28 ก.ย. 2020 เวลา 15:43 • การเมือง
ความขัดแย้งนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ (Nagorno-Karabakh) สั่นคลอนโลกอย่างไร?
(Pongpon Chuncharoen
Graduate student of Applied Political Science and
Ethnopolitical Process in Contemporary World Program,
Faculty of Political Science, Saint-Petersburg State University.)
กองทหารฝ่ายนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆที่ได้รับการสนับสนุนจากอาร์เมเนีย
เมื่อสองวันก่อนมีรายงานข่าวว่าเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์และโดรนฝ่ายอาเซอร์ไบจานตก ณ บริเวณนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ (ถอดจากภาษารัสเซีย Нагорный Карабах) หรือภาษาอังกฤษคือ Nagorno-Karabakh อันเป็นดินแดนพิพาทของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียมาหลายสิบปี จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายเตรียมกำลังพลพร้อมรบอย่างเต็มรูปแบบและต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ลงมือก่อน ถือเป็นเรื่องร้อนของโลกในช่วงเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 พอดี
ดินแดนนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆในทางพฤตินัย (De Facto) แล้วคือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของประชากรเชื้อสายอาร์เมเนีย (เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศอาเซอร์ไบจานแต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในนาร์โกนึ่ย-คาราบัฆ) ที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของอาเซอร์ไบจานและบริหารพื้นที่ประหนึ่งเป็นรัฐเอกราชซึ่งทางการอาเซอร์ไบจานไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่ในทางนิตินัย (De Jure) รัฐบาลอาเซอร์ไบจานและประชาคมโลกถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน ดังนั้นสถานะของนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆก็คือรัฐที่ไม่ได้รับการรับรองนั่นเอง (Non-recognized State) ยกเว้นการได้รับรองจากบรรดา Non-recognized State ด้วยกันเอง อาทิ ยูชนาย่า-ออสเซเตีย (Yuzhnaya (South) Ossetia), อับฆาเซีย (Abkhazia) และปริดเนสทโวเรียหรือทรานส์นิสเทรีย (Pridnestvor’ye / Transnistria) ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น
นาโกร์นึ่ย-คาราบัฆมีที่มาจากภาษาตูรกิก คารา (Kara) หมายถึงสีดำ และ บัก (Bag) หมายถึงสวน ส่วนนาโกร์นึ่ย (Nagorny) เป็นคำคุณศัพท์ภาษารัสเซียที่ใช้เรียกขยายคำนามพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนภูเข้าหรือที่สูง ดังนั้นอนุมานความหมายเอาได้ว่าเป็นสวนสีดำที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง นาโกร์นึ่ย-คาราบัฆตั้งอยู่ในภูมิภาคเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus Mountains) อันเป็นจุดเชื่อมต่อและทางผ่านระหว่าอารยธรรมโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ผ่านมืออาณาจักรและมหาอำนาจต่าง ๆ หลายยุคสมัยจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์และการเมืองโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้ ก่อนอื่นเราต้องไปทำความเข้าใจพื้นเพของปัญหาความขัดแย้งนี้กันก่อน
ดินแดนนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆถือเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล จวบจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ดินแดนนี้เริ่มตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียในศตรวรรษที่ 19 เมื่อรัสเซียขยายอำนาจลงมาในภูมิภาคคอเคซัสและชนะสงครามเปอร์เซียทั้งครั้งที่ 1 และ 2 (Russo-Persian War in 1804-1813 / 1826-1828) เป็นผลให้เปอร์เซียต้องยกดินแดนคาราบัฆให้กับจักรวรรดิรัสเซียตามสนธิสัญญากูลิสตาน (Treaty of Gulistan 1813) และเปอร์เซียยินยอมสละอำนาจทั้งหมดเหนือภูมิภาคคอเคซัสตามสนธิสัญญาตูร์กเมนชาย (Treaty of Turkmenchay 1828) ตามลำดับ นับแต่นั้นเป็นต้นมารัสเซียจึงเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคคอเคซัสจวบจนปัจจุบัน
รากของความขัดแย้งเริ่มก่อตัวในศตวรรษที่ 20 โดยมีที่มีจากปัญญาด้านเชื้อชาติ-ศาสนาและการปักปันเขตแดน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียทั่วจักรวรรดิออตโตมานเติร์ก ชาวอาร์เมเนียเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านราย ในขณะเดียวกันก็เกิดการปฏิวัติรัสเซียและสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War 1917-1922) ซึ่งบรรดาอดีตประเทศราชของจักรวรรดิรัสเซียหลายแห่งต่างประกาศตัวเป็นเอกราชกลายเป็นรัฐเอกราชที่มีช่วงเวลาสั้น ๆ (Short-lived State) ช่วงปี 1918-1920 รวมไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan Democratic Republic) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาร์เมเนีย (Armenia Democratic Republic) และมีประเด็นเรื่องการปักปันเขตแดนในเวลาต่อมา ในพื้นที่คาราบัฆประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอาร์เมเนียที่พยายามต่อต้านการปกครองของอาเซอร์ไบจานในที่สุดกองทัพออตโตมานเติร์กที่เป็นชาวเผ่าตุรกิก (Turkic People) และเป็นมุสลิมเช่นเดียวกับชาวอาเซอร์ไบจานก็ส่งทหารเข้าแทรกแซงในคาราบัฆก่อนที่กองทัพอังกฤษจะเข้ามาแทนที่เมื่อออตโตมานเติร์กตกฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1
อังกฤษได้ให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งพลตรีฆอสรอฟ สุลตานอฟ (Maj.Gen. Khosrov Sultanov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศอาเซอร์ไบจานที่เกิดใหม่โดยการเสนอของฝ่ายอาเซอร์ไบจานเองให้เป็นผู้ว่าการคาราบัฆและซานเกซูร์ (Governor-General of Karabakh and Zangezur) อันเป็นผลอย่างไม่เป็นทางการจากการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference 1919-1920) นับแต่นั้นมาชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนียจึงประกาศไม่ยอมรับผลดังกล่าวและจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติของชาวอาร์เมเนีย (National Council) ขึ้นมาเอง บางส่วนจับอาวุธขึ้นสู้เป็นกองโจร รัฐบาลอาเซอร์ไบจานจึงเริ่มใช้นโยบายที่เข้มงวดต่อชาวอาร์เมเนียมากขึ้นไปอีก
ในที่สุดจึงเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของความความสัมพันธ์อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนียเมื่อความขัดแย้งเริ่มบานปลาย ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียในเมืองชูช่า (Shusha) อันเป็นเมืองชายขอบของทั้งอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียที่อยู่ในช่วงการปักปันพรมแดน ชาวอาร์เมเนียในเมืองชูช่าในนามของแนวร่วมแห่งชาติได้ทำการประท้วงและประกาศไม่ยอมรับอำนาจทางการอาเซอร์ไบจานจึงเกิดเป็นจราจลขึ้น เริ่มมีการปะทะด้วยอาวุธจากเหตุที่ตำรวจชาวอาเซอร์ไบจานถูกสังหารโดยตำรวจชาวอาร์เมเนียในช่วงเทศการนาฟรูส (Novruz) อันเป็นปีใหม่ของชาวเปอร์เซียและชนเชื้อสายตุรกิก นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ชูช่า (Shusha Massacre 1920) เมื่อทางการอาเซอร์ไบจานร่วมกับชาวบ้านอาเซอร์ไบจานจึงเริ่มไล่ฆ่า ข่มขืน และเผาบ้านเมืองชาวอาร์เมเนียจนราบเป็นหน้ากลองจนกระทั่งแทบไม่เหลือชาวอาร์เมเนียเหลืออยู่ในเมืองอีก ตัวเลขผู้สูญเสียอยู่ที่ 500-30,000 คน
เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียที่ชูชา (Shusha Massacre) เดือนมีนาคม 1920 ชาวอาร์เมเนียถูกฝ่ายอาเซอร์ไบจานสังหารไม่เลือกหน้าและเผาทำลายเมือง
ฝ่ายบัลเชวิก (Bolsheviks) ที่กำลังจะได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองรัสเซียได้แผ่อิทธิพลมาสู่ภูมิภาคคอเคซัสผ่านกลุ่มบัลเชวิกภูมิภาคคอเคซัส (Sovietization in Caucasus) และได้เข้าควบคุมอำนาจในรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนียและจอร์เจีย เกิดกระบวนการ Political Institutionalization ตามแนวคิด Ethnopolitics ที่ให้อำนาจต่อชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้าเป็นสถาบันทางการเมือง เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijani Soviet Socialist Republic – Azerbaijani SSR) และ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์เมเนีย (Armenian Soviet Socialist Republic – Armenian SSR) และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย (Georgian Soviet Socialist Republic – Georgian SSR) ผลคือการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี 1920 (ก่อนที่จะถูกควบรวมเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซีย – Transcaucasian Socialist Federative Soviet Republic – TSFSR ช่วงปี 1922 และแยกออกเป็นสามประเทศเหมือนเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 1936)
สำหรับปัญหาการปักปันเขตแดนคงนี้ไม่พ้นความรับผิดชอบของโยซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ในสมัยรัฐบาลของวลาดิมีร์ อูเลียนอฟ (เลนิน) ผู้นำการปฏิวัติและผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียตสตาลินดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการราษฎรว่าด้วยชาติพันธุ์ (Peoples’ Commissar of Nationalities) สตาลินขีดเส้นแบ่งดินแดนที่เป็นปัญหา 3 ดินแดนในขณะนั้นได้แก่ ดินแดนนาคชีวัน (Nakhchivan) ให้อยู่ในการปกครองของโซเวียตอาเซอร์ไบจาน (ดินแดนอาเซอร์ไบจานที่อยู่นอกแผ่นดินแม่) ดินแดนซานเกซูร์ (Zangezur) ให้อยู่ภายใต้การปกครองของอาร์เมเนีย (ปัจจุบันคือจังหวัดซยุนนิก Syunniki Province ที่เป็นพื้นที่ของอาร์เมเนียที่ยื่นคั่นกลางอาเซอร์ไบจานไปจดกับพรมแดนอิหร่าน) และดินแดนนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ (Nagorno-Karabakh) ให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตอาเซอร์ไบจานในรูปแบบของจังหวัดปกครองตนเองของชนชาติอาร์เมเนีย (Nagorno-Karabakh Autonomous Oblast’) และจากการขีดเส้นแบ่งเขตแดนในครั้งนั้นจึงส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้
ในยุคสหภาพโซเวียตความขัดแย้งถูกแช่แข็งไว้ชั่วคราว เพราะทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียต่างก็สมาทานอัตลักษณ์ร่วมใหม่ (mutual identity) ซึ่งก็คือความเป็นสหภาพโซเวียตเดียวกัน จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ที่ถึงช่วงที่ระบอกคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกเริ่มล่มสลายก่อนที่จะพาให้สหภาพโซเวียตแตกสลายในเวลาต่อมา เกิดกระแสชาตินิยมแพร่สะพัดไปทั่วสาธารณรัฐต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียตที่หมดหวังและไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมสหภาพต่อไปต่างพากันประกาศแยกตัวออก กรณีของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียก็เช่นกันที่กระแสชาตินิยมได้ปลุกเร้าให้ความขัดแย้งที่สงบไปกว่าหกสิบปีได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อชาวอาร์เมเนียในนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆเรียกร้องการแยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจานโดยการสนับสนุนของอาร์เมเนียจึงเกิดเป็นการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างโซเวียตอาร์เมเนียและโซเวียตอาเซอร์ไบจานทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ออกจากสหภาพโซเวียตดี เป็นผลให้รัฐบาลกลางมอสโกต้องส่งกองทัพส่วนกลางเข้ามาหย่าศึกของทั้งสองฝ่าย
ทหารโซเวียตจากส่วนกลางถูกส่งเข้ามาหย่าศึกระหว่างโซเวียตอาเซอร์ไบจานและโซเวียตอาร์เมเนียช่วงปลายทศวรรษที่ 1980s
ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายอย่างเป็นทางการ อาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเป็นรัฐเอกราชอย่างสมบูรณ์ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งขับเคลื่อนไปอย่างรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น ฝ่ายนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆชิงประกาศทำประชามติแยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจานที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน อาเซอร์ไบจานจึงผ่านร่างกฎหมายให้ยุบทิ้งการปกครองตนเองของนาโกร์นึ่ยคาราบัฆ และนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆโดยการหนุนหลังของรัฐบาลอาร์เมเนียฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายรัฐบาลอาเซอร์ไบจานอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผลโดยตรงจากปรากฏการณ์สุญญกาศทางอำนาจในพื้นที่พิพาทเมื่อสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยได้สาบสูญไปจากโลกแล้ว เหลือเพียงรัสเซียผู้สืบสิทธิและพันธกรณีจากสหภาพโซเวียตที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงต่าง ๆ ภายในมารับหน้าที่คนกลางแทน
สงครามดำเนินไปถึง 3 ปีเต็ม ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 นับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคระเบียบโลกใหม่อย่างแท้จริง (New World Order) ความขัดย้างนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆที่เป็นปัญหาภูมิภาคเริ่มมีตัวแสดงอื่น ๆ ใหม่ ๆ จากภายนอกเข้ามาร่วมผสมโรงมีบทบาท เช่น ทหารรับจ้างจากรัสเซียและอูเครนที่เข้ามาร่วมรบกับทั้งสองฝ่าย (มีที่มาจากอดีตทหารโซเวียตที่อาจจะตกงานจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชนและกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนจากอัฟกานิสถานที่เข้ามาช่วยอาเซอร์ไบจานในฐานะพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เป็นต้น ในที่สุดด้วยการผลักดันและการเป็นเจ้าภาพของรัสเซียจึงเกิดเป็นการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม 1994
ถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิงแต่ก็ยังเกิดการปะทะเป็นระยะ ๆ ในที่สุดรัสเซียก็ใช้เวทีพหุภาคีผ่านองค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization of Security and Co-operation in Europe – OSCE) ในกลุ่มของ OSCE Minsk Group ที่มีรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสเป็นประธานกลุ่มร่วมผลักดันให้เกิด “หลักการมาดริด” (Madrid Principles) ในเดือนพฤศจิกายนปี 2007 ที่มี 6 ข้อได้แก่ 1) ว่าด้วยการคืนอำนาจอธิปไตยเหนือนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆให้อาเซอร์ไบจาน 2) การรับประกันความมั่นคงและการปกครองตนเองของนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ 3) เสนอให้มีฉนวน (corridor) เชื่อมนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆกับอาร์เมนีย 4) การกำหนดสถานะทางกฎหมายของนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆขึ้นอยู่กับการแสดงออกทางเจตนารมณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย 5) สิทธิแห่งผู้พลัดถิ่นฐานและผู้อพยพภายในพื้นที่พิพาทให้ได้กลับไปยังภูมิลำเนา และ 6) ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพจะได้รับการรับรองโดยประชาคมความมั่นคงระหว่างประเทศ และผลักดันให้ผู้นำของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียพูดคุยตกลงกัน ในที่สุดจึงก่อให้เกิด “ปฏิญญานาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ” (Declaration of Nargorno-Karabakh) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2008 ซึ่งเน้นย้ำหลักการมาดริด โดยมีการลงนามร่วมกันสามฝ่ายคือ ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ (Ilham Aliev) แห่งอาเซอร์ไบจาน ประธานาธิบดีเซียร์ช ซักสยัน (Serj Saksyan) แห่งอาร์เมเนีย และประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitri Medvedev) แห่งรัสเซีย ณ ปราสาทไมเยินดอร์ฟ (Meiendorf Castle) จังหวัดมอสโก (Moscow Oblast’ แต่แล้วสันติภาพก็อยู่ได้ไม่นานเกิดการปะทะใหญ่ในปี 2016 ประปรายจนกระทั่งเกิดเป็นการรวมพลใหญ่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2020 ที่ผ่านมา
ฝ่ายรัสเซียเองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพยายามรักษาสถานะมหาอำนาจภูมิภาคในกลุ่มประเทศ CIS (Commonwealth of Independent State) ในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียต พยายามเป็นตัวกลางประสานงานความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีของอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานล่าสุดที่ได้เชิญกองทัพของทั้งสองชาติเข้าร่วมขบวนสวนสนามร่วมกับกองทัพรัสเซียในวันแห่งชัยชนะวันที่ 24 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา (ที่เลื่อนจากวันที่ 9 พฤษภาคมจากสถานการณ์การระบาดหนักของโควิด-19) และคอยออกแถลงการณ์รวมถึงพูดคุยกับทั้งผู้นำอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียให้หาทางออกด้วยการเจรจาโดยสันติวิธีมาโดยตลอด
