5 ต.ค. 2020 เวลา 13:58 • การเกษตร
..... มาตรฐาน GAP สำหรับแปลงเกษตร คืออะไร
เชื่อว่าเกษตรกรหลายท่านรู้ และแปลงเกษตรของบางท่านก็ได้มาตรฐาน GAP แล้ว แต่ในที่นี้เราจะมาแชร์ความรู้ให้กับท่านที่ยังไม่รู้กันค่ะ
หากต้องการให้แปลงเกษตรได้มาตรฐานเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิต แปลงเกษตรก็จะต้องผ่านมาตรฐาน GAP แล้วมาตรฐาน GAP
คืออะไร เรามาทำความรู้จักกันค่ะ
🍎 GAP (Good Agricultural Practice) หรือที่เกษตรกรเรียกว่า จีเอพี ก็ประมาณว่า การเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงเพาะปลูก การใช้สารเคมีต่างๆ อย่างถูกต้อง และเมื่อเกษตรกรปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดแล้ว แปลงเกษตรนั้นๆ ก็จะได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งออกให้โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ที่ตั้งของแปลงเกษตรนั้นๆ แต่เกษตรกรต้องไปติดต่อยื่นคำร้องขอรับการรับรองก่อนนะคะ
แล้วแปลงเกษตรต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP
🍇ข้อแรก แหล่งน้ำ แปลงเกษตรนั้นๆ ต้องไม่ใช้น้ำที่มาจากแหล่งน้ำที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะปนเปื้อนสารเคมีหรือแหล่งน้ำเน่าเสีย ลองคิดดูถ้าคุณรู้ว่าผักผลไม้ที่คุณกำลังกินอยู่ใช้น้ำเน่าหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีในการเพาะปลูก คุณจะกล้ากินมั้ย คุณจะโชคดีมากหากแปลงเกษตรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ หนอง บึง หรือถ้าเป็นไปได้คุณก็ขุดบ่อเป็นที่กักเก็บน้ำในแปลงเกษตรของตัวเอง แบบนี้คุณก็จะสามารถทำเกษตรได้ตลอดปี โดยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง
🍈ข้อที่ 2 ที่ดินหรือแปลงเกษตร จะต้องไม่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม โรงเก็บสารเคมีหรือเคยเป็นที่ทิ้งขยะมาก่อน เป็นต้น
🍉ข้อที่ 3 การจัดเก็บวัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องแยกออกจากที่พักอาศัย จัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ ติดป้ายกำกับให้ชัดเจน เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้วัตถุอันตรายนั้นๆ รวมทั้งต้องสวมเสื้อผ้าปกปิดมิดชิด มีหน้ากาก ใส่ถุงมือหมวกรองเท้าเพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
🍊ข้อที่ 4 การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว เช่น ปฏิบัติตามข้อที่กำหนดไว้ในแผนควบคุมการผลิตในการดูแลรักษาพืชผักผลไม้แต่ละชนิด ตรวจสภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรก่อนการใช้งาน รวมทั้งทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ในการบรรจุและขนส่งผักผลไม้
🍋ข้อที่ 5 การเก็บเกี่ยวต้องใช้เครื่องมือหรือวิธีการเฉพาะในการเก็บเกี่ยวพืชผลแต่ละชนิดไม่ให้เป็นรอยตำหนิหรือช้ำ คัดแยกผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพออกจากผลผลิตที่มีคุณภาพ
🍌ข้อที่ 6 เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้องนำไปพักวางบนวัสดุปูรองพื้นที่สะอาด ไม่มีสัตว์เลี้ยง หนู แมลงสาบรวมทั้งภาชนะที่ทำการขนย้ายก็ต้องสะอาดด้วยเช่นกัน
🍍ข้อที่ 7 สุขลักษณะส่วนบุคคล ต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคน่ารังเกียจ ไม่บ้วนน้ำลาย น้ำหมาก สูบบุหรี่ในบริเวณที่ทำการบรรจุผลผลิต
🍎ข้อที่ 8 ข้อสุดท้าย จดบันทึกข้อมูลขั้นตอนการปลูก การดูแลรักษา การใช้สารเคมี วันเพาะปลูกวันเก็บเกี่ยวเป็นต้น
ไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ เกษตรกรชาติอื่นทำได้ เกษตรกรไทยก็ทำได้ค่ะ ... เกษตรกรไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
#นำเข้าส่งออก #เกษตรแปลงใหญ่ #ผลไม้แปรรูป #เกษตรกร #แหล่งน้ำ #ผักผลไม้ #ธกส #บสย #สินค้าส่งออก #DITP #CLMV #EXIMBANK #YSF #Smartfarmer
โฆษณา