7 ต.ค. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ผมได้รับอีเมล์มาสอบถามอีกประเด็นหนึ่งครับ เกี่ยวกับ"พระยาวิไชเยนทร์" หรือ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" กับคำถามที่ว่าเจ้าพระยาฝรั่งผู้นี้ กล้าคิดยึดครองราชบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจริงหรือ? หรือจะเป็นแค่เพียงเกมส์การเมืองจากฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศส
ผมอ่านเนื้อหาและคำถามของคุณพี่ท่านหนึ่งที่กรุณาถามมาในอีเมล์ คุณพี่อธิบายว่า พงศาวดารทางฝั่งไทยนั้นมีความน่าเชื่อถือน้อยเกินไปเกี่ยวกับประเด็นนี้ วันนี้ผมจะขอเล่าให้ฟังครับ...
เอกสารจากทางฝั่งฝรั่งเศสของผมเอง ที่ประมูลกลับมาจากฝรั่งเศส
อันที่จริงแล้วหลักฐานเกี่ยวกับฟอลคอนส่วนใหญ่ ข้อมูลทั่วไปที่หาอ่านได้ มักจะมาจากทางฝั่งอยุธยาเป็นหลักครับ จนทำให้ดูเหมือนว่าฟอลคอนผู้นี้ถูกรุมใส่ร้าย ถูกตราหน้าว่าขายแผ่นดิน บ้างก็ว่าเป็นผู้ปลิ้นปล้อน ทะเยอทะยานและเห็นแก่ผลประโยชน์
ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ตามหลัก ก็ควรจะมองไปที่เกมส์การเมือง มองเหรียญสองด้าน วิเคราะห์ฟอลคอนจากบันทึกของชาวต่างชาติด้วย ไม่ใช่แค่อ้างอิงแต่บันทึกฝั่งไทย จนเป็นการอคติ
นี่คงเป็นสาเหตุทำให้เกิดข้อสงสัยกับประเด็นดังกล่าว จึงมีการส่งอีเมล์มาสอบถามผมครับ
ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นคำถามที่ดีมาก หากเราสงสัยก็ต้องหาคำตอบกันครับ อย่าเชื่ออะไรทั้งหมดจนกว่าจะได้พิสูจน์
ภาพการค้าสำเภายุคอยุธยา
หลักฐานเรื่องราวของฟอลคอนถูกบันทึกจากชาวต่างชาติก็มีหลายชิ้นครับ ทั้งบันทึกจากพ่อค้า บาทหลวง หรือแม้กระทั่งผู้ช่วยของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (คณะฑูตฝรั่งเศส) ก็ได้บันทึกเกี่ยวกับฟอลคอนไว้ค่อนข้างชัดเจน
และแน่นอนครับหลักฐานทางฝรั่งเศส ผู้ได้รับประโยชน์จากฟอลคอนให้นำ้หนักพระเพทราชาไปในทางผู้ร้าย แต่หลักฐานของชาติอื่นกลับเป็นอีกอย่างครับ
2
หลักฐานชิ้นหนึ่งจากฝั่งอังกฤษสันนิฐานกันว่าคือ ยอร์ช ไวท์ พ่อค้าชาวอังกฤษที่ ผู้เป็นอดีตนายจ้างเก่าของ คอนสแตนติน ฟอลคอน และเป็นผู้นำฟอลคอนมาอยู่กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า
“...อันประวัติของวิชเยนทรมีปรากฏหลายความ ถ้าพวกบาทหลวงแต่งมักจะสรรเสริญว่าวิชเยนทร์เป็นคนซื่อตรงฉลาดเฉลียว ถ้าพวกพ่อค้านายทหารแต่ง มักจะติเตียนว่าเป็นคนโกงปอกปลิ้น แต่สังเกตดูเข้าใจว่าจะกล่าวเกินไปด้วยกัน จะเชื่อฟังว่าจริงแท้ทีเดียวไม่ได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย...”
หลักฐานชิ้นนี้จะพยายามสื่อให้เห็นว่าบรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสมักจะยกยอฟอลคอน แต่ในมุมของพ่อค้าชาติอื่นที่เสียผลประโยชน์ และนายทหารต่างชาติมักจะไม่ชอบพฤติกรรมของฟอลคอน
จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ในอดีตนั้นมีอิทธิพลต่อการจดบันทึกหลักฐานจริง แม้กระทั่งชาวต่างชาติก็เป็นครับ
ทีนี้เรามาดูกันต่อครับ ว่าชาติอื่นที่เข้ามา ซึ่งไม่มีปัจจัยการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไรบ้าง
การค้าทางสำเภาสมัยอยุธยา
จากหลักฐานชิ้นหนึ่งจากฝั่งญี่ปุ่น ปรากฎในบันทึกโทเซน ฟูเซตสึ งะกิ (Tôsen fusetsu-gaki) ซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของพ่อค้าจีนและดัตช์ที่เมืองนางาซากิ แปลโดยอาจารย์โยเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii)ครับ
บันทึกนี้เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงยึดราชบัลลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เกิดขึ้น เหล่าพ่อค้าได้วางแผนจะรวมกลุ่มกันเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ตรงกับคำให้การจากฝั่งพระเพทราชาครับ มีเนื้อความระบุว่า
"ที่สยามไม่มีเรื่องอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ เมื่อ 2 ปีก่อนเกิดศึกกลางเมืองขึ้น ซึ่งเรือที่เทียบท่าลำก่อนๆ น่าจะเล่าไว้แล้ว แต่บางคนเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผิดไปโดยเชื่อว่ากษัตริย์องค์นี้ (พระเพทราชา)
ซึ่งทรงเคยเป็นขุนนางระดับสูงผู้มีบารมีของรัชกาลก่อน ได้ชิงราชบัลลังก์มา ตอนที่กษัตริย์องค์ก่อนทรงพระประชวร ภายหลังจากกำจัดขุนนางชั้นสูงผู้ทุรยศชาวอังกฤษ (ฟอลคอน) แล้วสังหารเสีย แต่ในความจริงคือกษัตริย์องค์ก่อนทรงไม่มีรัชทายาท แม้จะทรงมีพระโอรสหนึ่งองค์และพระธิดาหนึ่งองค์ แต่พระโอรสประชวรหนักไม่อาจปกครองบ้านเมืองได้
1
เมื่อพระพลานามัยของกษัตริย์องค์ก่อนทรุดหนักลง ทรงเรียกขุนนางชั้นสูงผู้นั้นมาแล้วสั่งให้เษกสมรสกับพระธิดาของพระองค์แล้วครองบัลลังก์ เรื่องนี้เขาได้รับคำสั่งตอนที่กษัตริย์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ขุนนางชั้นสูงผู้นั้น (พระเพทราชา) จึงรับพระกรุณาธิคุณด้วยความยินดี และตรองหาวิธีที่จะกำจัดขุนนางอังกฤษ(ในบันทึกนี้กล่าวคลาดเคลื่อนว่าฟอลคอนเป็นขุนนางอังกฤษ)
วันหนึ่งเขาจึงอ้างคำสั่งกษัตริย์ให้ขุนนางอังกฤษเข้าวัง แล้วฆ่าเสีย นี่คือเหตุผลว่าทำไมพสกนิกรและเมืองประเทศราชทั้งปวงจึงยอมอ่อนน้อมต่อกษัตริย์องค์ใหม่ โดยมิคิดต่อกระด้างกระเดื่อง"
หากหลักฐานชิ้นนี้หากมีน้ำหนักไม่พอ ด้วยเหตุสันนิษฐานที่ว่าอาจจะมาจากคำให้การของเหล่าบรรดาพ่อค้าที่เสียผลประโยชน์ จึงอาจบิดเบือนความเป็นจริงบางประการไปได้
คณะทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ และ บาทหลวงตาชารด์ผู้ช่วย
งั้นเรามาดูบันทึกทางฝั่งฝรั่งเศส ฝั่งที่ได้ผลประโยชน์กันเลยครับ ว่ามีบันทึกถึงฟอลคอนเชิงลึกว่าเป็นอย่างไร
หลักฐานชิ้นนี้บันทึกจากมองสิเออร์ เวเรต์ ผู้จัดการบริษัทอีสต์เอเชียของฝรั่งเศสประจำเมืองสยาม เวเรต์ถูกส่งมาประจำสยามพร้อมกับคณะทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ในปี พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685) และใช้ชีวิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งฟอลคอนถูกประชีวิต ระบุว่า
"ข้าพเจ้าต้องทำธุระกับคนผู้หนึ่ง(ฟอลคอน) ซึ่งเอาการของตนเป็นใหญ่กว่าของบริษัท และเมื่อจะพูดถึงการงานกันแล้ว พอข้าพเจ้าขอร้องหรือแนะนำขึ้นอย่างใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เรา ท่านผู้นั้นก็ร้องขึ้นดุจถูกตัดแขนหรือตัดขาทีเดียว....
...ข้าพเจ้าได้รับความลำบากมาก เพราะคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนโมโหร้าย และจะพูดจาด้วยก็ยาก ข้าพเจ้าต้องใช้วาจาอย่างอ่อนหวาน และใช้คำปลอบโยน จึงจะดับโมโหของฟอลคอนได้”
รวมทั้งยังมีรายงานเกี่ยวกับการค้าของเวเรต์ที่ส่งถึงเจ้านายบริษัทอิสต์อินเดียของฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ระบุว่า
“คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งเป็นผู้ปกครองอุดหนุนบริษัท(ในกรุงศรีอยุธยา) ทำทีเหมือนจะอุดหนุนหาประโยชน์ให้แก่บริษัท แต่ความจริงตัวของตัวเองกลับได้รับประโยชน์มากกว่าเราหลายเท่า (ซึ่ง) ข้าพเจ้าก็ตกลงยอมให้เขาเถือเนื้อ ถึงพวกอังกฤษเองก็ต้องยอมเหมือนกัน เพราะถ้าไม่ยอมแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องทำการค้าขายเลยจนอัฐเดียว...
.....ทั้งข้าพเจ้าก็จะต้องแตกร้าวกับฟอลคอนด้วย ข้าพเจ้าจึงต้องทำเป็นไม่รู้เท่า เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเวลานี้เป็นการจำเป็นที่บริษัทจะต้องยกย่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปก่อน และโดยที่ข้าพเจ้าปล่อยให้ฟอลคอนได้ทำอะไรตามความชอบใจทุกอย่าง ฟอลคอนจึงได้สนิทสนมกับข้าพเจ้า”
เวเรต์ยืนยันว่า
“ทุกวันนี้คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นคนที่พระเจ้าแผ่นดิน (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โปรดปรานมากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นหากมีความประสงค์ทำการค้าขาย หรือทำการอย่าหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องเอาคอนสแตนติน ฟอลคอนไว้เป็นพวกเดียวกัน จึงจะได้”
หลักฐานนี้เป็นหลักฐานที่ใช้ยืนยันนิสัยใจคอและเบื้องลึกของฟอลคอนจากฝั่งฝรั่งเศส ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากฟอลคอนโดยตรงเป็นผู้บันทึกเสียเอง
และยังมีบันทึกจากบาทหลวงฝรั่งเศสผู้ติดตามคณะทูตฝรั่งเศสมาด้วยอีกผู้หนึ่งคือ บาทหลวงตาชารด์แม้จะยินดีและชอบพลอกับฟอลคอน แต่ก็ยังได้เปิดเผยว่า
"เดอ ลาลูแบร์ กับบุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสมีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน ในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจ โดยเห็นว่าฟอลคอนกระทำการเพื่อประโยชน์ของตนเอง มิใช่เพื่อการสนองผลประโยชน์ของฝรั่งเศส"
ลาลูแบร์
บันทึกหลายๆชิ้นหากวิเคราะห์ต่อไปแล้ว อาจจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะฟันธงเจตนาเบื้องลึกของฟอลคอนได้อย่างชัดเจนมากนัก จนผมได้พบกับเอกสารชิ้นนี้ด้วยการประมูลมาจากทางฝรั่งเศสครับ
Le Magasin Pittoresque
Le Magasin Pittoresque เอกสารชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นครับ ช่วง ค.ศ.1840 หรือ พ.ศ.2383 ในช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นข้อมูลที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการทูตระหว่างฝรั่งเศสกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชช่วง ค.ศ.1684 ครับ
เอกสารนี้ได้เขียนถึงฟอลคอน คือ
"ขุนนางชาวกรีกผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากเพราะเจ้าแผ่นดินสยาม ได้เริ่มต้นปฎิบัติภารกิจลับภายใต้การสนับสนุนจากกษัตริย์ฝรั่งเศส"
ซึ่งกล่าวถึงฟอลคอนไว้อย่างชัดเจน เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ฟอลคอนนั้นได้คิดไม่ดีต่อราชบัลลังก์นั้นเป็นความจริง
แม้แหล่งข้อมูลนี้จะเกิดขึ้นภายหลังในยุคต้นรัตนโกสินทร์(ร.3)ซึ่งห่างจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มากว่า 150 ปี แต่ก็เป็นข้อยืนยันที่อ้างอิงได้จากฝั่งฝรั่งเศสที่สรุปสั้นๆ แต่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นของฟอลคอนว่าที่จริงคิดอย่างไรกันแน่ครับ
สุดท้ายนี้ผมดีใจมากครับ ที่มีผู้ให้ความสนใจประวัติศาสตร์เชิงลึกขนาดนี้ ถึงกับเขียนมาถามไถ่กัน
อีกอย่างคือผมดีใจนะครับ ที่มีผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และพยายามตั้งคำถาม ไม่ได้เชื่อแบบหลับหูหลับตา โดยไร้หลักฐานหรือการวิเคราะห์จากหลายๆแหล่งมาประกอบร่วมกัน
ขออีกนิดครับสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ประเทศไทยหรือบันทึกจากชาวฝั่งตะวันตก ผมแนะนำให้เดินทางไป "หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ"
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ
สถานที่ที่บันทึกเอกสารชั้นต้นซึ่งเขียนด้วยลายมือของบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสผู้เคยทำงานอยู่ในกรุงสยามในอดีต เป็นภาษาไทย ภาษาวัด (ภาษาที่ใช้อักษรโรมันในการบันทึกภาษาไทย) ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่นๆ ซึ่งบางส่วนอายุเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา
เป็นสถานที่หนึ่งในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสยามได้อย่างดีอีกแห่งครับ
🙏ขอบพระคุณมากๆครับ🙏
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
อ้างอิง:
- Le Magasin Pittoresque (Livraison Number005) : Ambassade de France a la cour du roi Siam (1685)
- ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 36 ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2558 หน้า 112-123 หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
- Yoneo Ishii, editor (2000) The Junk Trade from Southeast Asia: Translations from the Tosen Fusetsu-gaki, 1674-1723. ISEAS.
- Bhawan Ruangsilp. (2007) Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya, Ca. 1604-1765. Brill Academic.
- Abbé de Choisy. (1983) Mémoires pour servir à l'histoire de Louis XIV. Editions du Mercure de France.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา