5 ต.ค. 2020 เวลา 09:00 • กีฬา
หาคำตอบจากประโยคอมตะ : กองเชียร์ยิ่งเสียงดังยิ่งทำให้นักกีฬาอยากเอาชนะจริงหรือ? | MAIN STAND
"ไปเชียร์กันเยอะๆนักกีฬาของเราจะได้มีแรงเอาชนะได้" ประโยคนี้เราได้ยินกันมานมนานแล้ว แต่ความจริงนั้นเสียงเชียร์หรือแรงเชียร์มันคือสิ่งที่เราคิดไปเองหรือไม่ว่าจะทำให้ทีมที่เราเชียร์ได้ชัยชนะง่ายขึ้น เพราะเมื่อเอาจริงๆแล้วนักกีฬาที่ลงสนามไปแข่งขันควรจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินเกมไม่ใช่หรือ?
นี่คือคำถามที่เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงไปแข่งขันด้วยในสนาม แต่การส่งกำลังใจจากข้างสนามหรือบนหน้าจอ จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักกีฬางัดฟอร์มเก่งได้จริงหรือไม่? ถ้าได้...มันออกมาได้อย่างไร? นี่คือคำตอบจากงานวิจัยที่จะทำให้คุณเคลียร์ที่สุดสำหรับคำถามนี้
ผู้เกี่ยวข้องยืนยัน
การจะยืนยันข้อเท็จจริงและทำให้ชัดเจนนั้นไม่อาจจะใช้คำว่า "ความรู้สึก" มาอ้าง ต้องมีเหตุผลหลายๆเหตุผลประกอบกันเป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงต้องใช้ศาสตร์ที่อธิบายถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ได้ง่ายที่สุดซึ่งนั่นก็คือ "จิตวิทยา"
เคย์ พอร์เตอร์ นักจิตวิทยา ผู้แต่งหนังสือ The Mental Athlete ที่กล่าวว่า "หากพูดให้เห็นภาพ นักกีฬานั้นใช้พลังงานจากผู้ชมเป็นอาหารเพื่อให้พลังงานกระตุ้นตัวเอง" และคำตอบของ พอร์เตอร์ ถูกขยายผลต่อไปถึงนักกีฬาระดับเหรียญทองโอลิมปิกที่ผ่านสังเวียนการเเข่งมาอย่างโชกโชน ได้แก่ อดัม เนลสัน อดีตนักทุ่มน้ำหนักเหรียญทองโอลิมปิกปี 2004 ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่าเสียงเชียร์นี่แหละที่ทำให้เขารู้สึกเพิ่มขีดจำกัดความสามารถของตัวเองได้ด้วยความฮึกเหิม
Photo : Sports Illustrated
"ผมชอบที่จะให้แฟนๆ ส่งเสียงเชียร์ก่อนทำการแข่งขันนะ มันทำให้ผมฮึกเหิมดี" อดัม เนลสัน กล่าว
ไม่ใช่แค่กีฬาอย่างทุ่มน้ำหนักเท่านั้น กีฬาประเภททีมที่เเข่งขันในสนามใหญ่นั้นความสำคัญของเสียงเชียร์มีผลอย่างมากต่อผู้เล่นที่กำลังเเข่งขันอยู่ โดยเฉพาะฟุตบอลนั้นชัดเจนมากที่สุด ยิ่งเสียงดังยิ่งกระตุ้นนักเตะได้ดี และเสียงเชียร์ของแฟนๆยังสร้างความแตกต่างระหว่างการแข่งขันได้ดีจากเสียตะโกนจากโค้ชที่อยู่ข้างสนามเสียอีก
"ในเชิงจิตวิทยา เมื่อคุณรู้เวลาคุณอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดแล้วมีเสียงเชียร์คุณดังลั่น มันจะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้คุณทำผลงานให้ดีที่สุด มีแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่ผู้เล่นจะได้ยินการกระตุ้นของโค้ชระหว่างแข่ง เพราะว่าตอนแข่งจริง พวกเขาจะมีสมาธิกับเกมในสนามมากกว่า นั่นหมายความว่าแฟนบอลจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นนักเตะมากกว่าโค้ชเสียอีก"
"จังหวะบอลตายเป็นเหมือนช่วงที่ แฟนบอล กับนักเตะจะได้มีส่วนร่วมกันในการเปลี่ยนทิศทางของเกม ซึ่งมันคือสิ่งที่ผู้เล่นต้องการ นั่นคือการสนับสนุน เพื่อเป็นการเร้าอารมณ์ ให้มีความคึกที่จะลงไปลุยต่อในช่วงเวลาที่เหลือ" ทอม เบตส์ นักจิตวิทยาด้านการกีฬาเคยทำวิจัยเรื่องนี้กล่าวกับ FourFourTwo
