5 ต.ค. 2020 เวลา 16:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
NASA เปิดเผยภาพ Time-lapse ฉากสุดท้ายอันเจิดจรัสของดวงดารา ณ กาแล็คซี่อันไกลโพ้น
ฉากสุดท้ายอันเจิดจรัส
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ กาแล็กซี่อันไกลโพ้น . . .
ภาพที่เห็นอยู่นี้คือฉากวาระสุดท้ายของดวงดาวจากการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาในกาแล็คซี่ NGC 2525 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไปกว่า 70 ล้านปีแสง
โดยปรากฎการณ์การระเบิดนี้ถูกตรวจจับได้เมื่อเดือนมกราคมปี 2018 และกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลก็สามารถจับภาพการลุกจ้านี้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 และก็ได้ตามเก็บภาพเหตุการณ์ยาวมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019
จนมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา NASA ก็ได้เผยแพร่ภาพ Time-lapse ของปรากฎการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งจะเห็นได้ถึงการหรี่แสงลงอย่างรวดเร็วในช่วงกลางปี 2018
ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่อาจจับภาพเหตุการณ์ได้ทันตั้งแต่เริ่มการระเบิด ซึ่งคาดว่าช่วงการลุกจ้ามากที่สุดนั้นน่าจะมีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 5 พันล้านเท่า
แต่แม้จะไม่ทันก็ยังจะเห็นได้ถึงความสว่างจ้าในแว่บแรกที่กล้องฮับเบิลส่องไปเห็นปรากฎการณ์นี้ ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่ามันสว่างจ้าขนาดไหน
ถ้าในช่วงชีวิตนี้เราได้มีโอกาสเห็นเหตุการณ์การระเบิดของซูเปอร์โนวาในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มันคงเป็นปรากฎการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง กับท้องฟ้ายามคำคืนที่สว่างเหมือนกลางวันอยู่เป็นเดือน ๆ
ปรากฎการณ์ซูเปอร์โนวา SN 2018gv นี้จัดเป็นการระเบิดประเภท Ia (One-a) ซึ่งนักดาราศาสตร์ใช้ศึกษาและติดตามเพื่อยืนยันและคำนวนอัตราการขยายตัวของเอกภพที่เราอาศัยอยู่
โดยซูเปอร์โนวาประเภท la นี้เกิดจากระบบดาวคู่ที่ดาวแคระขาวดูดกลืนมวลจากดาวคู่หูของมันจนมีมวลมากถึงจุดวิกฤต (1.4 เท่าของดวงอาทิตย์) ก็จะเกิดการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา
ซูเปอร์โนวาประเภทนี้เราจะสามารถประมาณความสว่างสูงสุดจากการระเบิดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์และประเมินระยะห่างของจุดเกิดเหตุการณ์ได้
ซึ่งข้อมูลนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการวัดความสว่างของกาแล็คซี่ที่อยู่ห่างไกล ประเมินปริมาณสสารมืดที่มีอยู่ระหว่างทางจนมาถึงเรา และใช้ประเมินอัตราการขยายตัวของเอกภพ
ไว้เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังว่านักดาราศาสตร์เขาวัดอัตราการขยายตัวของเอกภพกันยังไง
กว่า 30 ปีที่กล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลได้เฝ้ามองการระเบิดของซูเปอร์โนวาประเภท la นี้และช่วยให้ข้อมูลแก่นักดาราศาสตร์เพื่อประเมินอัตราการขยายตัวของเอกภาพ (Hubble constant หรือ Ho) ซึ่งปัจจุบันมีค่าความคลาดเคลื่อนประมาณ 2.3%
และเมื่อกล้องโทรทัศน์อวกาศเจมส์เวบป์ถูกส่งขึ้นประจำการ ด้วยความสามารถในการมองย้อนไปได้ไกลกว่าและกว้างกว่า เราคงมีข้อมูลเกี่ยวกับเอกภพของเราที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนเราสามารถรู้อัตราการขยายตัวของเอกภพได้อย่างแม่นยำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา