1 ต.ค. 2020 เวลา 23:30 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตเปื้อนฝุ่น! 'รถไฟเด็กกำพร้า' การอพยพหนีความยากจนของเหล่าเด็กไร้ญาติเพื่อสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกา
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ผู้อพยพกว่า 4.3 ล้านคนมุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ. 1841-1860 เพื่อตามหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า พวกเขายอมทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนที่เต็มไปด้วยปัญหาทางการเมืองที่ไม่สงบ ความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่
พวกเขาต้องมาอยู่ในเมืองใหญ่ที่วุ่นวายและยังหางานทำได้ยาก การใช้ชีวิตก็เต็มไปด้วยความลำบากเพราะไม่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักคอยช่วยเลี้ยงลูกให้ระหว่างที่ทำงาน ผู้อพยพหนุ่มยอมทำงานเสี่ยงอันตรายเพื่อแลกกับเงินประทังชีวิตสำหรับครอบครัว และอาจต้องลงเอยด้วยการเสียชีวิตในระหว่างการทำงาน เหลือเพียงแม่และเด็กที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังซึ่งหลายครั้งผู้เป็นแม่จากไปด้วยการติดโรคไทฟอยด์เนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขอนามัยหรือจากไปด้วยการเสพยาเกินขนาดเพราะความเครียดจากปัญหาที่รุมเร้า ทิ้งให้เด็กน้อยต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ต้องเร่ร่อนหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว
WIKIPEDIA PD
ปี ค.ศ. 1850 เมืองนิวยอร์กมีประชากรราว 500,000 คนเนื่องจากการไหลเข้ามาของผู้อพยพ โดยมีเด็กไร้บ้านกว่า 10,000-30,000 คน พ่อแม่ของพวกเขาไม่มีกำลังพอที่จะเลี้ยงดูพวกเขาได้ ดังนั้นเด็กๆ เหล่านี้จึงต้องหาทางเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองตามข้างถนนหรือไปอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า
มีโครงการที่ช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้โดยการส่งพวกขึ้นรถไฟไปหาบ้านหลังใหม่ที่ต่างอยู่รัฐออกไป โครงการจะตระเวนหาเด็กที่เร่ร่อนอยู่ตามสถานีรถไฟ ท่าเรือหรือตามถนน โดยโครงการรถไฟเด็กกำพร้าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1850
จนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1854 เด็กกำพร้าจำนวน 45 คนถูกแต่งตัวใหม่ในชุดที่สะอาดสะอ้านขึ้นรถไฟจากนิวยอร์ก สู่เมืองโดวาเกียค รัฐมิชิแกน เมื่อพวกเขาเดินทางถึงที่หมาย มีครอบครัวมารับเด็กๆ เหล่านี้ไปอยู่ที่บ้าน มีเกษตรกรและช่างฝีมือท้องถิ่นก็มาประมูลเด็กๆ เหล่านี้และนำเด็กกลับบ้านไปเพื่อทำงานในฟาร์มหรือให้ทำงานต่างๆ คาดการณ์ว่ามีเด็กกำพร้ากว่า 250,000 คนที่ถูกส่งจากชายฝั่งตะวันออกไปยังมิดเวสท์ระหว่างปี 1850-1920
WIKIPEDIA PD
เด็กกำพร้าบางคนที่ต้องออกมาอยู่ข้างถนนก็กลายเป็นขโมยที่คอยลักสิ่งของต่างๆ แลกอาหารหรือเงิน แต่ที่แย่ไปกว่านั้นบางคนก็มีอาการติดสุราตั้งแต่ยังเด็ก เด็กอายุเพียงแค่ 8 ขวบก็มีอาการติดสุราเสียแล้ว
ระหว่างปี ค.ศ. 1820-1900 ประชากรของสหรัฐอเมริกาจาก 9.6 ล้านคน พุ่งทะยานเป็น 76.1 ล้านคนเพราะผู้อพยพจากไอร์แลนด์ อังกฤษและเยอรมนี ซึ่งทำให้จำนวนของเด็กกำพร้ายิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในขณะนั้นเด็กอายุเพียง 14 ก็ถูกคาดหวังให้เริ่มทำงานและไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่แล้ว
ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สถานรับเลี้ยงเด็กก็ให้การดูแลเด็กไม่ดีเท่าไหร่นักทำให้พัฒนาการของเด็กกำพร้านั้นก็ค่อนข้างแย่ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาด้วย และที่แย่ไปกว่านั้นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าส่วนใหญ่ไม่ได้รับเด็กทารกหรือเด็กเล็กๆ เมืองใหญ่ๆ จำต้องเปิดโรงพยาบาลสำหรับเด็กกำพร้าเพื่อรับดูแลเด็กทารกที่ถูกทิ้งตามข้างถนน มีเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้หน้าโรงพยาบาลเด็กกำพร้าเป็นจำนวนมาก เด็กทารกหลายคนมักเสียชีวิตเนื่องจากปัญหาสุขภาพที่เกิดก่อนที่จะมาที่โรงพยาบาลแล้ว เช่น อาการท้องร่วง ไข้อีดำอีแดง ไอกรน แม่อุปภัมภ์บางรายก็ให้การเลี้ยงดูเด็กอย่างดีแต่บางรายก็รอให้เด็กคนนั้นถึงวันตายหรือนำไปขาย
WIKIPEDIA PD
ผู้อพยพยังหลั่งไหลเข้าสู่อเมริกาจนบางเมืองนั้นไม่สามารถที่จะให้การช่วยเหลือชาวเมืองได้เพียงพอ ที่พักเพื่อการกุศลจึงถูกตั้งมาเพื่อให้อาหารและที่พักให้กับคนที่เดือดร้อน แต่ที่พักเพื่อการกุศลบางแห่งก็ให้ความช่วยเหลือคนยากจนได้ไม่เพียงพอหรือเกิดการคอรัปชั่น
ที่พักการกุศลแห่งหนึ่งในฟิลาเดเฟียให้เด็กๆ และวัยรุ่นไปทำงานหนักเพื่อแลกกับการเรียนรู้งานหรือการศึกษาเพียงน้อยนิด ซึ่งเด็กบางคนก็ถูกพรากมาจากครอบครัวโดยที่ไม่เต็มใจ เด็กบางคนถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากครอบครัวเพื่อที่ครอบครัวจะได้ไม่รู้ว่าเกิดอะไรกับเด็กๆ เหล่านี้บ้าง
ศาสนาจารย์ ชาร์ลส์ ลอริง เบรซเห็นว่าที่นิวยอร์กนั้นมีพ่อแม่ที่เป็นอาชญากร ติดเหล้าและไม่พร้อมที่จะเลี้ยงเด็กๆ จนทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กกำพร้าและกลายเป็นปัญหาสังคมที่ก่ออาชญากรรม เข้าร่วมแก๊งอาชญากรจนสุดท้ายก็จะถูกจับและถูกส่งเข้าคุกในที่สุด
WIKIPEDIA PD
ศาสนาจารย์ชาร์ลส์เชื่อว่าปัญหานี้จะถูกแก้ได้ด้วยการส่งเด็กๆ เหล่านี้ไปอยู่กับครอบครัวคริสเตียนโดยจะมีเจ้าหน้าที่ตระเวนไปตามโบสถ์ต่างๆ และบอกสมาชิกของโบสถ์หรือในชุมชนเหล่านั้นว่ามีเด็กๆ ที่ต้องการบ้านที่พร้อมจะให้ความรักและการดูแล เมื่อมีครอบครัวใดต้องการ เด็กๆ เหล่านั้นก็จะถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวใหม่
ระหว่างปี ค.ศ. 1855-1875 เด็กกำพร้ากว่า 3,000 คนถูกส่งไปกับรถไฟเด็กกำพร้าในแต่ละปี พวกเขาเดินทางราวหนึ่งสัปดาห์จนกว่าจะถึงที่หมาย เด็กๆ บางคนตื่นเต้นกับการที่จะได้เจอกับครอบครัวใหม่ ในขณะที่เด็กบางคนก็ไม่ต้องการที่จะมาเพราะพวกเขายังมีครอบครัวหรืออยู่กับญาติๆ
WIKIPEDIA PD
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางเด็กๆ จะถูกรับไปอยู่กับครอบครัวใหม่ที่ได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้ว โครงการช่วยเหลือเด็กกำพร้าอาจไปเยี่ยมเด็กทุกๆ ปีเพื่อจะได้แน่ใจว่าเด็กๆ เหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีการนำเด็กกลับมาถ้าหากเห็นว่าบ้านนั้นขาดคุณสมบัติ มีรายงานว่า 87% ของการหาบ้านใหม่ให้เด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เด็ก 8% เดินทางกลับสู่นิวยอร์กและเด็กอีก 5% เสียชีวิต สูญหายหรือถูกจับ รถไฟเด็กกำพร้าขบวนสุดท้ายออกจากนิวยอร์กสู่เท็กซัสเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1929 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถจะรับเลี้ยงเด็กกำพร้าได้และเด็กกำพร้าก็มีจำนวนน้อยลงเนื่องจากหลายครอบครัวเลือกที่จะให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้ามากกว่าและมีการออกกฎหมายห้ามส่งเด็กไปอยู่ข้ามรัฐอีกด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
WIKIPEDIA PD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา