื่น เช่น
1
เดิมค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ : 1 USD = 35 THB
ต่อมาค่าเงินบาทเปลี่ยนเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ : 1 USD = 30 THB
✔ เท่ากับ ค่าเงินบาทมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินดอลลาร์ฯ กรณีนี้ อาจเรียกว่า เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินบาทก็ได้ค่ะ
1
💥 สรุป
📌 เงินบาทอ่อนค่า = อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
📌 เงินบาทแข็งค่า = อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ฯ ปรับตัวลดลง
ในกรณีที่เงินบาทแข็งค่า หรือ อ่อนค่า นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และความต้องการขาย (อุปทาน) ของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยในที่นี้จะขออธิบายถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อุปสงค์และอุปทานของเงินเปลี่ยนแปลงโดยคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ
⛳ ดุลการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
หากประเทศไทยเกินดุลการค้า คือ มีมูลค่าส่งออกมากกว่ามูลค่านำเข้า หรือมีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากๆ ประเทศก็จะมีเงินดอลลาร์ฯ มากขึ้น เงินทุนที่ย้ายเข้ามาจะถูกแลกจากเงินดอลลาร์ เป็นเงินบาท ทำให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทมีค่าเพิ่มขึ้น (เงินบาทแข็งค่าขึ้น)
ในทางกลับกัน หากประเทศไทยขาดดุลการค้า คือ มีมูลค่าส่งออกน้อยกว่านำเข้า หรือมีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศมากๆ ก็จะทำให้มีความต้องการแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อนำเงินทุนออกนอกประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการขายเงินบาทมากขึ้น (เงินบาทอ่อนค่าลง)
1
⛳ อัตราดอกเบี้ย
โดยปกติเงินทุนจะเคลื่อนไหวจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของสองประเทศ เช่น หากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯปรับตัวลดลง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยซึ่งแม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมีค่าสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายเข้าประเทศไทยมากขึ้น เงินทุนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาจะถูกแลกเป็นเงินบาท ทำให้ความต้องการซื้อเงินบาทสูงขึ้น (ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น)
3
ในทางตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยไทยปรับตัวลดลง ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยเปรียบเทียบของไทยกับต่างประเทศต่ำลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก จึงมีความต้องการขายเงินบาทเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น (ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลง)
⛳ นโยบายการเงินของธนาคารกลาง
ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำหนดปริมาณเงินบาทในระบบการเงินผ่านมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานของเงินบาทเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงตาม
เช่น หากธนาคารกลางเล็งเห็นว่า เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป ก็สามารถกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ปริมาณเงินบาทในประเทศลดลงตาม จึงเปรียบเสมือนกับการลดปริมาณของเงินบาท ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น
2
ในทางกลับกัน การลดระดับอัตราดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ จะทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น เปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณของเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง
⛳ การซื้อขายในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ
นอกจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของผู้นำเข้าและส่งออกแล้ว ผู้ลงทุนสถาบันยังสามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อผลกำไรในตลาดเงินตราระหว่างประเทศหรือที่เรียกว่า ตลาด Forex ได้ โดยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาด Forex จะเป็นการซื้อขายที่มีการส่งมอบในทันที (Spot Market) และมีการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง การซื้อขายจะเป็นแบบออนไลน์ทั่วโลก ไม่มีศูนย์กลางในการซื้อขายที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการ
1
ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาด Forex มีปริมาณสูงมาก การเคลื่อนไหวของค่าเงินในตลาด Forex นี้ จึงถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่ธนาคารต่างๆ ใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมค่ะ
⛳ ปัจจัยอื่นๆ
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอีก เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และ เสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เป็นต้นค่ะ
1
ผลที่เกิดจากการปรับตัวของค่าเงินบาท 💦
📌 ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อผู้ที่มีรายรับเป็นดอลลาร์ฯ เช่น ผู้ส่งออก เนื่องจากรายได้ในรูปเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการส่งออก สามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น แต่ในมุมของผู้นำเข้าจะตรงข้ามกัน คือค่าเงินอ่อนลงจะส่งผลลบ เนื่องจากจะต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้น ในการแลกเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อจ่ายค่าซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
1
📌 ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีรายจ่ายเป็นดอลลาร์ฯ เช่น ผู้นำเข้า หรือ ผู้ที่ต้องการส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าจากต่างประเทศจะมีราคาในรูปเงินบาทที่ถูกลง แต่จะเป็นผลลบกับผู้ส่งออก เพราะเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการส่งออกสินค้า เมื่อนำมาแลกเป็นเงินบาทจะได้มูลค่าน้อยลง
2
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศหรือสินค้าโภคภัณฑ์โลก หรือ ตราสารที่มีราคาเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับสินค้าโภคภัณฑ์โลก เช่น ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF), กองทุนทองคำ, กองทุนน้ำมัน, Gold Futures, Silver Futures และ Oil Futures ก็เผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าการซื้อขายจะอยู่ในรูปเงินบาท แต่ราคาซื้อขายก็จะเคลื่อนไหวตามค่าของเงินสกุลดอลลาร์ฯ ด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจึงส่งผลกระทบต่อผลกำไรขาดทุนของพอร์ตลงทุนเช่นเดียวกันค่ะ
ดังนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทมีหลายปัจจัย ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาแต่ละปัจจัย ก็มีอิทธิพลต่อค่าเงินบาทแตกต่างกันออกไปค่ะ และเมื่อเข้าใจถึงสาเหตุของบาทอ่อน บาทแข็ง กันไปแล้ว ในบทต่อไป เราจะเรียนรู้ถึงเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการเงินบาทกันต่อนะคะ 😉
2
Cr. The Stock Exchange of Thailand Group
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
1
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘
โฆษณา