3 ต.ค. 2020 เวลา 06:52 • ข่าว
ปอท.จับมือแฮ็กวัย 19 ป่วนระบบ "ชิมช้อปใช้" แจ้ง 2 ข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พบทำคนเดียวทดลองวิชา คลังเปิดให้ลงทะเบียนวันสุดท้ายเก็บตกกว่า 2 หมื่นสิทธิ
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากษ์ ผกก.1 บก.ปอท. และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย แถลงผลการจับกุมนายธีรณัฐ มหัทธโนบน อายุ 19 ปี ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ฐานกระทำการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พร้อมของกลาง คอมพิวเตอร์ประกอบเอง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว อย่างละ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 7 เครื่อง อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล 2 อัน (เอ็กซ์เทอร์นัลฮาร์ดดิสก์) และของกลางอื่นๆ รวม 17 รายการ
ส่วนการจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีผู้เข้ามาก่อกวนระบบลงทะเบียน "ชิมช้อปใช้" จนทำให้ระบบล่าช้าและลงทะเบียนไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. สืบสวนจนรู้ตัวผู้กระทำผิดก่อนจะขอศาลออกหมายจับ และติดตามไปจับกุมตัวได้ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยแจ้งข้อหากระทำผิดตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และมาตรา 13 เผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นายพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า หลังจากประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สืบสวนจับกุมผู้ก่อเหตุ โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จากการสอบสวนพบว่าไม่ได้ทำเป็นครั้งแรก แต่เคยทำตั้งแต่ในโครงการเฟสแรกแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นใช้โปรแกรมอัตโนมัติ หรือบอท เข้าไปก่อกวนระบบจำนวนไม่มาก คล้ายเป็นการทดลองชุดคำสั่ง จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก ส่วนวิธีการที่ใช้ก่อเหตุ เริ่มจากการสร้างชุดคำสั่ง นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเชิญชวนให้คนนำไปใช้งาน จากนั้นในวันเกิดเหตุจะแฝงบอทไปกับคนที่นำชุดคำสั่งดังกล่าวไปใช้ เพื่อเข้าไปในระบบพร้อมๆ กัน มีเป้าหมายเพื่อเข้าไปจองพื้นที่ลงทะเบียน ซึ่งหากทำสำเร็จก็อาจถูกนำไปใช้ทำประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น ต่อรองผู้เสียหาย ขายพื้นที่จับจองในระบบ หรือหักเปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง ซึ่งนอกจากกรณีนี้แล้ว ยังพบมีอย่างน้อยอีก 2 เว็บไซต์ที่มีพฤติการณ์ใกล้เคียงกันด้วย
ด้าน พล.ต.ต.ไพบูลย์กล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาลงมือเพียงคนเดียว ไม่พบคนสั่งการอยู่เบื้องหลัง และไม่พบว่ามีเจตนาจะพังระบบ คล้ายต้องการทำไปเพื่อทดลองวิชา ส่วนเหตุที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะขยายผลต่อไปว่าจะต้องดำเนินคดีกับประชาชนที่นำชุดคำสั่งดังกล่าวไปใช้งานหรือไม่ ซึ่งต้องรอตรวจสอบข้อมูลที่หลงเหลือในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และตรวจสอบไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ยังพบว่าผู้ต้องหาเคยก่อเหตุเกี่ยวกับการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในทางที่ผิดอีกหลายคดี มีหลักฐานเป็นซิมโทรศัพท์นับพันชิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายผลดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่อบัญชี "ธีรณัฐ มหัทธโนบน" ซึ่งเป็นของผู้ต้องหารายนี้ พบว่าในช่วงการลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟสแรก มีการโพสต์เมื่อ 2 ต.ค. เวลา 02.02 น. ว่า "ชิมช้อปใช้ ไม่ติดรอคิว 100% ครับ ht tps://www.understop.com/simshopsai.html มือถือเก่าอาจจะค้างนิดนึง ถ้าไม่ได้ก็ลองใหม่นะครับ" ต่อมาวันที่ 4 ต.ค. เวลา 13.05 น. ได้โพสต์ข้อความว่า "คนเข้าชิมช้อปใช้ผ่านลิงก์ผมกัน 28,000 คน" จากนั้นได้โพสต์วันที่ 24 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟสสองว่า "หยุดถล่มเซิร์ฟผมเถอะนะครับ" พร้อมภาพที่ระบุว่ามีผู้ใช้งานขณะนี้ 50,065 คน ซึ่งเข้าผ่านลิงก์ ht tps://www.understop.com/simshopsai.html
สำหรับบรรยากาศการเปิดลงทะเบียนมาตรการชิมช้อปใช้ระยะสองผ่าน ww w.ชิมช้อปใช้.com ในวันที่หก หรือวันที่ 29 ต.ค.2562 ซึ่งเป็นรอบเก็บตก ยังพบว่ามีผู้สนใจมาลงทะเบียนจำนวนมากเหมือนเดิม โดยช่วงเช้าซึ่งเปิดตั้งแต่เวลา 06.00 น. ผ่านไปถึงแค่เพียง 35 นาที สิทธิรอบเก็บตกที่เหลือ 87,213 คน ก็เต็มครบทั้งหมด ต่อมาได้เปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้งในรอบเย็นช่วงเวลา 18.00 น. อีก 87,212 คน ก็มีคนลงทะเบียนเต็มอย่างรวดเร็วเช่นกัน
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังไม่ปิดการลงทะเบียนชิมช้อปใช้ 2 โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 30 ต.ค.2562 เป็นวันสุดท้าย เนื่องจากยังเหลือสิทธิอีกประมาณ 2 หมื่นกว่าสิทธิ ซึ่งมาจากผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน สำหรับสาเหตุที่คนลงทะเบียนไม่ผ่าน มาจากกรอกรหัสผ่านไม่ทันเวลาที่กำหนด 3 นาที และกรอกข้อมูลส่วนตัวไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง
"กระทรวงการคลังได้มีการติดตามดูระบบการลงทะเบียนมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 อย่างใกล้ชิด ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้ระบบการลงทะเบียนสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ ไม่มีปัญหาอะไร" นายลวรณระบุ
ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้ จะเปิดเพิ่มเติมทางการในวันที่ 1 พ.ย. ถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้ โดยเน้นนำผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมจะเข้าร่วมอีกจำนวนมาก รวมถึงมีร้านอาหารที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งเป็นของผู้ประกอบการทั่วไป ไม่ใช่ร้านอาหารที่เป็นแบรนด์ใหญ่เข้ามาร่วมอีกมาก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้สามารถนำเงินของตนเองเต็มเข้ากระเป๋าสองไปใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น.
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างมากกับวงการคอมพิวเตอร์ เพราะปัจจุบันคอมพิวเตอร์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราโดยเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทในหลายๆ ด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไอทีอย่างเราๆ ท่านๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้ทราบถึงกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ตั้งใจ ในที่นี้จะเป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้เป็นหลัก สำหรับรายละเอียดทั้งหมดนั้นสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (http://www.mict.go.th) หรือ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐ ณ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐
มาตราต่างๆ ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ มีดังนี้
• มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
• มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือ ในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาทถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
• มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
• มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้
• สรุปมาตรา ๕ การแอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๖ การแอบรู้มาตรการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๗ การแอบเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๘ การดักจับข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๙ การรบกวนหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๐ การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๑ การส่งสแปมเมล์ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๒ การกระทำความผิดต่อความมั่นคง (1) จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท (2) จำคุกไม่เกิน 3-15 ปี ปรับ 60,000-300,000 บาท หรือหากการกระทำส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมีโทษจำคุก 10-20 ปี
• สรุปมาตรา ๑๔ การปลอมแปลงข้อมูลหรือเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๖ การเผยแพร่ภาพจากการตัดต่อ/ดัดแปลง จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษณา