5 ต.ค. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2538 ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรม
กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม
ศ. ม.ล.ปิ่น มาลากุล
ความหมายคือ กล้วยไม้กว่าจะเจริญเติบโตเป็นดอกที่สวยงามต้องใช้เวลาและต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่เมื่อดอกกล้วยไม้เติบโตมันจะกลายเป็นดอกไม้ที่สวยงาม การศึกษาก็เช่นกันหากคนเป็นครูคอยดูแล สั่งสอน ลูกศิษย์ก็จะประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับดอกกล้วยไม้
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 สืบเชื้อสายมาจากต้นราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยา คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี บิดามารดาของม.ล.ปิ่นคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิม วสันตสิงห์) ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) ไม่มีบุตรธิดา ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการศึกษา
ตัวอย่างผลงาน
- 3 มกราคม พ.ศ.2480 ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
- จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยเริ่มเปิดการสอนในปี พ.ศ.2507 และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2508 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีในครั้งนี้
ปี พ.ศ. 2530 ท่านได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
ในปี พ.ศ.2544 ท่านได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลดีเด่นและเป็นบุคคลสำคัญใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสารมวลชน
ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2538 ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ถึงแก่อสัญกรรมลง ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้สด้วยอายุ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน
โฆษณา