สิ่งที่ เนลสัน บอกยังไปตรงกับงานวิจัยทางจิตวิทยาอีก 1 ชิ้น นั่นคืองานของ ดร. นาตาลี นิวตัน นักจิตวิทยากีฬาจากแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ก็ขยายความว่าเสียงเชียร์ทำให้ร่างกายหลังอะดรีนาลีนสูบฉีดในตัวนักกีฬา ทำไม อดัม เนลสัน จึงเพิ่มขีดจำกัดตัวเองได้ อย่างไรก็ตามการหลังอะดรีนาลีนที่มากเกินไปก็มีข้อเสียอยู่บ้างโดยเฉพาะนักกีฬาที่จำเป็นต้องใช้ความเเม่นยำ ที่จำเป็นต้องคุมสติตั้งสมาธิในการตัดสินใจแต่ละครั้ง และมันคือสิ่งที่เราเห็นได้จากกีฬาอย่าง สนุ๊กเกอร์ ที่ตามธรรมเนียมนั้นผู้ชมจะส่งเสียงเชียร์เฉพาะตอนที่ลูกลงหลุมหรือตอนได้รับผลแพ้ชนะเเล้วเท่านั้น
จากงานวิจัยและผู้เกี่ยวข้องเห็นได้ชัดว่าเสียงเชียร์นั้นมีผลกับการเเข่งขันกีฬาทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม
เกมในสนามชี้ชัด
ว่ากันทางทฤษฎีแบบยืดยาวก็คงไม่มีประโยชน์อะไรหากมีการยืนยันทางปฎิบัติว่าแท้จริงแล้ว ที่วิจัยกันมานั้นตรงกับโลกแห่งความจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่แหล่งอ้างอิงในห้องสมุดที่เท่านั้น และสิ่งช่วยทำให้งานวิจัยน่าเชื่อถือมากขึ้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า "สถิติ" นี่เอง
แม็ตต์ มิลส์ จากเว็บไซต์ SB Nation รวบรวมสถิติในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า เสียงเชียร์ที่ดังกว่าในการเป็นทีมเจ้าบ้าน ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันเป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ทีมเจ้าบ้านจะทำคะแนนได้มากกว่าทีมเยือน 3.3 คะแนน, เสียฟาวล์น้อยกว่าทีมเยือน 0.4 ครั้ง และทำระยะได้มากกว่า 0.22 หลาต่อเกม ไม่เพียงเท่านั้น ในการเตะฟิลด์โกลที่ต้องอาศัยความแม่นยำ ทีมยังสามารถเตะได้แม่นกว่าหากได้เป็นเจ้าบ้าน 2% เมื่อเทียบกับตอนเป็นทีมเยือนอีกด้วย
Photo : Dr. Dish Basketball Blog
ไม่ใช่แค่อเมริกันฟุตบอลเท่านั้น ยังมีการยืนยันจากกีฬาอื่นๆอย่าง บาสเกตบอล อีกเช่นกัน โดย เควิน คีลี่ย์ และ จัสติน วูล์ฟเฟอร์ส จาก The New York Times ได้เก็บสถิติในการชู้ตลูกโทษของทีมในระดับมหาวิทยาลัย และก็ได้ผลออกมาในทิศทางเดียวกัน เมื่อทีมเจ้าบ้านซึ่งมีเสียงเชียร์และสามารถวางแท็คติกเบี่ยงเบนสมาธิอันแพรวพราวกว่า มักกุมความได้เปรียบในการแข่งได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชู้ตลูกโทษ ในกลุ่ม Big Ten 11 จาก 14 ทีมมีสถิติชู้ตลูกโทษเวลาเป็นทีมเยือนแย่กว่าเวลาได้เป็นเจ้าบ้าน เช่นเดียวกับในกลุ่ม Pac 12 และ Big 12 ที่รวมกันสองกลุ่ม มีแค่ทีมเดียวเท่านั้นซึ่งมีสถิติชู้ตลูกโทษดีกว่าเมื่อได้เล่นนอกบ้าน
ถึงตรงนี้คุณๆ อาจจะคิดว่า นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยจะโดนความกดดันเล่นงานบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงก็คือ แม้แต่นักกีฬาระดับโลกเองก็ประสบกับปัญหาได้เช่นกันเมื่อต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น ทีมบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาชุดโอลิมปิก ที่ทุกคนคุ้นกันในชื่อของ "ดรีมทีม"
"ดรีมทีม" นั้นเป็นเหมือนกับทีมในฝันของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง เพราะมันคือการรวบรวมเหล่าสตาร์ของวงการ NBA มาอยู่ในสีเสื้อเดียวกัน และความเหนือชั้นนี้นี่เองที่ทำให้ดรีมทีมรุ่นแล้วรุ่นเล่านับตั้งแต่ปี 1992 ทำผลงานสุดยอดในโอลิมปิกด้วยการโชวืเหนือชั้นคว้าเหรียญทองได้ประจำ
อย่างไรก็ตามทุกอย่างมีสองด้าน "ความเหนือชั้น" ที่ทำให้ทุกๆเกมเป็นเรื่องง่ายนั้นเป็นสารตั้งต้นที่ดีหากจะหาเหตุผลว่า "ถ้าวันหนึ่งพวกดรีมทีมที่เต็มไปด้วยสตาร์ระดับหัวแถวรวมตัวกันเกิดแพ้ขึ้นมาสาเหตุมันจะเกิดอะไรได้บ้าง?"
Photo : vavel.com
คำตอบนี้ถูกขยายความให้ชัดเจนขึ้น ในโอลิมปิกปี 2004 ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ เพราะ ดรีมทีม ที่ต้องลงเล่นต่อหน้าคนเรือนหมื่นในทุกสัปดาห์ ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่หลายคนนึกไม่ถึงและไม่คุ้นเคย และสิ่งนั้นคือเสียงเชียร์ในสนามแข่งขันนั้นกลับเงียบฉี่ชนิดที่ว่า ดรีมทีม ไม่เคยเจอจากที่ไหน...และมันก็ส่งผลอย่างจังในเกมนัดเปิดสนาม เพราะกว่าที่จะปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่อึกทึกน้อยกว่าที่เจอในลีก ดรีมทีมชุดที่มีดาวดังอย่าง ทิม ดันแคน, อัลเลน ไอเวอร์สัน และ เลบรอน เจมส์ ก็แพ้ เปอร์โตริโก ไปแบบพลิกล็อกช็อกโลกเสียแล้ว
จากเหตุการณ์จริงดังกล่าว เดวิด เคาส์ นักจิตวิทยากีฬาจากมหาวิทยาลัย ยูซีแอลเอ ได้เสริมด้วยว่า "ปัจจัยด้านประสบการณ์ คือสิ่งที่จะช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น นักกีฬาบางคนคุ้นเคยกับการลงแข่งท่ามกลางแฟนๆ มากมาย แต่เมื่อพวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แน่นอน พวกเขาก็ต้องปรับตัว ถึงอย่างนั้น การปรับตัวให้รับมือกับกลุ่มผู้ชมน้อยๆ ก็ง่ายกว่าเวลาเจอผู้ชมเยอะๆ อยู่ดี"
เชียร์หน้าจอก็ช่วยได้
วงการกีฬาที่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีการถ่ายทอดสดกีฬาให้ได้ชมกันอย่างสะดวก จะเปิดโทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนก็สามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้จะยังส่งผลบวกให้กับนักกีฬาอยู่หรือไม่?
เอาล่ะเรื่องในสนามจบลงไปและได้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนจากทั้งทางทฤษฎีและปฎิบัติ ทว่าสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยคือแล้วการเชียร์กีฬาผ่านหน้าจอล่ะส่งผลอะไรบ้าง... เพราะเท่าที่คิดได้คือการที่เราเชียร์ใครสักคนอยู่อีกฝากฝั่งของโลก(สมมุติว่าเป็นการเชียร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก) นักเตะที่อยู่ในสนามจะรับรู้หรือป่าวว่ามีคนจากทวีปเอเชียอดหลับอดนอนตะโกนโหวกเหวกหน้าจอโทรทัศน์เพื่อช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเขาอยู่
Photo : Nation TV
เรื่องนี้มีคำตอบอีกเช่นกัน.... การเชียร์ผ่านหน้าจอสามารถทำให้นักกีฬาที่แข่งขันอยู่มีพลังจะสู้ไม่แพ้กัน แม้นักกีฬาจะไม่ได้ยินเสียงของคุณ แต่พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้มีแค่ผู้ชมในสนามเท่านั้นที่กำลังจับตาดูพวกเขาอยู่ และเรื่องนี้ต้องให้เครดิตโลกยุคใหม่ที่สามารถเชื่อมถึงกันได้หมด โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กสามารถบอกฐานแฟนคลับได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้ ดร. นาตาลี นิวตัน ให้คำตอบที่ค่อนข้างน่าทึ่ง... เพราะนักกีฬาเองก็ต้องการกำลังใจจากแฟนกีฬาทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสดก็ตาม
"ต้องยอมรับว่า นักกีฬายุคนี้เติบโตมาในยุคของอิเล็กทรอนิกส์ พวกเขารู้อยู่ตลอดแหละว่ากล้องถ่ายทอดสดอยู่ที่ไหน รวมถึงเวลาที่จะมีการถ่ายทอดสดกลับไปยังบ้านเกิดด้วย ก็เหมือนๆ กับที่รู้ว่ามีแฟนๆ ในสนามคอยดูอยู่ และยิ่งหากรู้ว่า กล้องถ่ายภาพนักกีฬาคนนั้นบ่อยๆ พวกเขาก็จะรู้สึกดี พร้อมๆกับมีแรงกระเพื่อมถึงอนาคตที่สดใส การเห็นคนดูเต็มสนามถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่การได้รับรู้ว่า มีคนที่บ้าน จะครอบครัว, เพื่อนพ้อง หรือคนร่วมชาติติดตามชม มันคือสิ่งสำคัญยิ่งกว่า"
ทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการตะโกนเชียร์ใครสักคนแบบสุดเสียงนั้นมันมีผลต่อการแข่งขันมากแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่เราๆท่านๆทำอยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นการไปเชียร์กีฬาที่สนามและการดูอยู่หน้าจอก็สร้างประโยชน์ทั้งนั้น... ฟันธงได้เลยว่าเรื่องของเสียงเชียร์สำคัญจริง! ไม่ได้มโน ไม่ได้คิดไปเองแต่อย่างใด
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา