1 ต.ค. 2020 เวลา 03:42 • ประวัติศาสตร์
เปิดทาม์ไลน์ 28 ปี การแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ !!!!
เกริ่นนำ
เขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น ให้สร้างฝายยางกั้นแม่น้ำมูล บริเวณบ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และเก็บกักน้ำไว้เพียงตลิ่งแม่น้ำมูล แต่เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ตัวเขื่อนมีความกว้าง ๒๐๗.๓ เมตร มี ๑๔ บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล (ขนาดใหญ่กว่าเขื่อนราษีไศล ๒ เท่า) กั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างใหม่ห่างจากบริเวณที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ถึง ๑๐ ก.ม. โดยในเอกสารเผยแพร่โครงการระบุว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ แต่โครงการเขื่อนหัวนา มีความล่าช้าเกินกำหนดจึงทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ตามแผน
เขื่อนหัวนาเริ่มทำการก่อสร้างในปี ๒๕๓๕ ซึ่งเมื่อทำการก่อสร้างการปรับเปลี่ยนขนาดของเขื่อนจากฝายยางมาเป็นเขื่อนคอนกรีต (เขื่อนราษีไศลก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน) จึงทำให้ขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนมีความไม่ชัดเจน ทำให้ในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดการประท้วงของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หัวงานของโครงการ
ลำดับการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา
วันที่ 22 เมษายน 2539 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ความว่า “กรณีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่อยู่ในการกำกับของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้นำเอา มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอนุโลมใช้เป็นกรณีพิเศษ”
วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร ฯ ในยุครัฐบาลชวน 2 ซึ่งกำกับเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา จึงได้นำข้อเรียกร้องกรณีเขื่อนราษีไศล และกรณีเขื่อนหัวนา เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ (นำมาเฉพาะเขื่อนหัวนา) ดังนี้
1.) เห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสังคม จะแล้วเสร็จ
2.)ให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
3.)ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายจากฝาย ดังกล่าวร่วมกับราษฎร
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ “เขื่อนหัวนาดำเนินการเก็บกักน้ำที่ระดับ ๑๑๒ ม.รทก. ให้จ่ายค่าชดเชยที่ระดับ ๑๑๔ ม.รทก. (จ่ายเพิ่มจากระดับเก็บกักน้ำอีก ๒ เมตร)” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีนี้ ทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา โดยมี นายยุคคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุมมีมติที่ประชุม ดังนี้ “ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาในระดับ ๑๑๔ ม.รทก. กรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ชดเชยในราคาไร่ละ ๔๕,๐๐๐ บาท” (กรณีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่มีการกำหนดราคาค่าชดเชย) ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงปี ๒๕๕๕ ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา ในพื้นที่ ๕ อำเภอ ได้ยื่นข้อมูลต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จนนำไปสู่การตรวจสอบ รังวัดที่ดินในเขตระดับ +๑๑๔ เมตร (รทก.) ในพื้นที่ ๕ อำเภอ ได้แก่อำเภอกันทรารมย์ อำเภอเมือง อำเภอยางชุมน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอราษีไศล
ปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำ รว.๔๓ ก. จำนวน ๔๘๙ แปลง เสร็จแล้ว แต่ข้อมูลดังกล่าว ไม่มีการเปิดเผยให้ชาวบ้าน และสังคมได้รับรู้ ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา ได้พยายามติดตามสอบถามข้อมูล ความคืบหน้าในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาต่อชลประทาน อย่างต่อเนื่อง
ปี ๒๕๖๐ ชาวบ้านโนนสังข์ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา ชาวบ้านส่วนหนึ่งมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และอีกส่วนหนึ่งมีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ในขอบเขตระดับ ๑๑๔ ม.รทก ซึ่งมีหลักเขตของชลประทานปักไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามกรอบที่ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ กำหนดไว้ และมีความเดือดร้อนมาตั้งแต่เขื่อนหัวนาทำการก่อสร้างมา จึงได้แสดงตัวและตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จากโครงการเขื่อนหัวนา และได้เสนอข้อมูล ต่อชลประทาน และจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินที่อยู่ในเขตระดับ +๑๑๔ ม.รทก. ที่ผ่านการตรวจสอบ รังวัดแปลงที่ดินและ ได้จัดทำ รว.๔๓ ก. เสร็จแล้ว
เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา ได้นำข้อเรียกร้องของชาวบ้านโนนสังข์ เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณาจ่ายค่าชดเชย ให้กับชาวบ้านโนนสังข์ ซึ่งมีคุณสมบัติและเป็นไปตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ แต่ถูกคัดค้านจากอนุกรรมการ ฯ ที่เป็นสัดส่วนภาคประชาชน (กลุ่มของนายบารมี ชัยรัตร) แต่ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านโนนสังข์ จนนำไปสู่การยกเลิกผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ รังวัดแปลงที่ดิน และ ได้ทำ รว. ๔๓ ก. เสร็จแล้ว ทิ้งไป แล้วทำการตรวจสอบใหม่
จากนั้นกลุ่มโนนสังข์ ได้ยื่นเรื่องขอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ฯ คณะอนุกรรมการ ฯ และ คณะทำงาน ฯ เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อมูล และติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ของสมาชิกกลุ่มตน
วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ คราวการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) เป็นประธานคณะกรรมการ ฯ ได้มีมติที่ประชุม ดังนี้
๑. กรณีที่ให้ดำเนินการตามกระบวนการ ๕ ขั้นตอน ลำดับแรก
​๑.๑ ตามบัญชีรายชื่อในแผนที่ ปี พ.ศ.๒๕๔๔ - ๒๕๔๖ จำนวน ๔๒๘ ให้ดำเนินการแปลงที่ได้รับผลกระทบบริเวณหัวงานโครงการฝายหัวนา จำนวน ๑๘ แปลง เป็นลำดับแรก
​๑.๒ ตามบัญชีรายชื่อในแผนที่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ ที่อยู่ในเขตระดับ +๑๑๔ ม.รกม. จำนวน ๔๘๙ แปลง ให้ดำเนินการที่ดินที่มี เอกสรสิทธิ์ จำนวน ๖๖ แปลง เป็นลำดับแรก
๒. ให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ประกาศรับคำร้องตามกระบวนการ ๕ ขั้นตอน กรณีราษฎรที่มีที่ดินอยู่ในเขตระดับ +๑๑๔ ม.รทก.
๓. เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภาคประชาชนของคณะอนุกรรมการ ฯ (มีตัวแทนกลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเป็นอนุกรรมการ)
วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ฝ่ายจัดหา ฯ และ โครงการมูลล่างเขื่อนหัวนา กรมชลประทาน ได้ทำการเปิดรับคำร้อง / คำขอ จากชาวบ้านผู้เดือดร้อนชุดแรก ๙๑๖ แปลง เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับนำไปดำเนินการรังวัดแปลงที่ดิน ต่อไป
วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ คณะอนุกรรมการ สืบเสาะราคาค่าชดเชยที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบราคาค่าชดเชยกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ ในอัตราไร่ละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท
นอกจากนี้แล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ยังได้มีมติให้จังหวัดศรีสะเกษออกประกาศ รับคำร้อง / คำขอ จากราษฎร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา เพิ่มเติมอีกครั้ง
พฤษภาคม ถึงกันยายน ๒๕๖๒ ช่างรังวัดจากกรมที่ดิน ได้ลงพื้นที่ทำการรังวัดแปลงที่ดิน ตามคำร้อง / คำขอ ของชาวบ้านที่ได้ยื่นผ่านฝ่ายจัดหา ฯ และโครงการมูลล่างเขื่อนหัวนา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
​วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๒ ได้มีการประชุมติดตามผลการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา โดยการประชุมดังกล่าว แจ้งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ดังนี้
๑. การรังวัดแปลงที่ดิน (ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) จำนวน ๙๑๖ แปลง ซึ่งดำเนินการได้ จำนวน ๕๓๘ แปลง
๒. รายชื่อราษฎร รอบสอง ที่ได้ยื่นคำร้อง / คำขอ เมื่อเดือนมีนาคม และ เมษายน ๒๕๖๒ จำนวน ๗,๔๙๒ แปลง แต่ได้ผ่านการคัดกรองแล้ว ว่าอยู่ในขอบเขต ๑๑๔ ม.รทก. จำนวน ๓๑๑ แปลง นอกจากนั้นอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิกัดแปลงที่ดิน
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้เจรจากับ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุภรณ์ อัตถาวงค์) และผู้แทนจากกรมชลประทาน เพื่อขอเข้าร่วมเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งการเจรจาเห็นชอบร่วมกันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เชิญตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนทุกกลุ่มมาหารือร่วมกัน
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เชิญประชุมปรึกษาหารือเพื่อตกลงสัดส่วนภาคประชาชน ที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน ผู้อำนวยการโครงการส่งนำและบำรุงรักษามูลล่าง (หัวนา) หน่วยงานราชการ และตัวแทนกลุ่มสมัชชาเกษตรกรอีสาน (นายศักดา กาจณเสน) กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (คุณบุรี อาจโยธา) กลุ่มโนนสังข์ (นายกฤษกร ศิลารักษ์) กลุ่มราษีไศล (นายสาคร เกตุศิริ) กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน (นายบุญเพ็ง ศรีนวล) สำหรับกลุ่มสมัชชาคนจน (กลุ่มของนายบารมี ชัยรัตร) ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม
การประชุม มีข้อสรุป ดังนี้
๑. กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (คุณบุรี อาจโยธา) ขอถอนตัว
๒. กลุ่มสมัชชาเกษตรกรอีสาน เสนอ นายศักดา กาจณเสนอ
๓. กลุ่มโนนสังข์ เสนอนายกฤษกร ศิลารักษ์
๔. กลุ่มราษีไศล เสนอนายบุญทัน แก้วคำ
๕. กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน เสนอ นายบุญเพ็ง ศรีนวล
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ คณะกรรมการแก้ไขปัญหา โครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงแรกได้มีการพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการ ฯ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำเสนอมติการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ต่อที่ประชุม แต่ถูกกลุ่มสมัชชาคนจน (กลุ่มของนายบารมี ชัยรัตร) คัดค้าน ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุภรณ์ อัตถาวงค์) ได้เสนอทางออก โดยให้กลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการอีกชุดหนึ่ง
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชย ในที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ ในราคา ไร่ละ ๑๒๕,๐๐๐ บาท ตามการเรียกร้องของกลุ่มโนนสังข์
วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการโครงการส่งนำและบำรุงรักษามูลล่าง (หัวนา) ตัวแทนกลุ่มโนนสังข์ ในที่ชุมนุมริมทางรถไฟ บ้านโนนสัง ซึ่งปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ได้แนะนำให้กลุ่มผู้เดือดร้อน ทำหนังสือขอเข้าร่วมประชุม ในการประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓ กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ผู้อำนวยการโครงการส่งนำและบำรุงรักษามูลล่าง (หัวนา) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการ ฯ และยังได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ ฯ เพื่อขอเข้าร่วมประชุมในการประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓
วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ ตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา กลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถูกกลุ่มสมัชชาคนจน (กลุ่มของนายบารมี ชัยรัตร) คัดค้าน ไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย ในขณะที่การประชุมอนุกรรมการตัวแทนสมัชชาคนจน ก็ประกาศในที่ประชุมว่า จะไม่ให้คณะอนุกรรมการ ฯ แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านคนอื่น ๆ จะให้คณะอนุกรรมการ ฯ แก้ไขปัญหาเฉพาะสมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจน เท่านั้น
วันที่ 20 มกราคม 2563 มีการเจรจาระหว่างนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง กับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา กลุ่มโนนสังข์ ซึ่งจัดขึ้นที่ ห้องประชุมชลประทานจังหวัดศรีสะเกษ โดยที่ประชุมได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายเรื่อง ดังนี้
๑.กำหนดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ชุดใหม่ ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๒. การตรวจสอบที่ดินที่ผ่านการรังวัดที่ดิน มีแผนที่ รว.๔๓ ก. จำนวน ๕๑๙ แปลง เป็นไปตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) กรณีให้ดำเนินการเป็นลำดับแรก ได้แก่ที่ดินที่มีเอกสานสิทธิ์ จำนวน ๖๖ แปลง และที่ดินหัวงาน จำนวน ๓๐ แปลง “ให้นำเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เพื่อพิจารณากรณีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยไม่ต้องทำการประกาศ ๓๐ วัน” สำหรับ “ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ดำเนินการตาม ๕ ขั้นตอน” ต่อไป
๓. กรณีที่ดินบริเวณหนองจรเข้ในตำบลโนนสัง ปัจจุบันที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่มีผลการรังวัดแผนที่ ร.ว.๔๓ ก.ไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ “จะดำเนินการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ของกรมชลประทาน ดำเนินการนำแผนที่ ร.ว.๔๓ ก. ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๕๗ มาซ้อนทับกับภายถ่ายทางอากาศ” เป็นแนวทางการทำงาน
๔. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ฯ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน กลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน
๕. กรณีรายชื่อราษฎรที่ยื่นคำขอรังวัด จำนวน ๗,๔๙๒ แปลง ที่ยื่นเมื่อเดือนมีนาคม และเมษายน จะยึดตามรายชื่อที่แต่ละกลุ่ม ได้ลงบันทึกประจำวัน และนำส่งโครงการเขื่อนหัวนา แล้ว สำหรับนำเข้าสู่การรังวัดแปลงที่ดิน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ต่อไป
๖. ระยะเวลาในการจ่ายเงินค่าชดเชยทดแทนทรัพย์สินของราษฎร “จะสามารถจ่ายเงินได้ประมาณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยใช้งบกลาง”
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องเขื่อนหัวนา โดย ครม. เห็นชอบ การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยให้เพิ่มตัวแทนราษฎร์กลุ่มโนนสังข์ ร่วมเป็นกรรมการอีก จำนวน 3 คน
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีมติที่ประชุมกรณีการเร่งดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านผู้เดือนร้อนจากโครงการเขื่อนหัวนา ที่ได้ผ่านการตรวจสอบ การรังวัด และจัดทำ รว 43 ก. เสร็จแล้ว โดยเสร็จทำไหร่ ก็ให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยได้เลย
วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนนายกรัฐมนตรี (นายสุภรณ์ อัตถาวงค์) รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองอธิบดีกรมชลประทาน กรมที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา ณ. ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องติดประกาศ คัดค้าน 30 วัน โดยขอให้เอาเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ได้เลย จากนั้น นำเสนอต่อคณะกรรมการ ฯ ชุดใหญ่ พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยได้เลย
วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ให้กับกลุ่มโนนสังข์ กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน
วันที่ 24 สิงหาคม 2563 คณะอนุกรรมการ ฯ ได้จัดประชุม ครั้งที่1/2563 ณ ห้องประชุมชลประทานจังหวัดศรีสะเกษ และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1.) กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ (ชุดใหญ่) พิจารณาชี้ขาดว่า
1.1 เนื่องจากที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 66 แปลง ที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหา ฯ (ชุดใหญ่) ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ให้ดำเนินการ เร่งด่วน เป็นลำดับแรก นั่น ขณะนี้การตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ การรังวัด การจัดทำ รว.43 ก. เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 แล้ว โดยสถานะของที่ดินเป็นที่ดินที่ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย แล้ว จำเป็นต้องติดประกาศ คัดค้าน อีก 30 วัน เหมือนกับที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่
ทั้งนี้ความเห็นของเจ้าพนักงานที่ดินศรีสะเกษ ในฐานะที่เป็นอนุกรรมการ ฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของที่ดิน ประเภทโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก. ไม่จำเป็นต้องต้องติดประกาศ 30 วัน ส่วนที่ดินประเภท น.ส.3 สค.1 จำเป็นต้องติดประกาศ 30 วัน
1.2 กรณีการดำเนินการ เร่งด่วนเป็นลำดับแรก ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ 66 แปลง ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มโนนสังข์ จำนวน 54 แปลง และนอกจากนี้ มีที่ดินซึ่งได้มีการแบ่งแยกออกจากแปลงเดิม อีก จำนวน 9 แปลง ให้นับรวมอยู่ในกลุ่มชุด 66 แปลง เร่งด่วน ลำดับแรก รวมเป็น จำนวน 63 แปลง
1.3 กรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ 63 แปลง ของกลุ่มโนนสังข์ ชาวบ้านประสงค์จะเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชยที่ดิน โดยในส่วนค่าทรัพย์สินอื่น ชาวบ้านไม่ประสงค์จะเรียกร้อง
โดยมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแบบฟอร์ม คำร้อง ดังกล่าวภายใน สัปดาห์หน้า หรือจากนั้นให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ประชุมชาวบ้าน ในการจัดทำเอกสาร ต่อไป
1.4 ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ฯ (มูลล่าง) จะจัดทำบัญชีรายชื่อชาวบ้าน และรายละเอียดของแปลงที่ดิน แต่ละแปลง จำนวน 63 แปลง ประกอบ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ ในการพิจารณา พร้อมด้วย
1.5 ในระหว่างที่คณะกรรมการ ฯ (ชุดใหญ่) พิจารณาแนวทางการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ นั้น ให้คณะทำงานระดับอำเภอ จัดเตรียมบัญชีรายชื่อชาวบ้าน และรายละเอียดของแปลงที่ดิน แต่ละแปลง จำนวน 63 แปลง ประกอบ เพื่อทำการติดประกาศคัดค้าน 30 วัน ควบคู่ไปด้วย
ซึ่งหากคณะกรรมการ ฯ มีมติเห็นชอบว่า ไม่ต้องติดประกาศ 30 วัน ก็ค่อย ยุติการติดประกาศ แต่หากคณะกรรมการ ฯ มีมติเห็นว่าต้องติดประกาศ ก็จะสามารถทำการติดประกาศคัดค้าน 30 วัน ได้เลย
1.6 การแปลภาพถ่ายทางอากาศ ผู้เชี่ยวชาญการแปลภาพถ่าย กรมชลประทาน ได้นำเรียนต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากที่ดิน 63 แปลง เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ เป็นการได้กรรมสิทธิ์ โดยกฎหมาย สมบูรณ์แล้ว จึงไม่ต้องแปลภาพถ่าย แต่อย่างใด
2.) กรณีการดำเนินงานการตรวจสอบพื้นที่ ของคณะทำงานระดับอำเภอ และระดับตำบล ที่ผ่านมา นั้น คณะทำงานระดับอำเภอ และคณะทำงานระดับตำบล ที่จะถูกแต่งตั้งขึ้น ภายใต้คณะอนุกรรมการ ฯ ชุดนี้ สามารถนำเอาผลการดำเนินงาน ของคณะทำงานระดับอำเภอ และคณะทำงานระดับตำบล ของคณะอื่น ที่ดำเนินการไว้ ในส่วนที่นอกเหนือจาก สมาชิก สคจ. มาพิจารณา ต่อได้เลย
3.) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ 5 อำเภอ (อำเภอกันทรารมย์ อำเภอเมือง อำเภอยางชุมน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอราษีไศล)
4.) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับตำบล
5.) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบเพิ่ม (ค่า X) ที่นอกเหนือจากระดับ +114 เมตร (รทก.)
6.) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทาน โครงการฝายหัวนา
ผ่านมาแล้ว 28 ปี ก็ควรเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม หวังว่ารัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจในความทุกข์ยากของชาวบ้านที่เรื้อรังมานานกว่า 28 ปี แล้วเร่งรัด การจ่ายเงินค่าชดเชย โดยเฉพาะการนำร่อง จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ ได้แล้ว
*************
โฆษณา