อาเซอร์ไบจานก็เริ่มมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับตุรกีในฐานะชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกิกด้วยกัน และในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์เป็นข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และความช่วยเหลือร่วมกัน (Agreement of Strategic Partnership and Mutual Support) ในปี 2010 ซึ่งครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติการทางทหารที่อาจจะเกิดขึ้นทุกกรณี นั่นหมายความว่าหากอาเซอร์ไบจานโดนโจมตีทางทหาร ฝ่ายตุรกีและนาโตจะเข้าช่วยอาเซอร์ไบจานตอบโต้กลับได้ทันที สิ่งที่ทำให้อาเซอร์ไบจานเริ่มเพิ่งพารัสเซียน้อยลงก็คือทรัพยากรน้ำมันในฐานะเป็นเครื่องมือต่อรองต่อเกมการเมืองระหว่างประเทศ ในยุคสหภาพโซเวียตอาเซอร์ไบจานเป็นแหล่งผลิตน้ำมันให้ทั้งสหภาพโซเวียต ในยุคนี้ก็ยังครอบครองต้นทางท่อส่งน้ำมันจากกรุงบากู (Baku) ริมทะเลแคสเปี้ยน (Caspian Sea) ที่เชื่อมต่อไปยังเชย์ฮาน (Cayhan) เมืองริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Sea) ของตุรกีก่อนส่งต่อไปยังยุโรปและบางส่วนไปยังอิสราเอลซึ่งท่อส่งน้ำมันนี้มีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอย่างมากเพราะสามารถลดการพึ่งพิงพลังงานนำเข้าจากรัสเซียได้อย่างน้อยถึงร้อยละ 35 และมองเป็นทางเลือกใหม่ในภาวะที่รัสเซียกำลังขัดแย้งกับยุโรปและมีท่อส่งน้ำมันขอตัวเองเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองต่อสหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่มนาโต้ (NATO) ซึ่งทางฝั่งสหภาพยุโรปเองก็มองหาการนำเข้าพลังงานก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนหลายพันล้านคิวบิกเมตรอยู่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2020s เป็นต้นไป
แผนที่อาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียพร้อมท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ
การเมืองระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 มีความสลับซับซ้อนกว่ายุคก่อน ในขณะที่รัสเซียพยายามรักษาสถานะมหาอำนาจในภูมิภาคต่ออาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย แต่จากการที่อาเซอร์ไบจานทำสนธิสัญญาทางทหารกับตุรกีซึ่งมีผลผูกพันถึงกลุ่มนาโต้ อาร์เมเนียที่อยู่ในสถานะถูกกระหนาบจากทั้งอาเซอร์ไบจานในทิศตะวันออกและทิศใต้กับทั้งตุรกีในทิศตะวันตก อีกทั้งยังมีสถานะหัวเดียวกระเทียมลีบกรณีการสนับสนุนนาโกร์นึ่ย-คาราบัฆ จึงต้องสร้างดุลแห่งอำนาจ Balance of Power) โดยการไปทำสนธิสัญญาทางทหารกับทหางฝ่ายรัสเซียซึ่งรัสเซียก็เห็นด้วยเนื่องจากจากมุมของรัสเซียแล้วตอนนี้รัสเซียเหลือเพียงอาร์เมเนียที่ยังเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นที่สุดแห่งเดียวที่เหลืออยู่เพื่อคงอิทธิพลของตนต่อไปในภูมิภาคคอเคซัส ถ้าหากความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นคงหนีไม่พ้นที่เหล่าบรรดามหาอำนาจจะต้องลงสนามมาเล่นเกมส์นี้ด้วยตนเองและอาจจะก่อให้เกิดผลทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนรวมไปถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกด้วยวิถีทางแห่งสันติภาพนั่นก็คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่หมดสิ้นไปและต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการหยุดยั้งภัยความมั่นคงทางสุขอนามัยที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกโดยไม่เลือกหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด (First-Priority) ก่อนอื่นใด
#NagornoKarabakh #ArmedForceConflict #Azerbaijan #Armenia #Russia
Reference of sources and pictures
Tim Potier. M1 Conflict in Nagorno-Karabakh, Abkhazia and South Ossetia: A Legal Appraisal. Martinus Nijhoff Publishers, 2001.
The Nagorno Karabakh Crisis: A Blueprint for Resolution : Memorandum, Public International Law & Policy Group and the New England Center for International Law & Policy, 2000
S. Neil MacFarlane, Oliver Thränert, Balancing hegemony: the OSCE in the CIS, Centre for International Relations, 1997, p. 71 "Another event of the period was the massacre in March 1920 of Armenians in Shusha, the historic centre of Karabakh, which shifted its ethnic status from an Armenian-dominated town to an Azeri-dominated one."
Christopher J. Walker, Armenia: The Survival of a Nation", revised second edition, 1990.
Audrey L. Altstadt. Azerbaijani Turks: Power and Identity Under Russian Rule. Hoover Press.
Service, Robert. Stalin: A Biography. Cambridge: Harvard University Press, 2006.
de Waal, Thomas (2003). Black Garden: Armenia and Azerbaijan Through Peace and War. New York: New York University Press.
Human Rights Watch. Playing the "Communal Card". Communal Violence and Human Rights, 1995.
โฆษณา