29 ก.ย. 2020 เวลา 15:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นกแร้ง Andean condor เจ้าแห่งการบินร่อน
เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าแร้งยักษ์สามารถบินไกลร่วมร้อยกิโลเมตรโดยอาศัยการกระพือปีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
แร้งคอนดอร์ เจ้าเวหาเทคนิคบินร่อนที่ตลอดการบินพวกมันแทบไม่ต้องกระพือปีกให้เหนื่อย
โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Swansea ได้ทำการศึกษาผลของสภาพภูมิประเทศที่มีผลต่อลักษณะการบินของเจ้าแร้งยักษ์นี้ว่ามีผลช่วยให้มันสามารถทำการบินระยะทางยาวไกลได้อย่างไรโดยแทบไม่ต้องกระพือปีกเลย
ซึ่งการนี้ทีมนักวิจัยได้ติดเครื่องเก็บข้อมูลบนตัวแร้งคอนดอร์ ทั้งข้อมูลจำนวนการกระพือปีกรวมถึงเส้นทางบินและระดับความสูงของพวกมัน
จากภาพผังข้อมูลด้านบนแสดงถึงเส้นทางบิน ลักษณะการบิน และจำนวนการกระพือปีกตลอดเส้นทางบิน
ผลจากการศึกษาพบว่าสภาพอากาศแทบไม่มีผลต่อจำนวนการกระพือปีกบินในระหว่างการบินของพวกมัน เช่น หน้าหนาว หน้าร้อนไม่มีผลต่างกันอย่างมีนัยะ
1
ถ้าสังเกตพวกนกบินสูงพวกมันจะไม่ค่อยกระพือปีก แต่จะกางปีกร่อนเฉย ๆ
โดยตลอดการบินของพวกมันนั้นเวลาในการกระพือปีกบินนั้นน้อยมากเพียงแค่ไม่ถึง 1% ของระยะเวลาบิน ดังนั้นแล้วระหว่างการบินเป็นร้อย ๆ กิโลของพวกมันนั้นอาจใช้การกระพือปีกแค่ครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว
แล้วพวกมันทำได้ยังไง บินเป็นร้อยกิโลด้วยการกระพือปึกครั้งเดียว?
เทคนิคแรกคือ thermal soaring การบินโดยอาศัยลมร่อนจากกระแสลมร้อนจากพื้นที่ลอยขึ้นสู่บรรยากาศด้านบนจากบริเวณพื้นที่ร้อน
การร่อนลมร้อนคือเทคนิคการเพิ่มระดับความสูงในการบินก่อนค่อย ๆ ร่อนไปต่อ
เมื่อพวกมันเจอกระแสลมลักษณะนี้ก็จะบินร่อนเป็นวงกลมแบบเกลียวสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะบินออกจากกระแสลมร่อน แล้วค่อยบินร่อนไปยังทิศทางที่ต้องการ
1
ดังนั้นที่เราเห็นฝูงนกบินร่อนวนเป็นวงกลมเหนือทุ่งนา นั่นก็คือพวกมันกำลังใช้ประโยชน์จากลมร่อนเพื่อเพิ่งความสูงและประหยัดพลังงานในการบินไกลนั่นเอง
อีกเทคนิคคือ Slope Gliding การบินไล่ตามกระแสลมร่อนตามไหล่เขา ซึ่งเกิดจากกระแสลมที่ลู่ขึ้นจากตีนเขาไปยังยอดเขา
จากภาพด้านบนตรงกลางคือ thermal soaring และซ้ายมือคือ Slope Gliding ที่นกใช้ประโยชน์ในการช่วยประหยัดพลังงานในการบิน เพราะสามารถเพิ่มระดับความสูงได้โดยไม่ต้องออกแรงกระพือปีกเพื่อยกตัว
ซึ่งผลการศึกษาพบว่าถ้าสามารถอาศัยกระแสลมร่อนขึ้นไปสูงได้มากเท่าไหร่พวกมันสามารถบินไปได้ไกลโดยกระพือปีกน้อยครั้งลงเท่านั้น
ยิ่งร่อนขึ้นไปสูงได้ก็ยิ่งประหยัดแรง
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วผลของ Slope Gliding นั้นช่วยลดจำนวนการกระพือปีกได้มากกว่าแบบ Thermal Gliding ถึงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
แต่ทั้งนี้ Slope Gliding จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย เช่น บินไล่ตามไหล่เขาเท่านั้น
ทั้งนี้จากการศึกษายังพบว่ากว่า 75% ของจำนวนการกระพือปีกในการบินแต่ละเที่ยวนั้นอยู่ในช่วงที่พวกมันกระพือปีกบินเพื่อทะยานขึ้นจากพื้น
ดังนั้นแล้วการร่อนลงจอดแต่ละครั้งของพวกมันจะต้องคิดให้ดี ๆ ลงซี้ซั้วพร่ำเพรื่อไม่ได้เพราะต้องออกแรงมหาศาลเพื่อบินกลับขึ้นฟ้าอีกครั้ง
เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งเทคนิคบินร่อนจริง ๆ แม้ว่าตัวใหญ่และหนักแต่พวกมันก็สามารถบินเป็นระยะทางไกล ๆ ได้ ดวยการบินแบบประหยัดพลังงานนี้เอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา