Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดร.พริทธิญาธรณ์ พุทธสรณ์สกุล
•
ติดตาม
29 ก.ย. 2020 เวลา 07:08 • ท่องเที่ยว
"ช้างไทย คุณค่าและความสำคัญที่ไม่ใช่แค่พยัญชนะตัวที่ 10"
เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวปางช้างที่บ้านแม่สะป๊อกและได้พบกับพ่อเลี้ยงอู๊ต (ยุทธศักดิ์ อมรสิน) เจ้าของ “ปางช้างยุทธศักดิ์” ทำให้เกิดประกายแนวคิดจะเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมเกี่ยวกับการขนส่งในพระสุตตันตปิฎก” โดยจะส่งผ่านเนื้อหาต่อให้กับคนที่มาท่องเที่ยวชมช้าง
ความตั้งใจบวกกับความมีใจกว้างของพ่อเลี้ยงอู๊ต ทำให้มีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างแหล่งการเรียนรู้ “ห้องสมุดช้างมีชีวิต” ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสาสาธารณะประโยชน์ โดยมิหวังผลกำไรทางธุรกิจ เพราะขณะนั้นปางช้างยุทธศักดิ์ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง
แต่ยังไม่ทันได้ลงมือปฏิบัติ ประเทศไทยและชาวโลกได้ประสบกับโรคระบาด COVID 19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างถ้วนหน้า รวมไปถึงปางช้างด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวลดลงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ปางช้างขาดรายได้ ช้างตกงาน เกิดความเครียดทั้งคนทั้งช้าง และที่สำคัญช้าง 1 ตัว จะต้องกินอาหารอย่างน้อย 200 – 500 กิโลกรัมต่อวัน
ทุกวันนี้ แหล่งท่องเที่ยวปางช้างในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ บางแห่งได้ปิดตัวลงอย่างน่าเศร้า เจ้าของปางช้างที่ยังอยู่ต้องขับรถออกไปหลายกิโลเมตร เพื่อรับซื้ออ้อย กล้วย ผัก หญ้า และข้าวโพด มาเป็นอาหารของช้าง ด้วยรอความหวังว่า โรคระบาดจะหายไปและมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวเช่นเคย แต่ผ่านไปกว่า 6 เดือนแล้ว ยังไร้วี่แววของความหวัง
ควาญและช้าง ยืนรอความหวัง
“เราจะพูดถึงช้างสัตว์คู่บ้านเมืองตั้งแต่สมัยพุทธกาล กำลังจะอดตายในอนาคต” คือคำกล่าวตอนหนึ่งของพ่อหลวงแดง ในฐานะผู้นำชุมชน ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค #พอเพียงฟาร์ม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นจะต้องช่วยเหลือช้างที่ยังเหลืออยู่ในหมู่บ้านแม่สะป๊อก
พ่อหลวงแดง แหล่งการเรียนรู้พอเพียงฟาร์ม บ้านแม่สะป๊อก
จากข้อความ “...ช้างสัตว์คู่บ้านเมือง...” ทำให้ระลึกถึงหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ด้านที่ 1 ที่พรรณาถึงที่มาของพระนามพระองค์ทรงได้มาเพราะช้าง ว่า “...ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาที่เมืองตาก...กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน...ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง...”
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ด้านที่ 1
และย้อนเวลาไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ช้างได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนักรบ ดังที่ปรากฏใน “จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญชัย” ผลงานวรรณกรรมของพระโพธิรังสีเถระ ปริเฉท (ตอน) ที่ 7 ว่าด้วยเรื่องการออกรบของพระมหันตยศและพระอนันตยศ พระโอรสคู่แฝดของพระนางจามเทวี ที่ทรงช้างต่อสู้กับพระเจ้ามิลักขราช กษัตริย์แห่งลัวะนคร จนได้รับชัยชนะ จากวันนั้นมาวันนี้ ยังมีโบราณสถานที่แสดงถึงความสำคัญของพญาช้าง “ปู่ก่ำงาเขียว” ช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี อันเป็นอนุสรณ์สถานอยู่ไม่ไกลจากเมืองลำพูนที่ประชาชนเข้าไปสักการะเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย
กู่ช้าง กู่ม้า (ภาพจากเว็บไซต์ ศาลากลางจังหวัดลำพูน)
ในทางพระพุทธศาสนา มีคำที่ใช้ในความหมายว่า “ช้าง” หลายคำ เช่น กุญชร นาค หัตถี คช เป็นต้น โดยแบ่งประเภทของช้างไว้ 2 ประเภท คือ ช้างทิพย์ และช้างพาหนะทั่วไป
1) ช้างทิพย์ หมายถึงช้างวิเศษ ปรากฏในวิมานวัตถุ เรื่องกุญชรวิมาน ว่าด้วยวิมานที่มีช้างเป็นพาหนะ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอานิสงส์แห่งการถวายอาสนะแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เช่นเดียวกับเรื่องนาควิมาน ที่ว่าด้วยวิมานอันเกิดแก่หญิงผู้ถวายผ้าคู่หนึ่งแด่พระพุทธเจ้า ด้วยอานิสงส์นั้นทำให้ช้างทิพย์คชสารเกิดขึ้นในวิมานของเธอ รวมทั้งในปฐมนาควิมาน ว่าด้วยวิมานที่มีช้างทิพย์เป็นพาหนะ นอกจากนี้ ในเปตวัตถุ เรื่องนาคเปตวัตถุ ว่าด้วยเรื่องเปรตเดินร้องไห้ตามหาพาหนะช้างของลูกชาย ซึ่งช้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นช้างเผือก ในบรรดาช้างทิพย์ต่างๆ นั้น มีช้างเอราวัณของท้าวสักกะ ถือว่าเป็นช้างสามเศียรที่น่าสนใจ เพราะมีลักษณะเฉพาะที่น่าพิศวง คือ มีกระพอง 33 กระพอง มีงา 231 งา มีสระโบกขรณี 1,617 สระ เป็นต้น
2) ช้างพาหนะทั่วไป ในที่นี้รวมทั้งช้างหลวง ช้างสงคราม ช้างชาวบ้าน และช้างป่า พบในมหิฬามุขชาดก ว่าด้วยพญาช้างมหิฬามุข ตัวเชื่อฟังคำของโจร ในขณะที่พญาช้างมงคลหัตถี เชื่อฟังคำนักบวช ในนฬินิกชาดก ว่าด้วยพระราชธิดานฬินิกา ผู้ซึ่งพระราชบิดารับสั่งให้เดินทางไปยังชนบทที่มั่งคั่งด้วยช้าง ด้วยรถ ด้วยยานที่สร้างด้วยไม้
นอกจากช้างจะเป็นพาหนะแล้ว ยังมีคุณลักษณะเฉพาะของช้างบางเชือกมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในสังคม เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก ที่พระราชทานช้างมงคลสูงสุดของนครให้กับเมืองอื่น ส่งผลให้พระนครของพระองค์เกิดความแห้งแล้ง และพระองค์ถูกประชาชนขับไล่ออกนอกเมือง ต้องเสด็จไปสู่เขาวงกตด้วยพระบาท
ในครั้งพุทธกาลมีช้างนาฬาคีรีถูกพระเทวทัตสั่งให้ปล่อยเพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ในกรุงราชคฤห์ แต่ไม่สำเร็จ แตกต่างจากช้างป่าปาลิไลยกะตัวเฝ้าอุปฐากพระพุทธองค์ขณะที่จำพรรษาที่ป่าปาลิไลยกะเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายด้วยเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
นอกจากนี้ ในมิติของช้างหลวง ปรากฏในขุททกนิกาย ธรรมบท อัปปมาทวรรค ในเรื่องพระนางสามาวดี ได้กล่าวถึงพระเจ้าอุเทน ผู้มีพระปรีชาสามารถในการควบคุมช้างด้วยพิณ 3 สาย ที่ได้รับมอบจากอัลลกัปปดาบส ผู้ดีดสายพิณและท่องมนต์ทำให้ช้างมารวมตัวกันที่อาศรม แล้วใช้เป็นพาหนะของพระเจ้าอุเทน ครั้งไปขอทวงราชสมบัติของพระเจ้าปรันตปะ พระบิดาผู้สวรรค์คต แห่งกรุงโกสัมพี
ช้างพาหนะ ในฐานะเครื่องหมายเชิงนามธรรม เช่น พระมหามายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้สุบินว่า “มีช้างเผือกพลายตัวหนึ่งลงมาจากสุวรรณบรรพต กระทำประทักษิณพระนางแล้ว ทำทีเหมือนจะแหวะพระปรัศว์เบื้องขวาเข้าไปในพระอุระ” เป็นเครื่องหมายว่า พระโอรสผู้จะมาประสูตินั้น มีพระบุญาธิการมาก
พระมหามายาเทวี สุบินก่อนพระโพธิสัตว์จะเสด็จมาประสูติ(ภาพจากเว็บไซต์วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ)
เมื่อพิจารณาในมิติของพาหนะที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงขี่ออกผนวช พบว่า ช้างเป็นพาหนะของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร สุมนะ สุเมธ ผุสสะ สิขี และโกนาคมนะ
ช้างกุญชรในขุททกนิกาย อปาทาน กล่าวว่าเป็นช้างตระกูลมาตังคะ เสื่อมกำลังเมื่ออายุ 60 ปี ตกมัน 3 แห่ง มีงางอน ควรใช้เป็นราชพาหนะ...
พระสิริมงคลาจารย์ ได้นิพนธ์คัมภีร์จักรวาลทีปนี โดยอ้างถึงตระกูลช้างในพระไตรปิฎก ขัตติยวรรค ว่า “สกุลช้างมีคำนี้ : กาฬาวกหัตถี คังไคยหัตถี ปัณฑรหัตถี ตามพหัตถี ปิงคลหัตถี คันธหัตถี เหมหัตถี อุโบสถหัตถี ฉัททันตหัตถี” และแยกประเภทช้างสูงสุดที่อ้างจากอรรถกถามหาปรินิพพานสูตร ว่า “ช้างโคจรี ช้างกาฬาวะ ช้างคังไคย ช้างปิงคละ ช้างปัพพไตยกะ ช้างวมนกะ ช้างตามพะ ช้างมันทากินี ช้างอุโบสถ และช้างฉัททันต์เป็นที่ 10 เหล่านี้ เป็นช้างสูงสุดในบรรดาช้างทั้งหลาย”
แม้ว่า ช้าง จะออกเสียงแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ช้าง จ่าง ซ่าง หซ่าง เป็นต้น แต่จุดเด่นเห็นตรงกันที่สำคัญของช้างคือ “สัตว์ตัวใหญ่ใจดี” จึงไม่แปลกใจเลยที่สมัยเรียนอนุบาลคุณครูจะนำเพลง “ช้าง” มาสอนร้องเพื่อเสริมจินตนาการแห่งการเรียนรู้
ภาพจาก https://www.elephantpublisher.com/
วันนี้เรายังมีช้างให้ได้เห็น ได้สัมผัส ถ้าเราไม่เลี้ยงดูเขาหรืออนุรักษ์ไว้ วันข้างหน้า จะยังเหลือช้างตัวเป็นๆ ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เห็นหรือไม่ หรือในอนาคตจะมีเพียงพยัญชนะตัวที่ 10 ของอักษรไทย เท่านั้น...
สอบถามรายละเอียด
เกี่ยวกับช้างไทยในอำเภอแม่วาง
ได้ที่ โทรศัพท์ 0899508841
...เม็ดทรายในจักรวาล...
29/09/2563
บันทึก
1
1
5
1
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย