23 ธ.ค. 2020 เวลา 02:23 • ไลฟ์สไตล์
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
เดิมทีตั้งใจจะเขียนแค่เรื่องการเลี้ยงปลา แต่คนเลี้ยงปลาก็พอมีเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย เลยอยากมาเล่าแง่มุมของอาชีพให้ฟังค่ะ
ข้าวสังข์หยด แบบกล้อง
ด้วยความคิดที่ว่าเราต้องกินข้าวทุกวัน และสิ่งที่เรากินอยู่ทุกวัน เรากินสารเคมีเข้าไปด้วยหรือเปล่า เพราะนอกจากสารเคมีที่ใช้ในตอนทำนาแล้ว สิ่งสำคัญ คือ สารกันมอดที่ใช้หลังเก็บเกี่ยว
ถ้าเรามีโอกาสที่จะปลูกข้าวไว้กินเอง เราจะได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย แม้จะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังมีข้าวให้กินอิ่มทุกมื้อ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ ความตอนหนึ่งว่า
"ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไรประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก"
และด้วยความที่เรามีที่นาอยู่แปลงนึง จึงเป็นโอกาสที่เราจะมาปลูกข้าวไว้กินเอง และข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเราก็หนีไม่พ้น "ข้าวสังข์หยด" ค่ะ
ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์ไทยแท้ที่มีมานับร้อยปี ปลูกได้ผลดีในจังหวัดพัทลุง โดยเมื่อปี 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงปลูกข้าวสังข์หยด
และเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 ทางศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้นำข้าวสังข์หยดมาถวายแด่พระองค์ และหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงให้นำปลูกเพื่อขยายพันธุ์เพิ่ม
เมล็ดข้าวมีรูปร่างเรียวยาว ข้าวกล้องมีสีแดง เมื่อหุงสุกจะมีความนุ่ม ย่อยง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ
ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเป็นข้าวไทยพันธุ์แรกที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 25549 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งช่วยชะลอความชรา และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
มีวิตามินบี ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา มีปริมาณไนอะซินสูง ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและผิวหนัง สาร ASGs ในข้าวกล้องพันธุ์สังข์หยดช่วยการทำงานของอินซูลินและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยค่ะ
แต่ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวปลูกได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งจะเรียกว่า "ข้าวนาปี" ไหน ๆ ก็ทำนาแล้ว ระหว่างนั้นเราจึงจะปลูกข้าวพันธุ์อื่นไปด้วย เรียกว่า "ข้าวนาปรัง" ค่ะ
ครั้งแรกที่เราปลูกโดนวัวชาวบ้านกินหมด ได้เงินมาชดเชยค่าเมล็ดพันธุ์แต่เสียเวลาเปล่า ไม่ได้ปลูกต่อ
ครั้งที่สองปลูกใหม่อีกรอบ คราวนี้โดนน้ำท่วมหมด แต่ยังดีได้เงินเยียวยาน้ำท่วมจากภาครัฐ
ครั้งที่สามลองทำใหม่ ได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ
ครั้งต่อ ๆ มา ผลออกมาก็ไม่ต่างกันมาก แต่ปลายปีนี้ไม่ได้ทำเพราะเกรงว่าน้ำจะท่วม
จากประสบการณ์ที่ทำนามาแล้วไม่ขาดทุนทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ดูแลอะไรมากนัก น่าจะมาจากสาเหตุ
🔸เลือกพันธุ์ข้าวที่ดี โดยเราจะซื้อพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว เลือกพันธุ์ข้าวที่น้ำหนักรวงดี ขายได้ราคา ข้าวที่ต้นข้าวโน้มลงต่ำเพราะหนักรวง แปลว่าจะได้น้ำหนักดี
ที่เห็นเหลือง ๆ คือ ดอกหญ้าไม่ใช่ข้าว
และเลือกพันธุ์ข้าวที่อายุยาว คือ ประมาณ 4 เดือน เพราะสังเกตหญ้าที่นาเราพบว่าเมื่อหญ้าออกดอกแล้วจะตายไปเอง
ถ้าเราเลือกข้าวอายุยาว กว่าที่ข้าวจะออกรวงหญ้าก็ตายไปก่อน นาเราเต็มไปด้วยหญ้าแต่สุดท้ายหญ้าก็ตายไปก่อนข้าวออกรวง
🔸สภาพแวดล้อมโดยรอบนาเป็นสวนปาล์มและสวนยาง ทำให้หนูซึ่งเป็นศัตรูหลักของข้าวไม่มีที่อยู่ ทำให้ไม่ค่อยมีหนูมากัดกินผลผลิต
🔸สมัยก่อนมีหอยเชอรี่เป็นศัตรูที่สำคัญอีกอย่าง แต่ปัจจุบันมีนกปากห่างอพยพมาหากินแถวนี้ ทำให้นกกินพวกหอยเชอรี่ จนตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้
🔸กั้นตาข่ายดักนกบ้าง เพื่อป้องกันนกลงมากินข้าวในนา
🔸ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ยให้เพียงพอ
🔸ทำในปริมาณน้อยเลยดูแลได้ทั่วถึง
ชาวนาแถวนี้ส่วนใหญ่จะขายข้าวเปลือก เมื่อรถเกี่ยวข้าวมาตัดเสร็จก็ไปรับเงินเป็นอันจบ ไม่ต้องตากข้าวให้ยุ่งยาก โรงสีจะใช้การอบแทนการตาก
ส่วนหนึ่งมักเก็บไว้กินเองและแจกจ่ายญาติมิตร เราเองก็เป็นแบบนั้น แต่นอกจากเก็บไว้กินเองแล้ว มักมีเพื่อนฝูงถามไถ่ซื้อข้าวสารจากเราด้วย เพราะมั่นใจว่าได้ข้าวที่ปลอดภัย เลยเป็นโอกาสที่จะเก็บไว้ขายเองส่วนหนึ่งด้วย
ที่บ้านจะกินข้าวสังข์หยดมาตลอดแต่เลือกแบบขัดสีนิดหน่อย เพราะจะนุ่มกว่าแบบกล้องแม้ต้องแลกกับการเสียคุณค่าทางอาหารไปบ้าง แต่ยึดทางสายกลาง กินแล้วต้องมีประโยชน์และมีความสุขไปด้วย
ข้าวสังข์หยดแบบขัดสีนิดหน่อย
บางครั้งก็เปลี่ยนบรรยากาศมาหุงข้าวไรซ์เบอร์รี่บ้าง ส่วนข้าวขาวนั้นไว้ไปเจอกันนอกบ้านค่ะ
ข้าวไรซ์เบอร์รี่
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาให้กำลังใจนะคะ ❤️
โฆษณา