11 ต.ค. 2020 เวลา 02:51 • การศึกษา
ดูดาวเดือนตุลาคม
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ (2563) แจ้งว่าในเดือนตุลาคมเป็นช่วงที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารมากที่สุด เนื่องจากในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ที่ระยะทางประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร (ช่วงปกติห่างจากโลกเฉลี่ย 78 ล้านกิโลเมตร) แต่ช่วงนี้พายุเข้า ฝนตกทุกวัน ฟ้าจึงไม่ใสอย่างที่คิด อากาศแบบนี้ชวนอ่านหนังสือกันค่ะ...
เรื่องการดูดาวในประเทศไทย มีการบันทึกว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสและนิกายเยซิอิตคนอื่น ๆ ที่มีความสนใจทางดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีเอกสารมากมาย ในครั้งนี้ขอแนะนำบทความภาษาอังกฤษที่กล่าวถึงหลักฐานและความเป็นมาของการดูดาวและการสร้างหอดูดาวที่ลพบุรี ที่ทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงและพัฒนาการทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วหนังสือเรื่อง "เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์" ที่แปลจากเรื่อง Ombre Siamoise ของ Morgan Sportès โดย อาจารย์กรรณิกา จรรย์แสง ยังมีรูปภาพที่คณะบาทหลวงนักดาราศาสตร์เยซิอิตตั้งกล้องส่องดูดาวถวายสมเด็จพระนารายณ์ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งภาพพิมพ์ฝีมือบาทหลวงเยซิอิต คริสต์ศตวรรษที่ 17 (หน้า 151) ภาพหอดูดาวที่วัดสันเปาโล ลพบุรี (หน้า 152) และภาพสมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่เมืองลพบุรี พร้อมด้วยบาทหลวงเยซิอิตเฝ้าถวายคำบรรยาย (หน้า 153)
ส่วนหนังสือที่เกี่ยวกับ “ดาว” แบบภูมิปัญญาไทย ขอแนะนำผลงานของ “นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว” จำนวน 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกที่จะแนะนำคือ “ตำราดาว : การศึกษาเชิงวิเคราะห์” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนในสาขาจารึกภาษาไทย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณค่าของคัมภีร์ตำราด่าว โดยการปริวรรตและศึกษาลักษณะของตัวอักษร อักขรวิธี ของอักษรไท อักษรขอมอักษรเชฺรียงที่ปรากฏในคัมภีร์ ทั้งยังศึกษาเกี่ยวกับตำนานและลักษณะดาวประจำฤกษ์ทั้ง 27 ฤกษ์ เปรียบเทียบกับดาราศาสตร์สากล พร้อมกับให้คำอธิบายความหมายของคำศัพท์โหราศาสตร์ทั้งหมดที่อยู่ในเนื้อหาของคัมภีร์ มีการวิเคราะห์ตรวจสอบสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และคติความเชื่อของสังคมไทยในอดีต ผลการศึกษาพบว่าคัมภีร์ตำราดาวเขียนขึ้นด้วยตัวอักษรและอักขรวิธีของอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ และกลุ่มดาวทั้ง 27 ฤกษ์ เมื่อเปรียบเทียบกับดวงดาวบนท้องฟ้าตามตำราดาราศาสตร์สากลแล้ว มีลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน มีเค้าว่าภาพวาดกลุ่มดาวเหล่านี้ได้เคยถ่ายทอดมาจากดวงดาวที่ปรากฏจริงบนท้องฟ้า และทางด้านเนื้อหาสาระนั้น บททำนายต่าง ๆ ในคัมภีร์ตำราดาวแสดงให้เห็นคติและสถานภาพของผู้ปกครองไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของระบบการเมืองภายในราชสำนักที่มีอยู่อย่างรุนแรงในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งยังแสดงให้เห็นเรื่องราวของดาวประจำเมืองซึ่งเป็นคติโหราศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองระหว่างรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ และยังบันทึกถึงความสำคัญของ “ข้าว” และ “เกลือ” ที่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และคัมภีร์ตำราดาวยังมีส่วนสำคัญในการบันทึกและสืบต่อบททำนายฝันอันเป็นคติความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในสังคมมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
เรื่องต่อไปคือ “ไทบ้านดูดาว” เป็นเรื่องดาวในภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการออกภาคสนาม ด้วยการเก็บงำคำบอกเล่าและบทสนทนา ชวนอ่านกันค่ะว่า ดาริกาหน้าร้อน กับดาริกาหน้าหนาว ต่างกันมั้ย แล้วดาวของชาวใต้ อีสาน ลาวโซ่ง ชาวเหนือ ชาวนา และชาวเล เหมือนกันหรือไม่ คนเรือ กับ โจร ดูดาวอย่างไร เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ที่อ่านสนุก
ส่วนเล่มที่สามคือเรื่อง “นานาภาษาดาว” เป็นหนังสือรวมบทความของผู้เขียนจำนวน 13 บทความ แถมด้วยหนึ่งบทนำของท่านเขมานันทะ เนื้อหาเป็นการบันทึกเรื่องราวระหว่างทางที่มีดวงดาวนำพาไปสู่แต่ละท้องถิ่นที่บันทึกเรื่องราวของวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อและประวัติศาสตร์ อ่านแล้วทำให้เห็นว่าโลกนี้ช่างยิ่งใหญ่นัก “เห็นดาวซีกโลกใต้แล้วให้แสนประมาณตน ในพื้นที่ต่างไป ความรู้ที่เคยคุ้นจากบ้านเกิดใช้ทำอะไรแทบไม่ได้ เหมือนต้องมาเรียนรู้ใหม่หมด...” (หน้า 348)
.... เราตัวเล็กนิดในโลกใบนี้ และการอ่านหนังสือจะช่วยเราได้จริง ๆ ค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2538). ตำราดาว : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย). มหาวิทยาลัยศิลปากร. นครปฐม.
(เลขเรียกหนังสือ  บค2/03 2538  001)
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2549). ไทบ้านดูดาว (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศยาม.
(เลขเรียกหนังสือ BF1714.ท9 น63 2549)
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2562). นานาภาษาดาว.  กรุงเทพฯ: เดือนตุลา.
(เลขเรียกหนังสือ QB801 น63)
สปอร์แต, มอร์กาน (2554). เงาสยาม : ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์ [Ombre Siamoise] (กรรณิกา จรรย์แสง, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน. (1994).
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ. (2563). เกร็ดความรู้สำหรับ “กูรูถ่ายภาพดาวอังคาร. สืบค้น 18 กันยายน  2563, จาก https://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/1287-mars-photography- professionals
Lars Gislén, et. al. (2018). Cassini’s 1679 Map of the Moon and French Jesuit Observations of  the Lunar Eclipse of 11 December 1685. Journal of Astronomical History and Heritage, 21 (2 & 3), Retrieved 6 October 2020, From http://old.narit.or.th/en/files/2018JAHHvol21/2018JAHH...21..211G.pdf
Wayne Orchiston, Darunee Lingling Orchiston, Martin George and Boonrucksar Soonthornthum.  (2016). Exploring the first scientific observations of lunar eclipses made in Siam. Journal of Astronomical History and Heritage, 19 (1), Retrieved 6 October 2020, From http://old.narit.or.th/en/files/2016JAHHvol19/2016JAHH...19...25O.pdf
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ "พี่พร้อม" ได้ที่
facebook fanpage : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
Tel : 081-3272881
Instagram : suslibrary
Twitter : suslibrary
Tiktok : snc_lib
โฆษณา